16 ธันวาคม 2560

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวเรื่อง บุหรี่ ตอนที่ 1

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวเรื่อง บุหรี่ ตอนที่ 1
บุหรี่เป็นมหันตภัยของโลกนี้คงไม่มีใครเถียงใช่ไหม การสูบยาสูบในรูปแบบต่างๆมีมาเป็นพันปีแล้วครับเรียกว่าเข้าซึมอยู่ในวิถีและวัฒนธรรมของมนุษย์มานานมาก สมัยนั้นสิ่งที่ทุกคนทราบคือ สูบยาสูบแล้วสดชื่น เป็นเวลาอีกหลายร้อยปีกว่าจะรู้ว่ามันสดชื่นจากนิโคติน เป็นเวลาอีกหลายร้อยปีกว่าจะรู้ถึงกลไกการทำงานของนิโคติน
กว่าจะรู้ก็สายเสียแล้ว..เมื่อทราบในท้ายสุดไม่กี่ร้อยปีก่อนหน้านี้ ว่ามันคือ สารเสพติด
นิโคตินเป็นสารเสพติดที่ทรงพลังมาก ใครๆเมื่อได้ความสุขจากนิโคตินแล้ว ยากที่จะถอนตัว ความสุขเกิดขึ้นจากนิโคติน พฤติกรรมการสูบจากมือ พฤติกรรมการพ่นควัน มีกลุ่ม มีพรรคพวก มีสังคมผู้สูบ กลุ่มใหญ่ขึ้นๆ จนสุดท้ายการสูบบุหรี่กลายเป็นเรื่องปกติหรือสิ่งที่..ไม่อันตรายไป
กว่าจะรู้ก็สายอีกเช่นกัน ..ควันพิษจากการเผาไหม้ สารก่อมะเร็งต่างๆ สารพัดโรคจากบุหรี่เกิดขึ้นและคร่าชีวิตมนุษย์ไปมากกว่าสงครามโลกทั้งสองครั้ง
การเสพติดและอันตรายจากควัน ทำให้องค์การอนามัยโลกต้องรณรงค์การแก้ไขปัญหาที่สาเหตุ ที่ลดการสูบทั้งสูบนิโคตินและควัน เพื่อลดอันตรายจากทั้งนิโคตินและควัน มันต้องทั้งสองอย่างจึงจะเรียกว่าลดความเสี่ยงที่แท้จริง
และต้องเปลี่ยนความสุขเชิงพฤติกรรม เปลี่ยนค่านิยม และควบคุมด้วยมาตรการเหล็กคือ กฎหมายและบทลงโทษ
เป็นคำพูดที่ง่ายแต่ทำยากมาก เพราะเวลากว่าพันปี บุหรี่ได้ซึมลึกลงไปในพฤติกรรม วิถีชีวิตการติดสารเสพติด โครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ เงินรายได้ อุตสาหกรรม
แต่ด้วยมาตรการที่กล่าวและความรู้ความเข้าใจเรื่องพิษภัยของบุหรี่ที่มีมากขึ้น ชัดเจนขึ้นการรณรงค์ของภาครัฐ เอกชน ทำให้ยุคปัจจุบันคนสูบบุหรี่น้อยลง นักสูบหน้าใหม่น้อยลง แต่ที่น้อยลงนั้นหาได้มีความสำคัญใดๆไม่ เพราะเมื่อมองตัวเลขจริงแล้วยังเป็นตัวเลขมหาศาลอยู่ดี
ในแง่ภาพรวมของประเทศ คงต้องยกให้ผู้มีอำนาจเป็นผู้กำหนดนโยบาย สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือ การกำหนดทิศทางและกฎเกณฑ์มันมีเรื่องที่ต้องคิดทุกเรื่องไม่ใช่แค่สุขภาพของบุคคลเพียงอย่างเดียว
เราจะมาพูดถึงการลดอันตรายจากบุหรี่
วันเวลาที่เปลี่ยนไป ความรู้ที่เราพัฒนาถึงขั้นโครงสร้างของเซล ตัวรับนิโคติน สารที่ออกฤทธิ์ ทำให้การเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่เราเคยแต่พูดว่ามันอันตรายนะ...ตอนนี้เรารู้แล้วว่าอันตรายอย่างไร จากเดิมที่เราเคยบอกว่า เลิกเสียนะ..ตอนนี้เราทราบแล้วว่าจะเลิกอย่างไร
สมัยก่อนจะใช้การคุย ให้กำลังใจ ส่งเสริมทางสังคมและครอบครัว หักดิบ ..ถามว่าได้ผลหรือไม่ก็ต้องตอบว่าได้ผล แต่ไม่มากนัก ไม่สามารถไปทอนความเสียหายจากบุหรี่ได้เลย อัตราการเลิกน้อยมากหากเทียบกับอัตราการเข้าเป็นนักสูบหน้าใหม่ หมายความว่าถ้าเรายังดำเนินงานแบบนี้ต่อไป เราพ่ายแพ้บุหรี่แน่นอน
ถ้าอย่างนั้นกำหนดวันดีเดย์ เผาต้นยาสูบทั้งโลกพร้อมกัน ปิดโรงงานบุหรี่พร้อมกันทั้งโลกเลยดีไหม มันเป็นเรื่องดีที่ทำไม่ได้ครับ อย่าลืมว่าชาวโลกติดนิโคตินมาก่อนที่แนวคิดเลิกติด มาเป็นพันๆปี มันย่อมฝืนกระแสไม่ได้ เลิกคิดนิยายแบบนั้นได้เลย อันนั้นคิดจากมุมมองคนที่ไม่ติดบุหรี่นะครับ ถ้าเราอยากรักษาใครต้องไปนั่งในใจเขาด้วย
