09 พฤศจิกายน 2560

เป็นคำถามชั่วนิรันดร์ โรคไตต้องปรับอาหารอย่างไร ตอนที่ 2

ต่อตอนที่สอง
แคลเซียมและวิตามินดี หลายวันก่อนมีหมอเพลงหน้าหนุ่มคนนึง แต่งเพลงฉ่อยเรื่องแคลเซียมและวิตามืนดีมาร้องให้ท่านฟัง จริงๆก็งั้นๆผมยังร้องได้ดีกว่าเสียอีก ทั้งแคลเซียมและวิตามินดี ขอพูดรวมไปเลยนะครับ
คนที่ไตเสื่อม จะขับฟอสเฟตออกน้อยลง เกลือฟอสเฟตในเลือดจะมาก แคลเซียมลดลง ไอ้เจ้าปรากฏการณ์นี้มันก็จะทำให้ร่างกายต้องชดเชยและปรับสมดุล โดยการหลั่งฮอร์โมนพาราเซตามอล...ไม่ใช่ละ อย่าเพลิน เป็นฮอร์โมนพาราไทรอยด์ที่เพิ่มขึ้นและสารที่ชื่อว่า FGF23 (fibroblast growth factor 23) ซึ่งการทำกลับสู่สมดุลนี้จะไปนำแคลเซียมจากกระดูกมาใช้ ทำให้คนไข้โรคไตเกิดกระดูกบางพรุนที่เรียกว่า renal osteodystrophy
และนอกจากกระดูกบางพรุนแล้ว ฟอสเฟตที่มากเกิน และการทำงานของทั้งสองฮอร์โมนสุดท้ายปลายทางก็จะมีทั้งแคลเซียมเกินและฟอสเฟตเกิน โดยที่ควบคุมไม่ได้ ผลลัพธ์ที่ใหญ่กว่าประดูกพรุนและหักคือหลอดเลือดเสีย แคลเซียมและฟอสเฟตไปเกาะ หัวใจห้องล่างซ้ายทำงานบกพร่อง นำพาไปสู่การเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดและหัวใจเช่นเคย
โรคไตที่แยกกันเดินร่วมกันตีจริงๆ ...
ดังนั้นการควบคุมแคลเซียมและฟอสเฟตจึงต้องใส่ใจนั่นเอง เป็นคำตอบว่าทำไมหมอต้องมาจ้ำจี้...จ้ำไช จุดนี้ด้วย
ในโรคไตเรื้อรังระยะสามสี่ห้า ก็กินฟอสเฟตไม่เกิน 800 mg ต่อวัน หากเป็นโรคไตระยะท้ายต้องฟอกเลือด ก็ควรงดอาหารฟอสเฟตสูง ส่วนแคลเซียมนั้นคนปกติต้องการที่ 1000-1300 มิลลิกรัมต่อวัน หากไตเสื่อมก็ลดลงเหลือ 800-1000 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อไม่ให้เกินขนาด มีการติดตามและปรับเป็นระยะๆ ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้ยาเพื่อลดฟอสเฟต เช่นกินแคลเซียมเม็ด ยาที่ไปจับฟอสเฟตในอาหาร
กินต่ำเกินไป ร่างกายก็ทำงานหนักนะครับ กินมากไปก็เกินและเป็นปัญหาอีกแล้ว ส่วนวิตามินดีก็ให้เมื่อขาด (มันก็ต้องวัดระดับสินะ) แต่บ้านเราวัดลำบาก แพง ส่วนมากก็จะให้คู่กับแคลเซียม เพราะไตเป็นแหล่งกระตุ้นให้วิตามินดีทำงาน โดยการเติมหมู่ไฮดรอกซิล (-OH) ให้วิตามินดีกลายเป็น ซูเปอร์วิตามินดี ทำงานได้ดีขึ้นหลายเท่า
เมื่อวิตามินดีหายไป กลไกการควบคุมก็ไม่ได้ดีนักครับ
กินมังสวิรัติไปเลยดีไหม โปรตีนก็ต่ำ โซเดียมก็น้อย โปตัสเซียมก็บริบูรณ์ ลดโปรตีนฟอสเฟตก็ลดลง น่าจะดีนะ ...ผลการศึกษาออกมาในแง่ชลอไตเสื่อมก็ไม่ต่างกัน แต่หากเรากินอาหารคลีน ผักมาก เนื้อน้อย มันก็เข้ากับหลักการการกินอาหารยุคนี้
