28 มกราคม 2561

จุดกำเนิด ไอซียู

จุดกำเนิดของไอซียู intensive care unit

  ย้อนอดีตกลับไปในปี 1952 วันนั้นเวลานั้นทั่วโลกตกอยู่ภายใต้ความสะพรึงกลัวของเชื้อไวรัสโปลิโอ ภาวะอ่อนแรงเฉียบพลันทั้งในผู้ใหญ่และเด็กแรกเกิดช่างน่าหวาดหวั่น ไม่มีอะไรชนะการอ่อนแรงกล้ามเนื้อหายใจได้
  จนมีการประดิษฐ์ปอดเหล็ก เครื่องช่วยหายใจแบบแรกที่ปรากฏในโลกเครื่องเท่าแท้งก์น้ำ

  ณ เวลานั้นที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ความน่าสะพรึงกลัวนี้ก็ได้มาถึง แม้ว่าทางประเทศได้จัดเตรียมเครื่องช่วยหายใจไว้เต็มอัตราศึก  จากที่คาดการณ์ผู้ติดเชื้อไม่น้อยกว่า 500 รายต่อสัปดาห์

  ที่โรงพยาบาล beghdam ได้จัดเตรียมความพร้อมไว้เพื่อการระบาดของโปลิโอ เช่นกัน โดยการควบคุมของหัวหน้าทีมเฉพาะกิจ คุณหมอ Bjorn Ibsen วิสัญญีแพทย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องการช่วยหายใจใส่ท่อช่วยหายใจ ได้เตรียมการณ์เอาไว้ และภายในสัปดาห์นั้น เด็กหญิงวัย 12 ปีรายหนึ่งก็ต้องมาใช้เครื่องช่วยหายใจ เจาะคอ แต่ว่าเด็กคนนั้นรอด คุณหมอ Ibsen จึงได้ทราบข้อเท็จจริงว่า

  หากเราดูแลคนไข้ได้เข้มงวดและละเอียดพอ คนไข้น่าจะรอดได้ดี

  แต่สถานการณ์ไม่ง่ายแบบนั้น การระบาดลุกลามรวดเร็วและรุนแรง เครื่องช่วยหายใจถูกใช้จนเต็ม เจ้าหน้าที่ถูกจัดมาเต็มที่แต่เริ่มไม่พอ คุณหมอ Ibsen จึงจัดการดูแลคนไข้แบบ 24/7 คือ ตลอด 24 ชั่วโมงเจ็ดวันต่อสัปดาห์ โดยมีคนดูเครื่อง คนดูแลคนไข้ มากกว่า 2 คนต่อคนไข้หนึ่งราย ต้องใช้เงินมาจ้างนักเรียนแพทย์มาขึ้นเวร รอบเวรละ 1.5 ปอนด์ ใช้นักเรียน 250 คนต่อวัน หมอ 35-40 คนต่อวัน (สมัยนั้นเครื่องไม่ได้มีไมโครโปรเซสเซอร์ควบคุมดีขนาดนี้)
  เรียกว่าใช้การดูแลแบบ intense เลย

  แต่นั่นก็ทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโปลิโอจาก 80% ลดลงเหลือ 40% !! ด้วยการดูแลแบบ intensive

  Dr.Ipsen จึงมีความคิดที่จะตั้งหน่วยงานเฉพาะที่ดูแลคนไข้กลุ่มหนักมากโดยเฉพาะ มีการวนการปฏิบัติงานแบบเต็มอัตราเต็มเวลา ได้ค่าตอบแทนพิเศษ โดยมากก็เป็นการดูแลเรื่องทางเดินหายใจ โดยเฉพาะการใช้เครื่องช่วยหายใจ ICU แห่งแรกก็ถือกำเนิดที่โคเปนเฮเกน ในปี 1953 นั่นเอง

  หลังจากมีไอซียู ข้อมูลแห่งการดูแลคนไข้แบบเข้มข้นได้หลั่งไหลออกมามากมาย ว่าการปรับอะไรจะมีผลอย่างไร มีการทดสอบและทดลองการรักษาแบบ intensive มีการพัฒนาอุปกรณ์และเครื่องมือมารักษาคนไข้กลุ่มนี้แบบก้าวกระโดด ในช่วง 20 ปีหลังจากการก่อตั้งไอซียูมีข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลคนไข้วิกฤตมากมาย
... น่าตื่นเต้นที่ การคิดค้นการวิเคราะห์แก๊สและความเป็นกรดด่างในเลือด ที่พัฒนาในไอซียู พัฒนามาจากการตรวจค่าความเป็นกรดด่างของโรงงานหนึ่งในเดนมาร์ก โรงเบียร์คาร์ลสเบิร์ก...
..การพัฒนาเครื่องช่วยหายใจแบบใช้ไมโครโปรเซสเซอร์ในปี 1971...
..การพัฒนาระบบคะแนน APACHE ในปี 1980..

  ปัจจุบันมีการเรียนการสอน วิชาเวชบำบัดวิกฤตอย่างจริงจัง มีสาขาของวิชาชีพที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับไอซียู เช่น พยาบาลไอซียู นักโภชนาการไอซียู นักกายภาพบำบัด หรือการดูแลผู้ป่วยทางสูติกรรม ศัลยกรรม กุมารเวชกรรม แบบไอซียู
   การใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่นการวัดค่าแรงดันเลือดดำ การวัดค่าความดันหัวใจห้องซ้าย การวัดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้เครื่องช่วยหายใจแบบไม่ต้องใส่ท่อ

  ในอนาคต..การรักษาแบบไอซียูจะเป็นแนวคิด "less is more" คือทำน้อยที่สุด ให้ได้ประโยชน์และข้อมูลมากที่สุด  ลดการรุกล้ำร่างกายคนไข้มากที่สุด และมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากขึ้น

  หมอเก่าๆแบบผม คงจะตกยุคแหงๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น