13 กุมภาพันธ์ 2561

โรคขาดวิตามิน B1 หรือ beri ber

โรคขาดวิตามิน B1 หรือ beri beri คือการขาดวิตามินบีหนึ่งเองเลย หรือขาดวิตามินบีหนึ่งชนิดที่ออกฤทธิ์ thiamine pyrophosphate วิตามินตัวนี้ร่างกายสร้างเองไม่ได้และมีสะสมไว้ไม่มาก จึงมีโอกาสขาดวิตามินได้หากกินไม่เพียงพอ วิตามินจะถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็กส่วนกลางที่ชื่อว่า เจจูนัม หากใครมีความผิดปกติจุดนี้หรือถูกตัดออกไปก็จะขาดวิตามินได้เช่นกัน
วิตามินบีหนึ่ง พบมากในธัญพืชที่ไม่ขัดสี นมและผลิตภัณฑ์จากนม ผักสด โดยทั่วไปโอกาสขาดไม่มากนักนะครับ หากขาดก็จะเกิดอาการหลักๆสองอย่าง อย่างแรกคือ อาการทางระบบประสาทเรียกว่า Wernicke encephalopathy และ Korsakoff syndrome เอาเถอะนั่นให้พวกหมอๆเขาจำไปสอบ สำหรับเราๆคือ จะมีอาการชา เส้นประสาททำงานบกพร่องไม่ว่าชาหรืออ่อนแรง ความจำไม่ดี สับสน ส่วนระบบหัวใจและหลอดเลือดก็จะเกิดหัวใจวายได้
อยากทราบว่าขาดก็ต้องวัดระดับวิตามินบีหนึ่งในเลือด หรือตรวจวัดระดับเอนไซม์ทรานส์คีโตเลสในเม็ดเลือดแดงก่อนและหลังให้วิตามินบีหนึ่ง (erythrocyte transketolase activity) แต่ก็นั่นแหละนะให้หมอเขาจำไปสอบ สำหรับเราก็กินให้พอและหลีกเลี่ยงภาวะอีกหนึ่งอย่างที่จะทำให้เกิดการขาดวิตามินบีหนึ่ง คือ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กินให้พอนี่ปรกติร่างกายต้องการเฉลี่ยในทุกกลุ่มอายุคือวันละหนึ่งมิลลิกรัมเท่านั้น หากกินอาหารครบถ้วนห้าหมู่รับรองไม่ขาดแน่
แต่ประวัติศาสตร์การค้นพบการขาดวิตามินนี้ ก็เกิดจากการกินไม่พอจริงๆเสียด้วย พร้อมหรือยัง นั่งฟังกันเลย
beri beri คำนี้มีต้นกำเนิดจากชวา บรรยายลักษณะการเดินเหมือนแกะคือยกขาขึ้นสูงและกระทืบลงพื้นแรงๆ ก็เพราะการรับสัมผัสตำแหน่งของคนนั้นผิดเพื้ยนจากโรคจึงต้องกระแทกแรงขึ้น ในภาษาอินโด-ชวา ที่ชื่อว่าภาษาสิงหลนั้น beriberi คือ weak-weak หรืออ่อนแรงนั้นเอง
แต่ต้นกำเนิดไม่ได้มาจากชวา..มาจากญี่ปุ่นต่างหาก...
ทาคากิ คาเนะฮิโระ แพทย์หนุ่มนักเรียนนอกประจำกองทัพเรือราชนาวีญี่ปุ่น ปี 1884 จบการศึกษาจากอังกฤษ เขาทำงานอยู่ในกองทัพเรืออันเกรียงไกรของอังกฤษในยุคล่าอาณานิคมอยู่พักหนึ่ง ด้วยความที่เขาเกิดที่ญี่ปุ่นดินแดนตะวันออกไกล เขาสังเกตอย่างหนึ่ง
ทำไมทหารในกองทัพฝั่งยุโรป ไม่ค่อยมีอาการ beriberi ต่างจากกองทัพของญี่ปุ่นมากมาย
อย่าเพิ่งแปลกใจว่าทำไม คาเนะฮิโระถึงรู้จักอาการ ชาและขาอ่อนแรงนี้ เพราะมีเขียนอยู่ในตำราแพทย์จีนมากกว่า 3,000 ปีแล้ว แต่ว่าไม่รู้ว่ามันคืออะไรและเกิดจากอะไร
คาเนะฮิโระ มีความเป็นนักวิทยาศาสตร์ในตัวสูงมาก นอกจากสังเกตว่ากองทัพเรือยุโรปไม่ค่อยเกิดโรค ยังสังเกตว่าในบรรดานายทหารเรือที่จบจากยุโรปและใช้ชีวิตกินอาหารแบบยุโรปก็ไม่เกิดโรคนี้ ในทางตรงข้ามบรรดาทหารที่กินอาหารแบบญี่ปุ่น หรือนายทหารที่กลับมากินอาหารแบบญี่ปุ่น ก็จะเกิดโรคนี้ คาเนะฮิโระไม่คิดเอง เขาทำการศึกษาวิจัยเก็บตัวอย่างแล้ววิเคราะห์เชิงสถิติ !!