ก็จะพบว่า ไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมีมากกว่า ไขมันเลวร้ายน้อยกว่า ไฟเบอร์เส้นใยในอาหารมังสวิรัติก็มากกว่า ท้องไม่ผูก ลดยูเรีย
ส่วนที่ว่าจะรบกวนจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร เพราะไฟเบอร์มาก อันนี้หลักฐานยังไม่ชัดครับ
คาร์โบไฮเดรต ... พลังงานหลักของร่างกาย แนะนำข้าวไม่ขัดสี ข้าวกล้อง ธัญพืช พวกนี้ให้พลังงานดี มีไฟเบอร์ ฟอสเฟตไม่สูง โปรตีนก็ไม่สูง วิตามินมาก อื้อหือ...ดีจังแต่แอบแพง และอย่าลืมคาร์โบไฮเดรต ข้าว ก็มีโปรตีนนะครับ
ไขมัน เราก็แนะนำตามปกติ หลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ ..ตรงนี้ก็จะไปมีประโยชน์ในการลดโรคและการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกแล้ว ส่วนการชลอความเสื่อมของไตจากประเด็นอาหารไขมัน หลักฐานมีไม่มากครับแถมที่มีก็ไม่ค่อยดีนัก
....อย่าลืม เราลดสัดส่วนพลังงานจากโปรตีนลง เราอาจเพิ่มสัดส่วนไขมันดีๆ ไขมันไม่อิ่มตัวแทนไขมันอิ่มตัวเพื่อเอาพลังงานมาชดเชยโปรตีนที่หายไปได้ เพราถ้าลดไปเสียหมด ขาดพลังงาน ร่างกายก็จะสลายไขมันและโปรตีนออกมา สารที่ได้จากการสลายพวกนี้ไม่ค่อยดีกับผู้ป่วยไตเสื่อมนะครับ
อาหารที่เป็นต้นตอของกรด เนื้อสัตว์ ไขมัน ก็ควรลดลงเพราะคนไข้ไตเสื่อม ประสิทธิภาพในการสร้างเกลือเบส ที่คอยมาสร้างสมดุลกับกรดนั้น ลดลง ...เลือดก็เลยเป็นกรด เราก็ควรช่วยเหลือไตบ้างโดยการลดอาหารโปรตีนและไขมันซึ่งเราลดลงอยู่แล้วจากข้อก่อนหน้านี้
เกลือแร่ วิตามิน ..ขาดตกบกพร่องแน่ๆ กินก็น้อย สมดุลยังบกพร่องอีก จริงๆแล้วก็ควรจะพิจารณาว่าขาดตัวใดก็เสริมตัวนั้นในแง่การรักษา แต่ว่าการวัดระดับวิตามินเกลือแร่ มันไม่ง่าย แพง เราจึงมักชดเชยเลย เพราะอย่างไรก็ขาด โดยในบทความนี้กล่าวว่าแร่ธาตุที่มีปัญหามากสุดคือ ธาตุเหล็ก (ธาตุเหล็กนี่วัดง่าย เพราะโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กน่าจะเป็นโรคประจำชาติเราไปแล้ว)
การใช้ยาหรือสารชดเชย ผมแนะนำให้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์และนักโภชนาการครับ บ่อยครั้งที่ชดเชยเองแล้วไม่ครบ หรือเกิน
การดูแลคนไข้ไตเสื่อม ผมถือว่าเป็นการดูแลแบบสหสาขาวิชาชีพจริงๆครับ นักโภชนาการ เภสัชกร การเงิน ทีมเยื่ยมบ้าน พยาบาลไตเทียม หมอหลายๆสาขา นักกายภาพบำบัด ญาติผู้ดูแล คนจ่ายสตางค์ และที่สำคัญที่สุด คนที่จะยึดโยงสาขาต่างๆให้มาทำงานด้วยกันเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด คือ ตัวคนไข้
เพราะเราทำทั้งหมดเพื่อทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น