19 ธันวาคม 2560

การกู้ชีวิตแล้วเกิดผลที่ตามมาคือซี่โครงหัก

เรียกว่าเป็น "ทอล์คออฟเดอะทาวน์" กันมาหลายครั้ง เรื่องการกู้ชีวิตแล้วเกิดผลที่ตามมาคือซี่โครงหัก มันเกิดขึ้นได้ไหม บ่อยมากไหม อันตรายหรือเปล่า แล้วจะรู้อย่างไร (เรื่องเนื้อความ คดีความ ไม่เกี่ยวข้องนะครับ แต่จะหยิบเอาข้อสงสัยที่สงสัยกันมากมาอธิบาย)
การกู้ชีวิต ซีพีอาร์นั้นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้คือการกดหน้าอกนวดหัวใจ ใช้แรงจากน้ำหนักตัวผู้กดรวมศูนย์ลงบนมือแล้วกระแทกลงไป 100 ครั้งต่อนาที ถ้าไม่ใช่คนที่แข็งแรงหรือกระดูกเหล็กอะดาแมนเที่ยม ก็มีโอกาสจะหักได้อยู่แล้ว ทั้งแรงกดที่ทิศทางบิดเบี้ยว แรงกดที่มากๆไป เทคนิคไม่ดี(อย่าลืมว่าต้องสลับกันกด) แต่ละคนกดไม่เท่ากันไม่เหมือนกัน ก็จะมีโอกาสเกิดกระดูกหักจากการกดหน้าอกได้ อันนี้ยังไม่รวมไปถึงรูปร่างของคนที่ได้รับการช่วยเหลือแต่ละคนที่ต่างกัน อวบอ้วนผอมบาง ก็ทำให้แรงกระทำต่างกันด้วย
จะเห็นว่าปัจจัยการเกิดกระดูกหักนั้นมีมากมายและแตกต่างกัน บางคนเกิด บางคนซีพีอาร์เท่าไรก็ไม่เกิด
กระดูกส่วนที่หักมากที่สุดคือ กระดูกซี่โครงนั่นเอง (77%) สามารถหักได้หลายซี่ ตำแหน่งการหักที่พบมากที่สุดคือด้านหน้า ต่อมาคือด้านหลังตรงรอยต่อกับกระดูกสันหลัง ส่วนการหักที่อื่นๆก็พบได้บ้างประปราย กระดูกสันอก(sternum) ที่เป็นแผ่นรับแรงกดตรงๆ(38%) ก็หักได้แต่ว่าพบน้อยกว่ากระดูกที่โครง ส่วนมากจะหักที่ส่วนล่าง (ส่วนล่างจะบางกว่า)
..ข้อมูลมีพิสัยกว้างมากนะครับ อาจแปรปรวนได้มาก...
ถามว่าทำไมถึงรู้ได้ "ว่าหัก" การศึกษาส่วนมากมาจากการตรวจศพผู้เสียชีวิตที่ผ่านการได้รับการกู้ชีพมาแล้ว และส่วนมากเป็นการกู้ชีพนอกโรงพยาบาล ดังนั้นอาจมีปัญหาเรื่องเทคนิคการกดด้วย อีกอย่างข้อมูลในคนที่รอดไม่มากนัก เพราะการตรวจว่ากระดูกหักหรือไม่โดยการเอกซเรย์ปอดไม่มีความไวในการวินิจฉัย (เทียบกับการชันสูตร)
ดังนั้น ข้อมูลของคนที่รอดจึงไม่มากนัก ต้องรอการเก็บข้อมูลต่อไปด้วยวิธีที่ไวขึ้น
และในขณะทำการช่วยชีวิตหากมีกระดูกหัก ก็อาจจะเกิดอวัยวะภายในบาดเจ็บหรือผลแทรกซ้อนได้ พบว่าผลแทรกซ้อนอันนั้นเช่น ลมรั่วในเยื่อหุ้มปอดหรือเลือดออก ไม่ได้ทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ไม่ได้เกิดเลือดออกมากมายแม้แต่คนที่ได้ยาสลายลิ่มเลือดก็ตามที
การศึกษาได้เปรียบเทียบ แนวทางการซีพีอาร์ยุคเก่ากับยุคใหม่ 2005 และ 2010 ที่ยุคใหม่จะกดหน้าอกลึกกว่าเร็วกว่า ก็พบว่ากระดูกหักมากกว่าและบาดเจ็บลมรั่วมากกว่า ประเด็นอื่นคือ การใช้เวลาช่วยชีวิตนานกว่าจะบาดเจ็บมากกว่าและอายุมากกว่าจะบาดเจ็บมากกว่า
*** แต่อัตราการรอด อัตราการตาย ไม่ได้ขึ้นกับประเด็นต่างๆเหล่านี้เลย เรียกว่าถ้าทำแล้วรอดก็คุ้มค่า ผลข้างเคียงมาแก้ไขภายหลังได้ ***
การใช้วิธีและเทคนิคที่ถูกจะลดการบาดเจ็บและกระดูกหักลงได้ การใช้เครื่องมือช่วยกดหน้าอกก็ไม่ได้ลดการบาดเจ็บลงแต่อย่างใด (พบมากกว่าด้วยซ้ำ 96% เทียบกับ 77% สำหรับซี่โครงหัก และ 80% เทียบกับ 38% สำหรับกระดูกสันอก) แต่ทำให้โอกาสรอดมากขึ้นเพราะกดได้ไม่เหนื่อยแรงไม่ตก (การศึกษาจาก LUCAS device ใน poster presentation AHA2014)
ดังนั้น สรุปว่า การช่วยชีวิตที่มีการกดหน้าอกนั้น โอกาสเกิดกระดูกหักมากและหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะช่วยด้วยวิธีที่ดีหรือไม่ การใช้วิธีที่ถูกจะลดการบาดเจ็บลง แต่การบาดเจ็บไม่ได้ส่งผลต่ออัตราการตายโดยรวมแต่อย่างใด การเข้าช่วยชีวิตจึงมีค่ามากกว่าการกังวลเรื่องกระดูกหัก (แต่ไม่หักได้ก็จะดีนะ)
ที่มา
resuscitation 2004 Feb;60(2)
resuscitation 2004 Dec;63(3)
circulation 2014;130:A103 (abstract)
Acute Medicine & Surgery 2016; 3: 351–355

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น