22 กรกฎาคม 2560

incidence

มีข่าวว่าเด็กคนหนึ่งเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดแดงเอออร์ต้าบริเวณทรวงอกเกิดแตกออกแล้วเสียชีวิต ผมได้ยินข่าวส่วนหนึ่งบอกว่า โรคนี้เป็นโรคที่พบไม่บ่อยและออกจะใหม่ในประเทศ .. มันพบไม่บ่อยจริงหรือ
การที่โรคใดโรคหนึ่งจะถูกรายงานว่าพบบ่อย เกิดมาก มันมีองค์ประกอบสามอย่างตามที่ผมจะแยกให้ฟังเข้าใจง่ายๆนะครับ
ประการแรก โรคที่พบน้อยจริงๆ ทั้งจากกลไกการเกิดและการสำรวจ ยกตัวอย่างเช่นโรคคอพอกจากการขาดสารไอโอดีน เมื่อเราได้ทราบกลไกและชดเชยสารไอโอดีนโดยทั่วหน้าแล้ว การเกิดโรคก็ยากมากเรียกกว่าพบน้อย หรือโรคโปลิโอที่เมื่อเราให้วัคซีนป้องกันโรค ทำให้โรคนี้พบน้อย และมีการเฝ้าสำรวจโรคโปลิโอตลอดก็พบว่าไม่เพิ่มเลย อย่างนี้ก็จะเรียกว่าน้อยจริง
หรือโรคพบมากขึ้น ก็จะต้องเป็นโรคที่มีรายงานและการสำรวจอยู่บ้าง เช่น โรคถุงลมโป่งพองมีการสำรวจและรายงานโรคเกิดใหม่ๆตลอด อัตราการเพิ่มขึ้นจึงน่าจะเป็นอัตราจริงๆ แสดงว่าตัวโรคเกิดมากขึ้นจริง
ประการที่สอง เกิดจากการหา โรคที่เรามีวิธีค้นหามากขึ้น หรือเราทำการค้นหามากขึ้น บางครั้งโรคมันก็มีเท่าเดิมแต่เราไปหาเจอมากขึ้น ตัวอย่างที่ดีคือโรคไวรัสไข้ซิก้าที่เป็นโรคที่มีในเขตประเทศเรามานานแล้ว หากปีใดเราส่งการตรวจมากขึ้น เราก็จะพบมากขึ้นกลายเป็นว่าปีนั้นพบโรคนี้มากมาย ทั้งๆที่ก็ยังโรคเดิมอัตราเดิม
หรือโรคติดเชื้อ H.pylori ที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะ สมัยก่อนเราไม่มีวิธีการตรวจที่แพร่หลายและง่ายดายอย่างปัจจุบัน สมัยนี้สามารถตรวจได้ทั้งจากลมหายใจ อุจจารระ ส่องกล้อง หรือตรวจเลือด แน่นอน เมื่อมีวิธีค้นหามากขึ้นก็จะพบมากขึ้นนั่นเอง
ประการที่สาม เกิดจากการรายงานโรคและการประมวลผล อันนี้เป็นปัญหาเชิงระบบจริงๆ ผมยกตัวอย่างสมมติว่า รายงานว่าปีนี้ประเทศไทยมีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 10,000 ราย จากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ 8,000 ราย แต่ว่าเราไม่มีทางทราบเลยว่าในคนที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตนั้น เขาอาจเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบจนหมดสติเสียชีวิต ก่อนจะรถคว่ำก็ได้ เราจะจัดว่าเขาตายจากอะไร สถิติต่างๆจะเปลี่ยนไปไหม
หรือถ้าสมมติว่า เรารายงานโรคอหิวาต์ว่า ปีนี้มี 100 ราย (นั่นคือตรวจอุจจาระและยืนยันผลแล้ว) ถ้าอย่างนั้นรายที่ไม่ได้มาหาหมอ หรือมาแล้วแต่ไม่ได้ตรวจก็จะถูกรายงานว่าถ่ายเหลวเฉียบพลันไม่ใช่อหิวาต์ ก็อาจมีอหิวาห์ซ่อนอยู่อีกมากมาย
เห็นไหมครับ โรคเก่า โรคใหม่ พบบ่อย พบน้อยลง พบมากขึ้น ไม่ได้มีแต่ปัจจัยโรคอย่างเดียว แต่มีตัวแปรที่มีผลอีกหลายอย่างที่ส่งผล ในประเทศที่มีรายงานการเกิดโรคและระบบการติดตามที่ดีก็จะเชื่อถือได้ดี หรือเป็นโรคที่มีการศึกษาและอยู่ในความสนใจจะเป็นตัวเลขที่เชื่อได้ครับ ข้อผิดพลาดและค่าแปรปรวนจะน้อย เช่น การสำรวจโรคเบาหวานในแต่ละปี การลงทะเบียนและติดตามผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวี ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นระบบจะทำให้เราวางแผนสุขภาพ และกำหนดนโยบายสาธารณะได้แม่นยำขึ้นครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น