21 ธันวาคม 2560

ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ ผ่าตัดไปแล้วก็ยังต้องติดตามผล

ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ ผ่าตัดไปแล้วก็ยังต้องติดตามผลและเฝ้าระวังนะครับ
วารสาร JAMA ฉบับ 20 ธันวาคม ได้ลงย้ำเตือนการเฝ้าระวังนี้ โดย USMSTF (เดิมทีก็เป็นคำแนะนำมาตรฐานอยู่แล้วนะครับ) เกี่ยวกับคนที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ว่าถึงแม้ผ่าตัดหรือรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือสารชีวภาพไปแล้ว มันก็ยังไม่จบกระบวนการรักษาในส่วนที่เรียกว่า "การเฝ้าระวัง"
ครั้งนี้เป็นความเห็นร่วมของสามสมาคมแพทย์ทางเดินอาหารของอเมริกาและอีกหนึ่งสมาคมแพทย์โรคมะเร็งมาทำความเห็นร่วมกัน (USMSTF)
1. ควรส่องกล้องตรวจติดตามโรคหลังจากผ่าตัดไปแล้ว ภายในหนึ่งปี หรือหากเป็นมะเร็งที่เกิดอาการอุดกั้นด้วยแล้วควรติดตามในหกเดือน จากหลักฐานที่ว่าส่วนมากมักจะกลับมาเป็นซ้ำในสองปีแรก แต่เป็นหลักฐานจากการตัดติ่งเนื้อมากกว่าจากการผ่าตัดออกไปหมด เพราะการศึกษาจากโรคมะเร็งที่ได้รับการตัดแล้ว มีไม่มากพอ
2.ควรใช้การทำ ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ colonoscopy มากที่สุด หากทำไม่ได้หรือมีข้อจำกัดจึงส่งไปถ่ายภาพเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ CT colonoscopy ก็พอทดแทนได้ครับ มี negative predictive value สูงคือถ้าไม่เจอนั้นก็มักจะเป็นผลลบของจริง มีผลลบปลอมน้อยมาก ไม่ได้จริงๆเลยจึงใช้การสวนแป้งทางทวารหนัก barium enema เพราะการทำ colonoscopy สามารถตัดชิ้นเนื้อได้ครับ
จริงๆแล้วข้อมูลการศึกษาแสดงประโยชน์ชัดเจน ในการลดอัตราการเสียชีวิต แต่ว่าส่วนที่เกิดมาใหม่มักจะไม่หายขาดแล้ว
3. หลังจากทำการเฝ้าระวังในปีแรกแล้ว แนะนำทำครั้งที่สองหลังจากทำครั้งแรกไปแล้วสามปี และหลังจากนั้น ให้ทำทุก 5 ปี จนกว่าการทำจะไม่เกิดประโยชน์ เช่น อายุมากเกิน 75 หรือมีโรคร่วมอื่นมากถึงเจออีกก็คงรักษาไม่ไหวแล้ว
** อย่าลืมว่าการทำส่องกล้องทวารหนักก็มีความเสี่ยงนะ **
4. สำหรับมะเร็งลำไส้ส่วนปลายและทวารหนัก โอกาสจะเกิดโรคซ้ำโดยเฉพาะตรงจุดเชื่อมต่อลำไส้มีมาก จึงแนะนำว่าในสามปีแรกให้เฝ้าระวังทุก 3-6 เดือน แต่ใช้วิธี flexible sigmoidoscopy แทน ไม่ต้องส่องกล้องลึกมากแบบ colonoscopy
อีกวิธีที่แนะนำแต่หลักฐานน้อยกว่า คือ การทำอัลตร้าซาวนด์ผ่านกล้อง endoscopic ultrasonograpghy การศึกษายังไม่มากพอที่จะแนะนำอย่างชัดๆ ใช้แค่เป็นทางเลือกได้ (จริงๆก็ต้องสอดกล้องเข้าไปเหมือนกันนะ)
การติดตามโรคมะเร็งหลังการรักษาไม่ว่าเป็นมะเร็งชนิดใดก็มีความสำคัญมากครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น