08 กันยายน 2560

การเข้าถึงการคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้

เทคโนโลยีการตรวจคัดกรองมะเร็งจะก้าวหน้าเพียงใด หากไม่มีการตรวจเกิดขึ้น เทคโนโลยีนั้นย่อมไร้ประโยชน์ รายงานของวารสาร JAMA ได้ศึกษาถึง การส่งตรวจและการเข้าถึง ของกรรมวิธีการคัดกรอง ว่าทำได้มากน้อยเพียงใด
บทความนี้ขอเอาใจเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หมออนามัย หมอครอบครัว ที่เป็นด่านหน้าในกระบวนการดูแลและป้องกัน ก่อนที่จะสายเกินไป
การส่องกล้องตรวจทุก 10 ปี ทำไม่ได้แพร่หลายและมีอันตรายจากการส่องและการดมยา การตรวจอุจจาระทุกปีทำได้ง่ายแต่กลับไม่เป็นที่นิยม ที่ผ่านมาเรา "เชียร์" การตรวจในคนที่เข้ามารักษาด้วยโรคใดๆกับแพทย์เท่านั้น คนปรกติที่ยังไม่เป็นโรค (ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการคัดกรอง) กลับไม่ทราบ เข้าไม่ถึง อัตราการตรวจก็ไม่มากพอที่จะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนั้น
อย่ากระนั้นเลยทางมหาวิทยาลัยเท็กซัส กับหน่วยงานที่ควบคุมการจ่ายเงินค่าคัดกรองและรักษาของรัฐ ร่วมมือกันศึกษาสิว่าถ้าเราดำเนินนโยบายเชิงรุก ให้ทราบข้อมูล ให้เข้าถึง ให้การจ่ายทดแทนตามสิทธิตามกำหนด ผลจะดีขึ้นไหม
ระหว่าง เชิญชวนเมื่อเข้ามารับการตรวจรักษาที่รพ. กับส่งจดหมายและโทรศัพท์ไปแจ้งข้อมูลเลย ถึงผลดี ข้อจำกัด การสนับสนุนเงินค่าตรวจและค่ารักษาหากตรวจพบ (ซึ่งก็เป็นขั้นตอนปรกติที่ควรทำอยู่แล้ว แต่อัตราการทำจริงก่อนหน้านี้มันต่ำมาก) ในการตรวจอุจจาระ หรือ ส่องกล้อง
วัดผลเลยว่าแต่ละกลุ่ม แต่ละวิธี สามารถเชิญชวนมาตรวจสักหนได้ไหม เชิญชวนมาจนครบขั้นตอนแค่ไหนกัน และถ้าทำแบบนี้จะตรวจพบได้มากขึ้น นำพาไปสู่การรักษาที่ดีในระยะแรกได้จริงไหม น่าสนใจนะ
มันเป็นการคิดสูงไปอีกขั้นถึงขั้นนโยบายและการนำไปใช้ ถึงแม้มีวิธีที่ดี แต่ใช้ไม่ได้ใช้ไม่เป็นก็ไม่มีประโยชน์ (มะเร็งลำไส้พบมากเป็นอันดับสองของอเมริกา ปีที่แล้วเขาออกแนวทางการคัดกรองและรณรงค์ตลอด นี่เป็นปัญหาสำคัญของเขา)
เราได้เรียนรู้ล่ะว่าระบบการแก้ไขปัญหาโดยวิเคราะห์ข้อมูล แล้วนำมาศึกษาค้นคว้าวิจัย ได้ผลงานวิจัยแล้วกลับไปสังเคราะห์ข้อมูลว่า แนวทางที่ผ่านมามันผิดพลาดตรงไหน ควรแก้ไขอย่างไรจึงถูดจุด ...นี่คือ "ปัญญา" ที่สำคัญที่ควรเกิดขึ้นในสังคมเรา
*** ข้อมูลเชิงสถิติคร่าวๆ** ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 5999 ราย (ไม่นับกลุ่มที่เคยเป็นมะเร็ง มีประวัติเสี่ยง หรือติดต่อไม่ได้ หรืออย่างไรก็ไม่ตรวจ) อายุ 50-65 ปี เฉลี่ยก็ 56 ปี เป็นหญิงมากกว่าชาย สุขภาพดี พบแพทย์ปีละ 1-2 ครั้งเท่านั้น แยกกลุ่มเชียร์ส่องกล้อง 2400 คน เชียร์ตรวจอุจจาระ 2400 คน ที่เหลือให้คำแนะนำตามปกติ ใช้การวิเคราะห์เทียบสองกลุ่มด้วยวิธีเปียร์สัน (เทียบทีละคู่ที่ไม่ขึ้นต่อกัน) โดยการคำนวนและกลุ่มตัวอย่างนี้คาดหวังว่าจะได้รับการตรวจจนครบประมาณ 13-16% จึงจะบอกได้ว่า การเชียร์ตรวจมีประโยชน์มากพอ (difference 3.1%)
ผลออกมาว่าไง ด้วยกระบวนการเชียร์นี้ นำคนเข้าตรวจส่องกล้องสูงถึง 38.4% นำคนมาตรวจอุจจาระแบบครบ 28% เทียบกับกระบวนการเดิมคือไม่ได้เชียร์เชิงรุก เปรยๆให้ฟังตอนมาหาหมอ ซึ่งได้ผลแค่ 10.7%
