09 กันยายน 2560

การขึ้นเครื่องบินและการดำน้ำ กับผู้ที่เคย "ปอดแตก"

เกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆ เกี่ยวกับ การขึ้นเครื่องบินและการดำน้ำ กับผู้ที่เคย "ปอดแตก" อ่านดีๆนะ ไม่ใช่ "ปอดแหก"
ผมอ่านมาจากทั้งวารสารทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์หลายฉบับ แต่ทุกอันจะเป็นรายงานผู้ป่วยหรือการติดตามผู้ป่วย เพราะจำนวนเคสไม่มากและคงไม่สามารถทำการทดลองได้แน่ๆ
สำหรับผู้ที่เคยมีปัญหาลมรั่วในเยื่อหุ้มปอด ที่เป็นแบบเกิดเอง (spontaneous pneumothorax) เช่นเกิดเองจริงๆจากมีถุงลมในปอดแล้วแตกออก จากโรคทางพันธุกรรม หรือเกิดจากโรคประจำตัวเช่นโรคถุงลมโป่งพอง หรือโรคซิสต์ในปอด เมื่อไรก็ตามคุณเคยเป็นโรคนี้ การเดินทางที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงความดันอากาศอาจมีปัญหาได้
ไม่ว่าจะได้รับการใส่ท่อระบายลม การผ่าตัด การเชื่อมปอด หรือ แม้แต่รักษาโดยใช้ลมก็แล้วแต่ หลายๆองค์กรก็แนะนำแบบนี้ ผมยกมาจาก british thoracic society ที่เป็นต้นแบบของหลายๆองค์กร
สำหรับการเดินทางทางอากาศนั้น มีรายงานการเกิดลมรั่วซ้ำแต่ไม่มากนัก คำนวณทางอ้อมได้ 0.6% ต่อการเดินทางหนึ่งครั้งต่อปี และการเกิดในอัตรานี้เกือบทั้งหมดเป็นการเกิดแบบไม่มีอาการ คือต้องตรวจพบจากเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ครับ (เพราะเขาศึกษาแบบติดตามผู้ป่วยจึงทำการเอ็กซเรย์หลังขึ้นลงเครื่องบิน) เรียกว่าแทบไม่มีอาการ
การปรับสภาพแรงดันและความดันอากาศ แก๊สออกซิเจนจะปรับให้สบายอยู่แล้ว ปรับให้ร่างกายทนได้ประมาณความสูงไม่มาก บางเล่มก็เขียน 3000 เมตร บางเล่มก็บอก ไม่เกิน 8000 เมตร แต่ไม่มีเล่มไหนเขียนมากกว่า 8000 แม้ว่าตัวเครื่องจะบินสูงเท่าใด
แนวทางของ british thotracic society และ aerospace medical associations ออกแนวทางในปี 2011 บอกว่าแค่เฝ้าระวังเมื่อเกิดปัญหาแรงดันผิดปกติ และไม่ควรขึ้นบินภายใน 14 วัน หลังจากหาย (ฟิล์มเอกซเรย์ปกติแล้ว)
#สำหรับการดำน้ำถือเป็นข้อห้ามนะครับ# สำหรับผู้ที่ลมรั่วปอดแตกชนิดเกิดเอง ส่วนที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือการผ่าตัด ไม่ใช่ข้อห้ามนะครับ คำอธิบายนี้มาจาก decompression sickness ครับ
พื้นฐานถือเวลาดำน้ำแบบ สกูบ้า (scuba) จะต้องใช้ถังอัดอากาศคืออากาศปกตินี่แหละครับ อัดให้แรงดันสูงในถัง มวลอากาศถูกบีบอัดทำให้อากาศที่หายใจเข้าไปหนึ่งครั้งมีปริมาณมากกว่าปกติ คิดง่ายๆอากาศปกติก็เหมือนคุณเอาขันตักลูกปิงปอง แทนอากาศที่ได้จากการหายใจหนึ่งครั้ง ส่วนอากาศอัดก็เหมือนเอาขันใบเดิม ตักเม็ดมะขามครับ