สิ่งที่เขาพบคือ...
คนญี่ปุ่นนิยมกินข้าวขาวขัดสี สวยงามหอม แต่ชาวยุโรปจะกินธัญพืชและข้าวไม่ขัดสี แถมพวกที่กินข้าวขัดสีเป็นอาหารหลัก (คือในเรือ อาหารมันน้อยไง บางคนซัดแต่ข้าว) จะพบโรคนี้มากกว่ากลุ่มกินอาหารครบถ้วนถึง สิบเท่า !! เอาล่ะ คุณหมอคาเนะฮิโระ เริ่มสงสัยล่ะ มันน่าจะเกี่ยวข้องกับอาหารนี่แหละ ไม่เหมือนกับที่เคยเชื่อๆกันมาว่าเป็นโรคติดเชื้อ แต่ก็อย่างที่เราเจอในยุคปัจจุบันความเชื่อมีอิทธิพลสูงกว่า
ในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ทหารญี่ปุ่นตายเพราะโรค beriberi มากพอๆกับจากสงคราม ขอเสริมนิดนึง สงครามญี่ปุ่นรัสเซียนี้มีความสำคัญมาก เพราะญี่ปุ่นได้เริ่มขยายแสนยานุภาพเหนือจีนและรัสเซีย จนก้าวขึ้นมามีอำนาจหลังจากสงครามครั้งนี้ รัสเซียและจีนแพ้ญี่ปุ่นนะครับ
แต่การค้นพบของคาเนะฮิโระก็ยังไม่ดัง สู้การค้นพบของ คริสเตียน ไอค์มานน์ แพทย์หนุ่มชาวเนเธอร์แลนด์ที่ถูกทางการส่งมาสืบค้นว่าทำไมดินแดนอาณานิคมแถบนี้และทหารที่มาอยู่จึงเป็น beriberi ได้ ครั้งนี้ไอค์มานน์ทำการศึกษาที่อินโดนีเซียในปี 1897 ได้ค้นพบ "สาเหตุ" เลยนะ เขาทดลองเลี้ยงไก่โดยใช้ข้าวขัดสี สรุปไก่เป็น beriberi (พยายามไปค้นดูแล้วว่ารู้ได้ไงเนี่ยว่าไก่เป็นโรคนี้ ก็ไม่พบนะครับ) และพอใส่ข้าวกล้องไปแทนที่ ปรากฏว่า ...ไก่หาย ใจเย็นๆ ไม่ได้มีใครขโมยไก่ แต่ไก่หายจากโรค คราวนี้ไอค์มานน์สรุปว่าสารที่อยู่ในข้าวไม่ขัดสีนี่แหละคือ สารต้าน beriberi
ตอนนั้น เนเธอร์แลนด์ยังครอบครองดินแดนมลายู ซึ่งรบกับอังกฤษหลายครั้งในการชิงดินแดนแห่งต้นไม้ทองคำ คือ เครื่องเทศ นั่นเอง อาณาเขตตั้งแต่อินโดนีเซีย หมู่เกาะทะเลแปซิฟิก เรื่อยไปถึง ออสเตรเลีย สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แนวเขตป้องกันนี้คือหนึ่งในแนวป้องกัน ABCD (america-british-china-และ DUTCH นี่เองครับ)
แต่เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าพอที่จะรู้ว่า สารต้านเบอริเบอรี่ คืออะไร จนกระทั่ง...
ปี 1911 Casimir Funk (ต่อไปเราเรียกเขาว่าฟังค์ เป็นภาษาไทยดีกว่านะ ผมกลัวพิมพ์ผิด) นักวิทยาศาสตร์ชาวโปแลนด์ ได้ศึกษาและพบว่าสารต้าน beriberi ที่ค้นพบมาก่อนหน้านี้คือ thiamine ตามชื่อ amine สารประกอบไนโตรเจน และเป็นสารประกอบที่สำคัญในการดำรงชีวิต จึงเรียก thiamine ว่า vitamine (vita คือ จำเป็นต่อชีวิต บวกกับ amine)
ปี 1912 สองนักวิทยาศาสตร์ เฟเดอริก ฮอปส์กิน ซึ่งจับมือกับ คริสเตียน ไอค์มานน์ (ไอค์มานน์ชาวเนเธอร์แลนด์คนเมื่อกี้นั่นแหละ) ศึกษาจนพบว่า วิตามิน เป็นสารที่จำเป็นในการดำรงชีวิต โดยแบบจำลองในหนูที่ขาดวิตามินจะไม่โต แต่ถ้าชดเชย หรือเทียบกับหนูที่ได้รับวิตามิน จะพบความแตกต่างชัดเจน ทำให้สองนักวิทยาศาสตร์นี้ ได้รับรางวัลโนเบลในปี 1929
เป็นที่มาของการเสริมข้าวกล้อง ธัญพืชไม่ขัดสี ในคนที่ขาดวิตามินบีหนึ่ง แต่ในคนปกติกินเนื้อไข่นมผัก อย่างครบถ้วนห้าหมู่ก็เพียงพอครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น