ในกลุ่มที่เข้าตรวจ ก็จะเกิดความล้มเหลวเช่นเตรียมลำไส้ไม่ดี เก็บอุจจาระไม่ดี ความล้มเหลวพวกนี้เกิดไม่มาก
การตรวจพบมะเร็งไม่ได้แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม (อย่าลืมว่าการศึกษาไม่ได้ถูกออกแบบให้ตรวจมะเร็งได้เพิ่ม ออกแบบมาให้เข้ารับการตรวจจนครบมากขึ้นต่างหาก)
รายละเอียดอื่นๆถ้าสนใจ ผมทำ link มาให้ด้านล่างนะ
บอกอะไรเราบ้าง
1. ขนาดเชียร์เต็มที่ ยังเข้ารับการตรวจสูงสุดแค่ 40% การคัดกรองจึงยังไม่สามารถแสดงพลังมันออกมาได้เต็มที่นัก ไม่ต้องพูดถึงการเปรยๆ เวลามาหาหมอ แทบจะไม่สำเร็จเลย การเชียร์ การรณรงค์ การทำงานเชิงรุก..สำคัญมากๆเลย
2. เราเคยคิดว่าตรวจอุจจาระปีละครั้ง (โดยส่งไปรษณีย์ด้วยนะ) น่าจะเป็นวิธีที่ได้ผลดี สะดวก ประหยัด แต่ปรากฏว่าเมื่อเชียร์เต็มที่ คนเลือกทำส่องกล้องมากกว่า สาเหตุที่เป็นไปได้คือ การตรวจอุจจาระต้องทำทุกปีครับ การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าถ้าให้ตรวจอุจจาระอย่างน้อยหนึ่งครั้ง อัตราความสำเร็จสูง แต่ถ้าจะต้องให้ตรวจทุกปีเรื่อยๆ อันนี้ความสำเร็จเริ่มต่ำลง (ต่างจากส่องกล้องอย่างมีนัยสำคัญด้วย)
3. และกว่า 60% ที่ผลการตรวจอุจจาระผิดปกติ ก็ไม่ได้ไปตรวจสืบค้นต่อเนื่อง ตรงนี้มีความสำคัญมากหากเราจะเลือกใช้วิธีที่ถูกกว่า สะดวกกว่า เพราะนี่คือการคัดกรอง หากผิดปกติแล้วไม่ตรวจต่อ วิธีทั้งหมด กระบวนการทั้งหมดก็ไร้ค่า อาจเป็นเพราะเขาไม่รู้ว่าต้องตรวจต่อ หรือกระบวนการติดตามไม่ดีพอ
ดังนั้นการให้ความรู้และส่งเสริมให้เข้าสู่กระบวนการคัดกรองเชิงรุกต้องทำแน่ๆ เพิ่มอัตราการตรวจแน่ๆ บทบาทของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้าและการสื่อโฆษณาก็จำเป็น เมื่อมีการตรวจแล้วก็ต้องมาตรการรองรับในการตรวจเพิ่มเติม การรักษา อันนี้เป็นงานเชิงระบบ ใครจะทำ ใครจะจ่ายเงิน เกณฑ์อย่างไร
เลือกใช้วิธีการตรวจอุจจาระก็ได้ ผู้ตรวจต้องทราบวิธี เจ้าหน้าที่ต้องใส่ใจติดตาม ตรวจทุกปี(อันนี้ยากนะ) และส่งต่อเสมอไปส่องกล้องเมื่อผิดปกติ ครั้นจะส่องกล้องทุกคนที่อายุตั้งแต่ 50 ปี ด้วยความถี่ 10 ปีครั้ง หรือ 5 ปีครั้งถ้าเสี่ยง ดูจะเป็นทางมืดมนของบ้านเรา
เรียกว่าความรู้ส่งให้ประชาชน มีมาตรการพื้นฐานง่ายๆแต่ทรงประสิทธิภาพ มีการส่งต่อและปรึกษาที่ถูกต้อง ไม่มาก ไม่น้อยไป ไม่ละเลย ระบบการเบิกจ่ายเงินที่เป็นธรรม
และใจผู้ออกนโยบายที่เห็นว่าการคัดกรองและการรักษาระยะต้น มีประโยชน์กว่าการรักษาในระยะปลายครับ
วงล้อต้องหมุนครบ กระบวนการจึงจะสำเร็จครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น