01 ธันวาคม 2560

วันเอดส์โลก 2017

วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี วันเอดส์โลก องค์กร UNAIDS ประมาณการณ์ว่าสิ้นปี 2016 มีผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี 36.7 ล้านคนทั่วโลก (น้อยกว่าสูบบุหรี่หลายเท่านัก) โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ปีละ 1.8 ล้านคน และเสียชีวิตจากสาเหตุอันเกี่ยวกับโรคเอดส์ 8 แสนคนต่อปี ดูคร่าวๆแบบนี้ หมายความว่า เรายังต้องเจอปัญหาผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แม้ว่าการรักษาจะดีขึ้นมาก แต่ปัญหาที่สำคัญคือ ผู้คนติดเชื้อโดยที่ไม่ทราบ CDC ได้ประมาณว่าผู้คนในโลกแค่ 60% ที่ทราบสถานะการติดเชื้อ HIV ของตัวเอง (ซึ่งอาจเปลี่ยนจากไม่ติดเชื้อเป็นติดเชื้อเมื่อไรก็ได้) แล้วอีก 40% ที่ยังไม่ทราบ เป็นกลุ่มที่อาจแพร่เชื้อได้ (ไม่"ทราบ"นะ ไม่ใช่ "เป็น")
โลกยุคปัจจุบันแม้การรักษาการป้องกันจะดีขึ้น แต่หนทางการติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นด้วย การสื่อสารคมนาคมที่ดีก็อาจทำให้การกระจายโรคมากขึ้น การยอมรับความสัมพันธ์ LGBT ก็ทำให้แนวโน้มการแพร่กระจายเพิ่มขึ้น
แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ติดเชื้อเขาจะไม่ป้องกันนะครับ เขาก็ป้องกันแต่ที่ติดคือเมื่อเขาเห็นว่าปลอดภัย เหมือนกับเวลาท่านข้ามถนนตรงที่ไม่มีทางม้าลาย ท่านก็ต้องมองซ้ายมองขวา แต่ก็ยังมีโอกาสถูกรถชนได้จริงไหม ถึงแม้ป้องกันดีมาก ข้ามทางม้าลายมองซ้ายขวา เห็นว่าปลอดภัย มันก็ยังมีโอกาสถูกรถชนอยู่ดี หนทางเดียวที่ไม่อยากถูกรถชนคือ ไม่ต้องข้ามถนน
และส่วนมากที่เห็นว่าปลอดภัย มันก็คือไม่ปลอดภัยนั่นเอง (ไม่ได้กล่าวถึงการตรวจเลือดก่อนมีเพศสัมพันธ์นะครับ) และอีกอย่างความปลอดภัยวันนี้ มันไม่คงที่นะครับ อนาคตอาจไม่ปลอดภัยก็ได้ ใครจะรู้ ... สรุปว่าที่ติดๆ ส่วนมากไม่ได้ประมาท แต่มักจะเป็นเหตุสุดวิสัย
การรณรงค์ป้องกันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แม้คำแนะนำว่าอย่ามีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรจะเป็นสิ่งที่เราสอนเด็กๆของเรามาตลอด แต่อย่างว่า ท่านจะไม่ข้ามถนนหรือครับ ถึงแม้อายุเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อจะลดลง แต่กลุ่มใหญ่ของคนที่ติดก็เป็นผู้ที่มีเพศสัมพันธ์เมื่อถึงวัยอันควรนั่นเอง (ตกลง "วัยอันควร" มันคือวัยไหน)
เอาล่ะเรามาดูมาตรการ ณ ปัจจุบัน ที่ติดที่หน้าเว็บไซต์ของ CDC ในวันเอดส์โลกปีนี้
1. ให้ความเข้าใจเรื่องเอชไอวีที่ถูกต้อง เพื่อจะได้เข้าสู่กระบวนการการรักษาที่ถูก เชื่อมั่นในกระบวนการรักษา ไม่ถูกมองเป็นบุคคลอันตราย ช่วยทั้งทางกาย ช่วยทางใจ ช่วยทางสังคม เข้าใจเรื่องสถานการณ์และการป้องกัน
2. รักษาให้ถูกต้อง การรักษาเอชไอวีที่ถูกตามแนวทางนั้น สามารถลดอัตราการตาย อัตราการพิการ และคืนคุณภาพชีวิตที่ดีกลับสู่คนไข้ได้อย่างมหัศจรรย์ แต่ต้องเข้าใจ เข้าถึง และเชื่อมั่น ติดตามการรักษาต่อเนื่อง (อันนี้รวมไปถึงทีมการรักษาต้องปรับปรุงความรู้ให้ทันสมัยด้วยนะครับ)
3. แนะนำให้ทุกคนที่อายุ 13-64 ปี (ยังหาที่มาของตัวเลขนี้ไม่เจอเลย) ควรตรวจสอบสถานะเอชไอวีของตัวเองสักครั้ง เพื่อทราบสถานะ หากเป็นก็รีบเข้าสู่การรักษา และหากเป็นกลุ่มเสี่ยงเช่น ชายรักชาย มีคู่นอนมากกว่าหนึ่งคน ฉีดยาเสพติด ควรตรวจทุกปี
4. กลุ่มผู้เสี่ยงที่ต้องให้การดูแลเอาใจใส่มาก คือกลุ่มชายรักชายหรือกลุ่มไบเซ็กชวล ต้องมีการแนะนำการมีเพศสัมพันธ์ที่ถูก การใช้ถุงยางอนามัยที่ถูกวิธีสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ในแต่ละช่องทาง การกินยาเพื่อลดความเสี่ยง โดยบุคลาการทางการแพทย์ สื่อต่างๆ และจากคู่ของตน
สำหรับผู้ให้บริการทางสาธาณสุข ก็มีคำแนะนำเช่นกัน
1. ให้คำปรึกษาและเน้นย้ำความสำคัญการกินยา การปฏิบัติตัว การป้องกันโรค ทุกครั้งที่มาติดตามเพื่อเพิ่มความสำเร็จในการติดตามการรักษาระยะยาว ตรวจจับปัญหาต่างๆและแก้ไข และต้องเข้าใจถึงสภาพโรค สภาพบุคคลและสังคมของคนไข้ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
2. ส่งเสริมให้บุคลากรและแพทย์ทุกคนทุกระดับ เห็นความสำคัญของโรค การป้องกัน เสนอการตรวจคัดกรองและรักษาแต่แรกเริ่มเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค (treatment as prevention) ผู้ป่วยสามารถเข้าปรึกษากับแพทย์ได้ทุกคน และได้รับการส่งต่อที่สะดวกกับคนไข้ (ยุ่งยากเกินไป ก็อาจทำให้ไม่อยากรักษาได้ อย่าลืมว่าเพราะคนคนนั้นยังไม่ป่วยนะ)
น้อง infectious ง่ายนิดเดียว กำลังอธิบายเรื่อง syphilis ในอดีตนั้น to know syphilis is to know medicine แต่ยุคนี้ to know HIV is to know medicine
มาช่วยกัน ลดความเสี่ยง ลดโรค ลดตาย ...get zero ในวันเอดส์โลกวันนี้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น