10 ตุลาคม 2560

ตะขาบ

ต่อจาก แมงป่อง ก็ต้องเจ้าเพื่อนร่วมแก๊งส์ ตะขาบ
ตะขาบ ถือว่าเป็นนักฆ่าวางยาพิษอันดับแรกๆของโลก และสืบสายพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน มีมากกว่า 3500 สายพันธุ์และมีพิษเกือบทุกชนิด ตะขาบจะมีความตรงไปตรงมาระหว่างรูปร่างกับพิษ คือ ตัวใหญ่ยาว พิษจะมาก ถ้าหากตัวเล็กสั้น พิษก็จะน้อย ตัวที่ใหญ่และเคยมีปัญหาพิษมากจนเป็นอันตรายคือ สายพันธุ์ในออร์เดอร์ scolopendromorpha ตัวจะใหญ่เกือบฟุตเลยทีเดียว
ฟังดูน่ากลัวนะครับ แต่ว่าจริงๆ ไม่ว่าจะขนาดตัวแค่ไหน พิษของมันก็ไม่ได้มากนักและแทบจะไม่ทำให้เกิด "พิษทั้งระบบ" ไม่เหมือนงู แมงมุม หรือ ผึ้งแตนต่อ เกือบทั้งหมดเป็นพิษเฉพาะที่
องค์ประกอบของน้ำพิษส่วนมากเป็นเอนไซม์ในการย่อยสลายโปรตีน ย่อยสลายคอลลาเจน กระตุ้นปฏิกิริยาอักเสบ พิษต่อระบบประสาทและเลือดมีน้อยมากๆ ดังนั้นอาการเกือบทั้งหมดคือ ปวดมาก บวมมาก บริเวณที่ถูกกัดครับ อาจลุกลามไปบริเวณข้างๆไม่มากนัก
การใช้น้ำเย็นประคบ ยกเท้าสูง กินยาแก้ปวด ก็สามารถปฐมพยาบาลได้ดี หลังจากนั้นก็ควรสังเกตอาการต่อว่าจะรุนแรงหรือไม่ เรามาดูกันว่าคืออาการอะไร
อย่างแรกคืออาการแพ้ อาการแพ้นี้เหมือนแพ้อาหารและแพ้ยาเลยเพราะพิษก็คือโปรตีนชนิดหนึ่ง สามารถกระตุ้นการแพ้ได้ หายใจขัด ตัวบวม หน้าบวม ลมพิษ นั่นคือรีบไปพบแพทย์เพื่อให้ยาต้านอาการแพ้ ใช้ยาชนิดแก้แพ้ antihistamine ครับ
อีกอย่างคือ โอกาสแพ้พิษตะขาบจะสูงกว่าสัตว์อื่นๆ เพราะพิษมันมีฮืสตามีนเป็นส่วนประกอบด้วย ในคนที่เคยมีประวัติแพ้ ผึ้ง แตน ต่อ ก็จะมีโอกาสแพ้พิษตะขาบมากขึ้น
อย่างที่สองคือพิษจริงๆของมัน คือ proteolytic enzymes สารพัดชนิด สามารถย่อยสลายเนื้อเยื่อ เลือดไม่แข็งตัว บวมรุนแรง ปฏิกิริยานี้ไม่ได้เกิดทั้งตัวแต่จะเกิดตรงบริเวณที่ถูกกัด เกิดมากบวมมากจนเนื้อเยื่อที่บวม ไปกดเบียดหลอดเลือดแดงหลอดเลือดดำ และเส้นประสาท ทำให้ขาดเลือด เราเรียกเหตุการณ์นี้ว่า compartment syndrome
ตรวจพบอาการขาดเลือดของเนื้อเยื่อที่เลยไปจากจุดถูกกัด อันนี้เป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องช่วยเหลือโดยการผ่าตัดระบาย ลดความดันในชั้นกล้ามเนื้อครับ
อาการอย่างที่สาม คือ การติดเชื้อซ้ำซ้อน โดยทั่วไปการถูกตะขาบกัดก็เป็นข้อบ่งชี้การรับวัคซีนป้องกันบาดทะยักครับ แต่ยังไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะหากไม่มีอาการติดเชื้อ ด้วยความที่เขี้ยวพิษที่มันกัดเรา ก็คือเขี้ยวพิษที่มันกินอาหาร จับเหยื่อ จึงมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคมากมายครับ แต่เราอาจรอดูอาการก่อนได้
การล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำสบู่หลายๆครั้งจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้ครับ
สามารถใช้ยาแก้ปวดได้หลากหลาย ไม่มีข้อจำกัดเหมือนเจ้าแมงป่องครับ
ในช่วงที่น้ำท่วมสูง สัตว์มีพิษต่างๆจะมากขึ้น ต้องระมัดระวังดีๆนะครับ หากถูกกัดก็อย่าตกใจ รู้สัตว์ รู้เรา โดนกัดร้อยครั้ง ก็ชนะร้อยครั้ง (ไปทำความสะอาดบ้านใหม่ซะ ถ้าโดนกัดร้อยครั้ง !!!)
ที่มา
Toxins (Basel). 2015 Mar; 7(3): 679–704.
emedicine.com
medscape.com
wikipedia

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น