06 มกราคม 2561

การกินแคลเซียมกับวิตามินดีกับความสัมพันธ์การเกิดกระดูกหักในผู้สูงวัย

การกินแคลเซียมกับวิตามินดีกับความสัมพันธ์การเกิดกระดูกหักในผู้สูงวัย การศึกษาแบบ meta analysis ลงในวารสาร JAMA เมื่อก่อนปีใหม่ หัวข้อน่าสนใจมาก ตกลงที่เรากินๆกันนี่มันส่งผลอะไรไหม
การรักษากระดูกพรุน การรักษากระดูกหัก การรักษาการขาดวิตามินและแคลเซียมอันนี้ต้องเสริมแน่นอน แล้วสำหรับผู้สูงวัยที่พักอาศัยอยู่ตามบ้านไม่ได้อยู่ในบ้านพักคนชราหรือเนอร์สซิ่งโฮมทั้งหลาย ที่กินสารอาหารเหล่านี้เสริมนั้นจะมีผลอย่างไร คือก่อนหน้านี้มีการศึกษามาแล้วว่าผู้สูงวัยอยู่ตามบ้านจะกระดูกหักมากกว่าเพราะไม่มีใครดูแลโภชนาการ ขาดการออกกำลังกาย อยู่บ้านนอนเฉยๆ
การศึกษานี้ทำโดยนักวิจัยจากจีน รวบรวมการศึกษาแบบการวิจัยทดลองทางการแพทย์และการศึกษาแบบ meta analysis นับเอาที่มีการเสริมสารอาหารเทียบกับยาหลอก อายุมากกว่า 50 ปีและพักอาศัยอยู่ตามบ้าน และมีการเก็บข้อมูลกระดูกหัก ไม่นับพวกที่ต้องกินยาเพื่อรักษาหรือหักจากสาเหตุอื่นๆ ใครสนใจไปอ่านขั้นตอนการวิจัยก็ถือว่ากลั่นกรองเอาการศึกษาคุณภาพดี มีการกำจัดตัวแปรปรวน มีการจัดวิเคราะห์ย่อยของข้อมูลว่าข้อมูลใหญ่รวมที่เกิดมีแนวโน้มหรือน้ำหนักเกิดจากตัวแปรย่อยข้อใด และมาดูการกระจายตัวของข้อมูลก็ไม่มากนัก (I2 < 50%)มีการคิดชดเชยความแปรปรวนด้วย (random effect model) ใช้ relative risk และ absolute risk difference
เอาล่ะนั่นเป็นเรื่องของคนที่สนใจต้องไปหาอ่านเอาเอง ผมมาสรุปให้ฟัง
การเก็บข้อมูลของคนที่กินแคลเซียมเดี่ยวๆ หรือ วิตามินดีเดี่ยวๆ หรือกินควบ เทียบกับกินยาหลอกหรือไม่กิน ติดตามประมาณ 2-4 ปี แล้วดูว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดกระดูกหักหรือไม่ ทั้งสะโพกหัก สันหลังหัก ส่วนอื่นๆหัก และกระดูกหักโดยรวม
🏴🏴 กลุ่มที่กินแคลเซียมเดี่ยวๆ ไม่ว่าจะขนาดเท่าไรหรือระดับแคลเซียมในตัวเดิมเท่าใด พบว่าการเกิดกระดูกหัก แทบจะไม่ต่างกับไม่ได้กินหรือใช้ยาหลอกเลย
ส่วนมากเป็นแคลเซียมคาร์บอเนตมากที่สุด 🏴🏴
🚩🚩 กลุ่มที่กินวิตามินดีเดี่ยวๆ ทั้งขนาดสูงและขนาดปรกติ ไม่ว่าระดับวิตามินดีเดิมจะเป็นเท่าไร ...แปลกดีที่ระดับวิตามินเดิมของเขาไม่ค่อยต่ำนัก...พบว่าอัตราการเกิดกระดูกหักก็แทบไม่ต่างกันเลย ระหว่างกินวิตามินเสริม ไม่กิน หรือได้ยาหลอก
ส่วนมากที่ได้คือ วิตามินดี 3 ก็คือที่เรากินเสริมกันมากๆนี่แหละ 🚩🚩
🏳️‍🌈🏳️‍🌈 พวกที่กินยาควบ แคลเซียมรวมวิตามิน ไม่ว่าเม็ดแยกหรือเม็ดรวม พบว่าอัตราการเกิดกระดูกหักก็ไม่ต่างกับไม่กินหรือกินยาหลอกอีก แม้มีการศึกษา Woman Health Initiative ที่เป็นการศึกษาใหญ่มาก บอกว่าการให้ยาควบแคลเซียมและวิตามินดีจะมีประโยชน์ลดกระดูกหัก เฉพาะในกลุ่มที่กินฮอร์โมนเพศชดเชยในสตรีเท่านั้น แต่เมื่อตัดกลุ่มที่ไม่กินฮอร์โมน พบว่าอัตราการเกิดกระดูกหักไม่ต่างจากยาหลอกเลย🏳️‍🌈🏳️‍🌈
อัตราการเกิดกระดูกหักที่ว่าไม่ต่างกันนี้ ไม่ว่าหญิงหรือชาย อายุเกินหกสิบหรือต่ำกว่าหกสิบ เคยกระดูกหักมาก่อนหรือไม่ก็ตาม ระดับแคลเซียมและวิตามินดีเดิมในเลือดและที่บริโภคจะเป็นเท่าไรก็ตาม ก็พบว่า ..ไม่ต่างกัน หรือคำพูดที่ถูกกว่าคือ แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ..ถ้าไปดูจริงๆมี absolute risk difference เป็น 0 ด้วย..
แล้วเราจะแปลไปใช้ว่าอะไร
 แปลว่า...สำหรับผู้สูงวัยที่อายุเกิน 50 ปี การรับประทานแคลเซียมหรือวิตามินดี หรือกินทั้งคู่เพื่อเสริมระดับให้สูงขึ้น ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับการลดกระดูดหักที่สะโพกหรือที่อื่นๆแต่อย่างใด แต่ไม่ได้รวมไปถึงคนที่จำเป็นต้องได้ยาเพื่อรักษาโรคกระดูกพรุน หรือป้องกันกระดูกพรุนด้วยสาเหตุอันจำเป็นทางการแพทย์อันหนึ่งอันใด 
ไม่แนะนำให้กินแคลเซียมวิตามินดีทุกรายเพื่อเสริมอาหาร หากไม่มีความจำเป็นครับ
อันนี้คือ meta analysis อันนี้นะ ใครอยากดูความน่าเชื่อถือหรือเทียบกับอันอื่นต้องไปอ่านและวิเคราะห์เอง ที่ลิงก์นี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น