วิธีที่จะรักษาตัวเองและคนรอบข้างได้ดีที่สุด คือ สัมมาทิฐิ คือ ความคิดที่ชอบที่จะเลิกครับ หากผู้สูบกายไม่พร้อม ใจไม่พร้อม ด้วยตัวเอง ...อันนี้เลิกยากต่อให้มีวิธีเลิกที่ดี ถ้าไม่อยากเลิก ไม่มีทาง และถ้าพร้อมและมุ่งมั่นจะเลิก ต่อให้ไม่มีวิธีช่วยใดๆ ก็เลิกได้เพียงแต่ คนที่ทำได้มันไม่มากจึงต้องมีวิธีช่วย
ข้อมูลที่ศึกษาและทำมาชัดเจน ตรงกันทุกสถาบัน มีนัยสำคัญทางสถิติ ทรงประสิทธิภาพที่สุด คือ การเข้ารับบริการเลิกบุหรี่ในคลินิกอดบุหรี่ โดยใช้ยาอดบุหรี่และสารชดเชยนิโคติน ทำอย่างเป็นขั้นตอนเหมือนรักษาเบาหวาน โรคหัวใจวาย ไตวาย ขนาดว่าพร้อมมูลครบครัน ประสิทธิภาพสูงสุดก็แค่ 60% ดังนั้นความล้มเหลวเป็นสิ่งที่เรายอมรับได้ และแก้ไขได้
ถึงวันนี้ก็ยังคง งง อยู่เลยว่าทำไมยาอดบุหรี่จึงไม่ได้บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ และการดำเนินการจัดตั้งคลินิกเลิกบุหรี่ช่างน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับ จุดขายบุหรี่ และคนสูบบุหรี่
ในคลินิกเลิกบุหรี่ที่ดี ควรเป็นเหมือนสนามกีฬาที่คนเข้ามาใช้บริการแล้วรู้สึกว่าที่นี่ มีประโยชน์ สบาย ช่วยเหลือ ไม่ใช่เป็นเสมือนศาลยุติธรรมที่พิพากษาว่าการติดบุหรี่คือความผิด ต้องทำตามที่สั่ง เหมือนถูกตราหน้าว่าเลิกไม่ได้คือ คนผิดคนล้มเหลว
ในคลินิกจะมีครบทั้งการรักษาเชิงพฤติกรรม กลุ่มบำบัด จิตวิทยา การใช้ยาและสารชดเชยนิโคติน แพทย์ดูแลเรื่องโรคจากการสูบบุหรี่ การติดตามผลอย่างใกล้ชิด
และน่าจะเชิญชวน ออกสื่อเลย ว่าที่ไหนมี ที่ไหนดี เรื่องดีๆแบบนี้ไม่เห็นต้องปิดเลย จะได้เป็นทางเลือกของผู้สูบ เข้าเลิกใกล้ๆ คิดดูนะถ้าจะเลิกทีต้องนั่งรถ 100 กิโลเมตรไปที่ศูนย์เลิกบุหรี่ ใครจะไป ขนาดโรคร้ายแรงยังขาดนัดกันเป็นว่าเล่น ไม่ต้องพูดถึงการเลิกสารเสพติด
ราคาการรักษา การเลิก การเข้าบริการต้องไม่แพง รัฐต้องสนับสนุนมากกว่านี้ เพราะถ้าเมื่อไรราคารักษา (ไม่ใช่แค่ตัวเงินอย่างเดียว เป็นราคาค่าเสียเวลา ค่าจิตใจ ค่าเสียโอกาส) มันแพงกว่าราคาบุหรี่ก็คงไม่มีใครเข้าเลิกแน่ๆ แม้จะบอกว่าการลงทุนเพื่อสุขภาพตัวเอง มันก็ดูไม่สมเหตุสมผลอยู่ดี
ดีกว่านำเงินจากบุหรี่นำไปรักษาโรคจากบุหรี่ ควรมาป้องกันมากกว่า และตรงนี้ถ้าการดำเนินงานได้ผล สักวันมันจะลดลง
เอาล่ะสมมติว่าได้ผลเต็มที่เลย 60% แล้วคนที่เลิกไม่ได้ล่ะ ทำอย่างไร...ก็ต้องจัดบริการเข้ารับการรักษาอีกนั่นแหละ แต่ต้องไม่ใช่รูปแบบเดิมมันต้องเข้มข้น ลงลึก เข้าใจมากขึ้น เพราะมันไม่ได้ผลมาแล้วการใช้วิธีเดิมแบบเดิม มันก็เลิกไม่ได้หรอก คนที่เลิกไม่ได้ถ้ากลับมาเจอการรักษาแบบเดิมเขาก็ไม่กลับมา คนที่ทำคลินิกต้องมีกึ๋นพอที่จะปรับเปลี่ยน ปรึกษานักจิตวิทยา ให้เวลากับเขา ดึงพลังครอบครัวมาใช้เต็มที่
พลังครอบครัวนี่สำคัญมากนะครับ มากกว่ายาอีก ถ้าครอบครัวเห็นด้วยช่วยกัน โอกาสเลิกจะมากมาย ถ้าครอบครัวทอดทิ้งเห็นว่าเลิกสองทีสามทีก็ยังไปสูบอีก ชีวิตเขา เขาเลือกเอง...ถามจริงๆ จะทอดทิ้งเขาโดยที่ไม่ช่วยหรือ เขาคือผู้ป่วยนะ
ไว้มาต่อตอนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น