06 สิงหาคม 2560

"little boy"

คุณรู้ไหม 72 ปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์โลกตะลึงในวันนี้
6 สิงหาคม 2488 เวลาประมาณแปดโมงเช้า เครื่องบินบี 29 ในชื่อเรียกขานว่า "อีโนล่า เกย์" ได้ล่องผ่านน่านฟ้าญี่ปุ่นสู่เมืองฮิโรชิมา ด้วยปฏิบัติการปล่อยระเบิดปรมาณูที่มีชื่อเรียกขานว่า เด็กน้อย "little boy"
ลูกระเบิดถูกจุดขึ้นเหนือพื้นดินประมาณ 500 เมตร
แรงระเบิดทำให้เกิดแสงสว่างวาบ คลื่นกระแทกมหาศาล ตามด้วยรังสีความร้อนที่แผดเผาทำลายทุกอย่าง ภายในไม่กี่นาทีหลังจากระเบิด ชีวิตประชาชนญี่ปุ่นไม่น้อยกว่า 80,000 คน จบสิ้นลงโดยไม่รู้ตัว ตามมาด้วยอีกหลายหมื่นคนที่เกิดผลหลังจากนั้น และอีกนับหมื่นจากโรคมะเร็งที่ตามมา
แรงระเบิดนั้นด้อยกว่า fatman ที่ถูกนำไปถล่มนางาซากิในอีกสามวันต่อมา แต่ทว่าเมืองฮิโรชิมาเป็นแหล่งชุมชน แหล่งอุตสาหกรรมหนัก รวมทั้งเป็นพื้นที่ราบส่งผลให้แรงระเบิดทำลายชีวิตและสิ่งก่อสร้างอย่างคาดเดาไม่ได้ เสียหายมากกว่าที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์หลายร้อยเท่า
หลายเล่มเขียนว่าจริงๆ เขาต้องการแค่ลูกนี้ลูกเดียว แต่เนื่องจากญี่ปุ่นไม่ยอมจำนนในทันที ในอีกสามวันต่อมาจึงส่งไปอีกลูก
ตามบันทึกที่อ้างว่าเป็นของนักบินอีโนล่า เกย์นั้น เขาทราบเพียงว่าเขาไปทิ้งระเบิดพิเศษเท่านั้น ไม่ทราบว่า นี่คือระเบิดปรมาณูที่มีอานุภาพขนาดนี้ ไม่มีใครเคยคาดคิดว่ามันร้ายกาจ แม้แต่การทดลองระเบิดตามปฏิบัติการทรีนิตี้ ก็ตาม
แพทย์ชาวญี่ปุ่น ได้ทำการบันทึกการเกิดมะเร็งในกลุ่มผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดทั้งสอง โครงการนี้สิ้นสุดในปี 1999 ก็พบว่าอัตราการเกิดมะเร็งเพิ่มมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้สัมผัสกัมมันตภาพรังสีประมาณ 10 เท่า โดยยิ่งสัมผัสมาก และมีชีวิตยาวนาน ก็จะพบมะเร็งมากขึ้นๆ
แต่ก็มีอีกหลายการศึกษาพบว่าอัตราการเกิดมะเร็ง ไม่ได้แตกต่างจากเดิมเท่าไร แต่ที่พบมากหลังสงครามเป็นเพราะสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ขาดอนามัย และอาหารการกินที่ผิดไป
ยังไม่มีการพิสูจน์หลังจากนี้ที่ชัดเจน เพราะคงไม่มีการทดลองใด ใช้ระเบิดปรมาณูได้ กัมมันตภาพรังสีที่เราพูดว่าก่อให้เกิดมะเร็งนั้น ส่วนมากมาจากสารกัมมันตภาพรังสีจากการทดลองในห้องทดลอง จากการรักษา มากกว่าที่จะได้จากข้อมูลของระเบิดปรมาณู และคงไม่สามารถทำการทดลองได้แน่ๆเลย
สุดท้าย เราก็ไม่อยากให้เกิดความรุนแรงและการใช้ระเบิดปรมาณูเหล่านี้อีกเลย
วันนี้ในอดีต..นึกขึ้นมาแล้วเขียนเลย ข้อมูลมาจากการค้นคว้าเรื่องสงครามโลกครั้งที่สองสะสมต่อเนื่องกันมากว่า 10 ปี ก็อาจจะไม่ตรงเป๊ะๆๆนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น