ยาซัลฟา เป็นหนึ่งในยาที่มีอาการแพ้มากที่สุด แต่ว่าไม่ใช่แค่ยาฆ่าเชื้อเท่านั้นที่เป็นซัลฟา ยังมียาอย่างอื่นๆอีกที่เป็นซัลฟา
ที่พบบ่อยๆเช่น ยาขับปัสสาวะ acetazolamide,furosemide..ยาขับปัสสาวะที่ใช้เป็นยาลดความดันทั้งสามตัวคือ hydrochlorothiazide,indapamide, chlorthalidone..ยาลดน้ำตาลกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย ชื่อก็ฟ้องนะครับ ซัลฟา ได้แก่กลุ่ม gli- ทั้งหลายนั่นเอง..ยาแก้ปวด celecoxib..ยากันชัก topiramate
แต่ความเป็นจริงแล้วการแพ้ยาข้ามกลุ่มนั้น จากข้อมูลที่เก็บย้อนหลังทั้งหลายก็พบว่าการแพ้ยาปฏิชีวนะกลุ่มซัลฟา และยากลุ่มซัลฟาอื่นๆที่ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะนั้น พบว่าข้ามกลุ่มกันไม่มากอย่างที่คิด ในคนที่เคยแพ้ยาฆ่าเชื้อซัลฟามาก่อนพบมีปฏิกิริยาแพ้ยาซัลฟาที่ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อประมาณ 10% (ปฏิกิริยาแพ้ทั้งรุนแรงและไม่รุนแรง) ดูว่าไม่มากเท่าไร แต่ๆๆ
ถ้าไปดูกลุ่มคนที่ไม่เคยแพ้ยาฆ่าเชื้อซัลฟาเลย(คือเคยได้ซัลฟามาแล้วแต่ไม่แพ้) ไปได้รับยาซัลฟาที่ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อ พบว่าจะมีปฏิกิริยาแพ้แค่ 1.6% เท่านั้น สิบเท่าเลยนะ เรียกว่าถึงแม้ปริมาณไม่มากแต่ก็มีความหมายถ้าคุณเคยแพ้ยาซัลฟามาก่อน ต่อไปจะได้ยาซัลฟาทั้งยาฆ่าเชื้อหรือไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อก็ควรระวังมากๆ แม้มันไม่เยอะแต่ก็สำคัญ
ผลการศึกษาในปี 2003 ชิ้นนี้ของคุณ Strom โด่งดังและเป็นที่อ้างอิงมากเลยทีเดียว
และการศึกษาของคุณ Strom ในปี 2003 ยังพบสิ่งที่แปลกมากขึ้นคือ เขาพบปฏิกิริยาที่ข้ามกันสำหรับยาซัลฟานั้น กลุ่มยาซัลฟาที่ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อ กลับพบปฏิกิริยาข้ามกลุ่มกับยาเพนิซิลิน (คนที่เคยแพ้เพนิซิลิน) มากกว่ากลุ่มที่เคยแพ้ยาฆ่าเชื้อซัลฟาเสียอีก แสดงว่ากลไกการแพ้ข้ามกลุ่มนั้นยังมีความซับซ้อนมากกว่าที่เราคาดคิด และไม่ได้หมายความว่าคนที่ "ไม่แพ้" ยาฆ่าเชื้อซัลฟา จะ "ปลอดภัย" จากยาซัลฟาอื่นๆ และคนที่เคย "แพ้" ยาซัลฟามาก่อนไม่ได้หมายความว่าเขาจะแพ้ยาซัลฟา "ตัวอื่น" เสมอไป
ก็คือสรุปว่าการแพ้ยาซัลฟาข้ามกลุ่มกันมันไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างที่คิด และจากข้อมูลการศึกษาย่อยๆรวมทั้งสรุปการศึกษาหลายๆอัน ก็ยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนของคำกล่าวทางทฤษฎีที่ว่า ถ้าคุณแพ้ยาฆ่าเชื้อซัลฟา คุณห้ามใช้ยาที่มีส่วนผสมเชิงโมเลกุลที่มีซัลฟาเป็นองค์ประกอบอยู่เลย
แล้วชาวบ้านร้านตลาด หมอเภสัชแถวสารขันธ์แลนด์จะทำเช่นใด
ตามตำราเภสัช หรือเภสัชตำรับ และประกาศกระทรวงสาธารณสุข มีการระบุยาที่ต้องห้ามจ่าย หากผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาซัลฟามาก่อนหลายชนิด คำประกาศแบบนี้จำเป็นต้องมีแม้ว่าข้อมูลที่ผมกล่าวไปด้านบนว่าหลักฐานมันไม่ชัดเจน ..แต่เราจะไม่ยกผลประโยชน์ให้จำเลยแต่อย่างใด..เพราะเมื่อเกิดเหตุการแพ้ยาที่เรา "พึงหลีกเลี่ยงได้" ในแต่ละครั้ง มันเกิดความสูญเสียทางชีวิต ทรัพย์สิน ชื่อเสียง เงิน และความมั่นคงทางการแพทย์และยามากมาย เราจึงพยายามป้องกันไม่ให้เกิดดีกว่า ผมคิดนะครับ จนกว่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจนชัดแจ้ง ว่ามันไม่เกี่ยวข้องกันจริงๆนั่นแหละจึงจะปลอดภัย
เราจึงเลี่ยงไปใช้ยาตัวอื่นที่ปลอดภัยกว่า ในปัจจุบันมีตัวเลือกมากขึ้นและเข้าถึงยาต่างๆได้ง่ายขึ้น น่าจะปลอดภัยกับชีวิตคนไข้และความมั่นคงทางสาธารณสุขมากกว่า ...อ๊ะๆๆ แต่อย่าลืมว่าถึงแม้เปลี่ยนกลุ่ม ก็อาจแพ้ได้นะครับ ดังเช่นตัวอย่างด้านบน...
และถ้ามันไม่มีตัวเลือก จำเป็นต้องใช้จริงๆ เช่นเจ้ายาที่แพ้มากที่สุดนั่นแหละ bactrim (มี sulfamethoxazole) เราก็จะใช้วิธี graded drug challenge หรือ drug desensitization protocol ไม่ต้องตกใจทั้งสองวิธีคือการฝึกร่างกายและหาขนาดของยาที่จะไม่ทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรง...แพ้รุนแรงเท่านั้น เพราะถ้าแพ้เบาๆ เราอาจทนได้ให้ยารักษาอาการได้ ถ้าประโยชน์แห่งการให้ยามันจำเป็นจริงๆ ลองอ่านดูได้จากอ้างอิงตัวแรกที่ผมยกมาให้ หรือถ้าไม่อยากอ่านก็ แนะนำให้มีแฟนเป็นเภสัชกรนะครับ ชีวิตง่ายขึ้นเยอะเลย (ผมเปิดการขายให้แล้วนะครับ น้องเภสัชกรทั้งหลาย
Ann Allergy Asthma Immunol. 2008;100:91–100.
Can Fam Physician 2006;52:1434-1438.
Pharmacotherapy.2006;26:551–557.
Current Allergy and Asthma Reports, 2007, Volume 7, Number 1, Page 41
American Journal of Infectious Diseases 9 (4): 148-154, 2013
Strom BL, Schinnar R, Apter AJ, et al. Absence of cross-reactivity
between sulfonamide antibiotics and sulfonamide nonantibiotics. N Engl
J Med. 2003;349:1628 –1635.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น