17 ตุลาคม 2560

เชื้อจะดื้อยา

สงครามเชื้อโรค หลายปีที่ผ่านมาทุกคนคงได้ยินคำพูดที่ว่า อย่าใช้ยาพร่ำเพรื่อ เชื้อจะดื้อยา แต่เชื่อไหมครับ สถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้นเลยแม้แต่น้อย
เวลาคนไข้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยความสงสัยโรคติดเชื้อ สิ่งที่เราทำคือหาตัวเชื้อโรคมาให้ได้แล้วทำการทดสอบว่ามีความไวต่อยามากน้อยแค่ไหน เช่นนำเลือด ปัสสาวะ เสมหะ หนอง ไปเพาะเชื้อ แล้วมาทำการทดสอบความไวของยาฆ่าเชื้อ
ในอดีตเชื้อที่จะดื้อยา ใช้ยาอะไรก็ไม่ได้ ก็จะเป็นเชื้อในโรงพยาบาล ผ่านยามาเยอะ เจ็บมาเยอะ พัฒนาตัวเองให้ทนต่อยาได้ ส่งไปทดสอบความไวของยาจะตกใจ ไม่มีตอบสนองสักตัว
แต่ในปัจจุบัน เราพบเชื้อดื้อยาที่มาจากบ้าน จากชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เพราะอะไร เชื้อในโรงพยาบาลก็ดุร้ายขึ้นเรื่อยๆ และจ้องจะเข้าโจมตีทุกคนที่เข้ารักษา
มันเกิดอะไรขึ้น
แน่นอน เชื้อโรคมันก็คือสิ่งมีชีวิต มันอยากอยู่รอด มันก็ต้องพัฒนาตัว ยาที่ไปทำลายผนังเซล มันก็สร้างผนังเซลให้หนาขึ้น ยาต้องไปจับกับตัวรับที่ผิวเซลเหมือนเข้าประตูบ้านที่ต้องขนาดพอเหมาะ มันก็ไปเปลี่ยนประตูให้เล็กลง ยาเข้าไม่ได้ ยาต้องเข้าเซลไปเพื่อทำลาย มันก็ฝึกวิทยายุทธ์ให้ถีบยาออกจากตัวได้ หรือสร้างทหารหน่วยหน้าออกจากตัวแบคทีเรียไปทำลายยาก่อนจะเข้ามาที่เซลก็มี
นี่คือการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต ในอดีตมันไม่ร้ายเท่านี้ เพราะมันไม่รู้จักยามากมาย แต่เมื่อการใช้ยามากขึ้นและไม่สมเหตุสมผล ผลเสียอันหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ เชื้อมันก็รู้จักและปรับตัว ยิ่งโดนกระทำด้วยยารุนแรงมันยิ่งแกร่ง
ไม่พอ...ถ้าเราใช้ยาที่ออกฤทธิ์กว้าง คือ เชื้อโรคอยู่ในกทม. แต่ใช้ระเบิดทำลายรัศมีไปถึงยะลา เชื้อตัวอื่นๆที่ไม่ใช่เป้าหมายมันก็รู้จักยาไปด้วย มันก็เริ่มดื้อนั่นเอง หรือเริ่มใช้ยาในปศุสัตว์ บางส่วนของยาก็ตกมาที่คนและสิ่งแวดล้อม เชื้อก็ดื้อยา
เชื้อโรคอยู่ในโลกนี้มาก่อนเรา อย่าลืมเราเป็นแค่ผู้อาศัย
กลไกการดื้อยาอาจเกิดจากเชื้อโรคใสๆ เกิดมาซื่อๆ ไม่รู้จักยาแต่โดนยาหนักๆก็แกร่ง หรือส่งถ่ายความแข็งแกร่งไปสู่ลูกหลานผ่านสายดีเอ็นเอ หรือสารพันธุกรรมอื่นๆ สอนให้แกร่งตั้งแต่เกิด กำลังมากขึ้นๆ ปัจจุบันเราก้าวไปถึงการตรวจทางพันธุกรรมของแบคทีเรียที่ตรวจเจอการดื้อยา
