22 มกราคม 2561

พิจารณาการตรวจและฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี

ตกลงจะไปตรวจหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและฉีดวัคซีนดีไหม

   ไวรัสตับอักเสบบีเป็นโรคประจำถิ่นของทวีปเอเชียโดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเทศไทยแล้วถือเป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อตับอักเสบบีถือเป็นวิธีการป้องกันโรคที่ทรงประสิทธิภาพมาก จาก 9.6 ต่อแสนประชากรในปี 1982 เหลือ 1.1 ต่อแสนประชากรในปี 2015 หลังใช้การฉีดวัคซีนแบบปูพรมในสหรัฐอเมริกา
  ประเทศไทยก็ได้มีการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อตับอักเสบบีสำหรับเด็กแรกเกิดฟรีเช่นกัน  แต่ว่าอุบัติการณ์ของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบยังไม่ลดลง เพราะว่าคนที่ยังไม่ได้ฉีด คนที่ยังมีเชื้อยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ได้รับการรักษา ไม่ได้รับคำแนะนำให้ป้องกันการแพร่กระจายโรค #ที่ร้ายที่สุดคือ ...ยังไม่รู้ตัว

   ไวรัสตับอักเสบบีแพร่กระจายทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน ทางแม่สู่ลูก ทางการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันหรือเข็มทิ่มตำทางการแพทย์ เห็นว่าทางติดต่อไม่ง่ายนัก แต่ที่เราเป็นมากๆเพราะไม่ได้ป้องกันและชะล่าใจ
  สมาคมแพทย์โรคตับ ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ CDC และวิทยาลัยอายุรแพทย์อเมริกา ได้ออกคำแนะนำสำหรับการป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีดังนี้

  1. ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ควรได้รับวัคซีนสามเข็ม (ถ้าภูมิคุ้มกันไม่ดีอาจตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีดครบ ถ้าไม่สูงต้องฉีดกระตุ้น anti HBS น้อยกว่า 10 mIU/mL ) ในกลุ่มคนที่เสี่ยงดังนี้

  a. มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน มีเพศสัมพันธ์หลายคู่ กลุ่มเพศสัมพันธ์ระหว่างชาย หรืออาชีพบริการทางเพศ

  b. คนที่เสี่ยงโดนเข็มทิ่มตำหรือเลือดผู้ติดเชื้อ เช่น แพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ติดสารเสพติด  ผู้อยู่ร่วมบ้านเดียวกัน

  c. ผู้ที่เป็นโรคตับเรื้อรังชนิดอื่นๆ

  d. ผู้ติดเชื้อ HIV

  e. ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง โดยเฉพาะที่กำลังจะเข้ารับการรักษาชดเชยแทนไต

  f. หญิงตั้งครรภ์ที่ยังมีโอกาสติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีระหว่างตั้งครรภ์

  g. เดินทางไปในประเทศที่อุบัติการณ์ระบาดสูงเช่น เอเชีย แอฟริกา

  h. คนที่ต้องการฉีดยา

โดยกลุ่มคนในข้อหนึ่งนี้ ควรตรวจหาการติดเชื้อ HBsAg และภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ antiHBs ก่อน หากพบไม่มีภูมิคุ้มกัน ไม่เป็นผู้ติดเชื้อเรื้อรัง ควรฉีดวัคซีน หากถ้ามีภูมิคุ้มกันแล้วแต่ยังเสี่ยงการติดเชื้อ ก็ติดตามต่อไป แม้ว่าภูมิคุ้มกันของไวรัสตับอักเสบบีจะเป็น protective antibody คือลดโอกาสการติดเชื้อตลอดชีวิตได้ แต่ไม่ 100% และถ้ายังเสี่ยงซ้ำๆโอกาสติดก็จะเพิ่มขึ้น

  2. ควรคัดกรองคนที่เสี่ยงเสมอว่ามีการติดเชื้อไวรัสหรือไม่ เป็นแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง มีภูมิหรือยัง และถ้าหากพบการติดเชื้อก็ต้องให้การดูแล  นอกจากคนที่เสี่ยงดังข้อหนึ่ง ก็ยังมีคนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี คนที่จะเข้ารับการรักษาด้วยยากินต้านไวรัสตับอักเสบซี คนที่จะได้รับยาเคมีบำบัดหรือยากดภูมิคุ้มกัน คนที่เกิดในประเทศที่อุบัติการณ์การเกิดโรคสูง..ประเทศไทยนี่แหละ และคนที่ค่าเอนไซม์การทำงานของตับสูงต่อเนื่องโดยไม่มีสาเหตุอื่น
   กลุ่มคนกลุ่มนี้ควรคัดกรองหาโรค หากมีโรคให้เข้าสู่กระบวนการดูแล เพราะผู้ป่วยโรคนี้มีไม่ถึง 20% ที่เข้าเกณฑ์ต้องกินยา แต่การดูแลตัวเองและการป้องกันการติดเชื้อนั้นต้องทำเสมอ และถ้าไม่มีภูมิก็ฉีดยาด้วย

  ก่อนหน้านี้ในวันตับอักเสบโลก เราสนับสนุนให้ทุกคนทราบ "status" ของตัวเองทุกคนว่าตอนนี้ติดเชื้อไหม ต้องรักษาไหม ต้องรับวัคซีนไหม เพื่อจะได้ไม่ไปแพร่กระจายเชื้อในฐานะ "ผู้ไม่รู้ตัว" แนวคิดจะคล้ายๆเอชไอวี คือ การควบคุมโรคที่ทำได้ลำบากเพราะไม่ทราบสเตตัสตัวเอง

  การป้องกันนอกจากฉีดวัคซีนแล้ว การสวมถุงยางอนามัยเวลามีเพศสัมพันธ์ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน การให้ความระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุทางการแพทย์ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ ทั้งคนไข้ คนเสี่ยง ทีมรักษาและประชาชนทุกคน ต้องมีความเข้าใจและป้องกันพร้อมๆกัน อุบัติการณ์โรคจึงจะลดลงได้ นำพาไปสู่การลดโรคและอัตราการเสียชีวิตของโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

ที่มา
Annals of Internal Medicine • Vol. 167 No. 11 • 5 December 2017 795

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น