เมื่อลงไปใต้ทะเล แรงดันน้ำรอบตัวจะอัดอากาศในตัวไม่ให้ก้อนใหญ่ขึ้น แต่ถ้าคุณขึ้นจากผิวน้ำเป็นไป หายใจหอบ หายใจเร็ว(ส่วนมากจะกลัว) หากขึ้นมาบนผิวน้ำเร็วไป อากาศก็ขยายออกอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นลมรั่วและปอดแตกซ้ำได้ โชคร้ายถ้าที่ลมที่เคยอยู่ใต้น้ำเล็กๆนั้น อยู่ในหลอดเลือดแล้วเกิดขยายอย่างรวดเร็ว โอกาสอุดตันเยอะพอสมควร นี่คือ decompression sickness
ดังนั้น การขึ้นลงผิวน้ำต้องมีกระบวนการ และผู้ป่วยที่เสี่ยงลมรั่วในปอดก็ห้ามลงดำน้ำครับ ดูสารคดีเอาแทนได้ ปีนเขาแทน หรือไปเดินทัวร์ประวัติศาสตร์กับแอดมินบ๊องส์ๆ ได้เช่นกัน
แถมอีกอย่างคือ nitrogen narcosis คือ พิษจากไนโตรเจน อย่างที่บอกอากาศที่อยู่ในถังอัดอากาศนั้นขนาดล็กกว่าปกติ ความสามารถในการแทรกซึมเข้าเนื้อเยื่อจะเพิ่มขึ้น ยิ่งแรงดันสูงและดำน้ำนาน โอกาสที่แก๊สจะซึมเข้าไปในเนื้อเยื่อมากขึ้น
แก๊สไนโตรเจนที่มีถึง 78% ในบรรยากาศ และเช่นกันในถังอัดอากาศ ขนาดเล็กมากก็จะแทรกซึมไปในเนื้อเยื่อไขมัน lipid-rich tissue เพราะไนโตรเจนมีประจุและโมเลกุลที่เหมาะสมที่จะอยู่ในไขมัน เนื้อเยื่อที่มันจะไปอยู่คือ ระบบประสาทและสมอง
หากเกิดพิษไนโตรเจนเกิดขึ้น ส่วนมากจากดำลึกหรือดำนานๆ ก็อาจเกิดความผิดปกติกับระบบประสาทเช่น ภาพหลอน สั่น ชา วิงเวียน บางส่วนอาจไปเกิดที่อื่นเช่นเกิดซึมที่ใต้ผิวหนัง เวลาขึ้นจากผิวน้ำอาจมีลมแทรกในชั้นผิวหนัง (subcutaneous emphysema)
การดำน้ำด้วยวิธีที่ถูก การไต่ความลึก การค่อยๆขึ้นสู่ผิวน้ำ ระยะเวลา เทคนิคการหายใจ จะช่วยป้องกันทั้งสองข้อนี้ได้ครับ
ผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำ แม้สมัยก่อนจะมีฉายาโลมาหนุ่มเจ้าสระ สามารถใช้สน๊อกเกิ้ลได้ดีมาก แต่ไม่เคยดำสกูบ้าเลย ผมเชื่อว่าแฟนเพจผมมีนักดำน้ำหลายคน มาช่วยกันให้ความเห็นนะครับ

3 ความคิดเห็น:

  1. สอบถามหน่อยครับ ผมเคยปอดรั่วแบบ Spontaneous ข้างขวา
    เป็น 2 รอบ หายเอง
    รอบสามเป็นเลยผ่าเลยครับ ที่ศิริราช
    (หมอรพ.อื่นเห็น บอกว่าเนียนมาก ไม่มีแผลเป็นที่ปอดเลย)

    อยากทราบว่า ตอนนี้กำลังจะได้งานเป็นสจ๊วต
    การขึ้นเครื่องบินบ่อยๆ จะมีผลอะไรมั้ยครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ไม่ระบุชื่อ23 พฤษภาคม 2567 เวลา 23:31

      ได้เป็นสจ๊วตไหมครับ ผลการตรวจสุขภาพเขาให้ผ่านไหมครับ

      ลบ