เชื้อรู้จักยามากขึ้น แต่ว่าการพัฒนายาของเรากลับลดลง เราไม่มีลู่ทางการกำจัดเชื้อเพิ่มขึ้น โรคต่างๆรุนแรงขึ้น แล้วเราทำอะไร
เราจะทำอย่างไร
เราพัฒนากลเม็ด ในการฆ่าเชื้อโรค ไม่ใช่วิธีใหม่ๆคือยาก็ยาเดิมๆ แต่ทำอย่างไรให้มันออกฤทธิ์หรือฆ่าได้ดีขึ้น อาทิเช่น เพิ่มระยะเวลาการให้ยาไม่ใช่ฉีดพรวดเข้าไป แต่ค่อยๆหยดยาให้เวลาที่ยาไปฆ่าเชื้อนานๆ หรือการให้ยาแบบ loading คือเพิ่มยาให้สูงในขนาดรักษาตอนเริ่มโดยเร็ว หรือการใช้ยาสองตัวสามตัวร่วมกันที่ออกฤทธิ์เสริมกัน
หรือไปหลอกล่อเชื้อ เช่น ส่งสารไปจับกับตัวรับ(ประตู) เมื่อรับแล้วจะปรับให้ยาเข้าเซลได้ง่าย ใช้โมเลกุลที่แบคทีเรียรู้จักยอมให้เข้าเซล พอเข้าไปก็แตกตัวออกเป็นยา ...อั๊ยยะ เราทำม้าโทรจันไปทำลายแบคทีเรีย หรือสร้างสารที่ไปทำลายทหารกำจัดยาของแบคทีเรีย ยาของเราจะได้ไปทำลายได้ง่าย
แต่นี่คือปลายทาง.....
ที่เราควรทำคือ การใช้ยาฆ่าเชื้ออย่างสมเหตุสมผล ไม่ใช้ยาที่ออกฤทธิ์กว้างสารพัดประโยชน์ เราควรใข้ยาที่ออกฤทธิ์แคบที่สุดตรงเชื้อที่สุด ในกรณีให้ยาช่วงเร่งด่วนอาจให้ยาออกฤทธิ์กว้างได้แต่เมื่อทราบเชื้อโรคแล้วต้องรีบปรับลดลงมา (การปรับลดนี่ลดอัตราการเสียชีวิตนะครับ)
ใช้ยาให้ถูกขนาด ถูกเวลา ไม่ใช้เกิน ไม่ใช้ขาด นอกจากไม่หายอาจทำให้เชื้อเรียนรู้ตัวยาและดื้อยาด้วย
โรคไหนที่ไม่ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ ก็ไม่ควรใช้ เช่นไอเจ็บคอจากไวรัส ก็ไม่ควรกินยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำคอ หรือถ้าเป็นจริงก็ควรใช้ยาที่เหมาะสมเช่น penicillin amoxicillin ไม่ใช่กระโดดไป moxifloxacin, amplicillin/sulbactam การให้ยาแรงๆไม่ได้ทำให้หายมากขึ้นนะครับ
ระวังการใช้ยาในปศุสัตว์ ข้อมูลออกมาว่าที่ใช้เพราะเชื่อว่าจะทำให้โตเร็ว แข็งแรง ทางหน่วยงานปศุสัตว์ก็ออกมาบอกแล้วว่าไม่จริงนะครับ ยังจะทำให้เชื้อในสิ่งแวดล้อมดื้อยาด้วย
สร้างการควบคุมการใช้ยา ทั้งกฏ ข้อห้าม การจำกัดการใช้ยา ในระดับร้านยา สถานพยาบาล ระดับประเทศ เผยแพร่ความเข้าใจตรงนี้เรื่อง antibiotic smart use, rational drug use และที่สำคัญที่สุดคือ ให้ความเข้าใจที่ถูกเพื่อให้มีทัศนคติที่ถูกต้องในการใช้ยาฆ่าเชื้อครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น