28 กรกฎาคม 2560

สารหนู

ไม่น่าเชื่อเหมือนกันนะว่า สารก่อมะเร็งจะเอามาใช้รักษามะเร็ง
ย้อนกลับไปยุคกลาง นโปเลียนมหาราชผู้เชี่ยวชาญณรงค์ ปราบไปทั่วทศทิศ เสียชีวิตจากสารหนู !! ใช่แล้วมันคือการวางยาพิษ ทำไมต้องสารหนู เพราะสารหนูคือสารในฝันของการวางยาพิษ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่มีทางรู้ แถมอาการพิษก็แยกยากจากสารพิษอย่างอื่น เลือดออก อาเจียน ชัก หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ในยุคปัจจุบันสารหนูก็ยังพบปนเปื้อนในอุตสาหกรรมหลายชนิด ออกมาในสิ่งแวดล้อม ปะปนมากับอาหาร ทำให้เกิดอันตรายจากการสะสมของสารหนูมากมาย ก่อเกิดพิษระยะยาวของเส้นประสาท จิตประสาท ใจเต้นผิดจังหวะ และก่อมะเร็งผิวหนัง ปอด กระเพาะปัสสาวะและมะเร็งตับ ต้องมีการออกกฎมาควบคุมปริมาณสารหนูเช่นเดียวกับสารพิษจากอุตสาหกรรมอื่นๆเหมือนกัน
...ในขณะเดียวกัน สารหนูก็มี ด้านสว่าง
ในอดีตสมัยศตวรรษที่ 15 ก่อนยุคยาปัจจุบัน มีการใช้สารหนูกันแพร่หลายในการ "รักษาโรค" สมัยนั้นเชื่อว่าสารพิษเล็กๆน้อยๆ รักษาโรคได้ดี ถ้าหมอแล็บแพนด้าไปเกิดยุคนั้น เห็นทีจะตกงานเป็นแน่แท้
เอามาใช้รักษาโรคกระเพาะ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ทาผิวรักษามะเร็งเต้านม โรคติดเชื้อต่างๆ (สมัยนั้นยังไม่รู้จักเชื้อโรค) เรียกว่าครอบจักรวาล ไม่รู้ว่าผลการรักษาเป็นอย่างไร ที่หายไปนี่หายจากโลกหรือจากโรค
จนเมื่อปี 1878 หรือปี 2421 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการตั้งห้างบีกริมม์แแอนค์โค ที่ถนนสาทรถือเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในสยาม แต่ที่ประเทศอังกฤษ การใช้สารหนูเป็นเรื่องเป็นราว มีการศึกษาการจดทะเบียนเกิดขึ้น โดย Thomas Fowler ได้คิดค้นสูตรอาร์ซีนิกไตรออกไซด์ ออกมาเป็นสารละลายเพื่อรักษาสารพัดโรคชื่อว่า Fowler's solution และวางจำหน่ายด้วย
ต่อมาก็ได้มีการต่อยอด Fowler's solution ต่อไปอีกโด่งดังมากในปี 1910 Paul Elrlish ได้พัฒนายา Salvarsan ยาที่มีส่วนผสมหลักของสารหนูมาใช้รักษาซิฟิลิส อย่าลืมว่าตอนนั้นยังไม่มีการคิดค้นยาเพนนิซิลินครับ มีการใช้และพัฒนาสารหนูต่อมาเรื่อยๆ จนในช่วงปลายศตวรรษที่สิบแปด มีรายงานการใช้ Fowler's solution เพื่อลดปริมาณเซลเม็ดเลือดขาวในผู้ป่วยที่มีเม็ดเลือดขาวมากเกินปกติได้สำเร็จที่บอสตัน สหรัฐอเมริกา หนึ่งในสองคนนั้นคือมะเร็ง .!!! ไม่รู้ว่าเป็นพิษหรือเป็นประโยชน์จากสารหนูกันแน่
แต่อย่างไรก็ดี แสงสว่างปลายอุโมงค์ที่ขรุขระ ย่อมดีกว่ามืดมิดไร้หนทาง การพัฒนายาและการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังประสบความสำเร็จในปี 1930 เมื่อสามารถประยุกต์เอา Fowler's solution มาใช้รักษาได้ โดยพิษของสารหนูก็ไม่ได้มากมายจนถึงขั้นจะกีดกันออกจากแนวทางการรักษา
วันเวลาผ่านไป ความรู้และเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น การใช้ยาปฏิชีวนะที่ทรงประสิทธิภาพและปลอดภัยมากกว่าสารหนู เริ่มแพร่หลาย การใช้ยามะเร็งที่ตรงเป้าหมายมากขึ้นเริ่มมาทดแทนสารหนู ร่วมกับรายงานการเกิดพิษจากโรงงาน เหมืองแร่ น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนสารหนู ทำให้สารหนูได้รับความนิยมลดลง และแล้ว..หนูก็ถูกลืม
มาในปี 1970 งานวิจัยจากประเทศจีนเกี่ยวกับการใช้สารหนูในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด acute promyelocytoic leukemia พบว่าประสบความสำเร็จอย่างดีกับผู้ป่วยที่รักษาใหม่ รักษาหายแล้วเกิดซ้ำ หรือ ใช้เพียง ATO arsenic trioxide ในการรักษา ประเทศจีนนั้นมีการใช้สารหนูในยาพื้นบ้านมานานแล้ว แต่นี่เป็นงานวิจัยที่ประสบผลสำเร็จ อัตราการอยู่รอดจาก 65.6% พุ่งเป็น 84% โดยที่ 28%ของคนไข้ปลอดมะเร็งไปมากกว่า 10 ปีโดยไม่มีการกดไขกระดูก ไม่มีสารพิษที่อันตรายแต่อย่างใด
ต่อมาก็มีงานวิจัยในผู้ป่วยเพิ่งเริ่มรักษาคู่กับ all-trans retinoic acid ยามาตรฐานที่ใช้รักษาก็พบว่าได้ผลดี หรือใช้ต่อเนื่องในรายที่เป็นซ้ำก็ได้ผลดี ทางอย.จีนและอเมริกาก็รับรอง และปัจจุบันก็เป็นการรักษามาตรฐานสำหรับมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิด APL เรียบร้อยแล้ว
เชื่อว่าสารหนูไปจับกับจุดรับพิเศษกับการสลับยีน PML- RAR alpha เกิดเป็นการเจริญต่อเนื่องไปได้ จนพ้นระยะอันตรายที่จะทำให้เกิดลิ่มเลือดทั่งตัว DIC สามารถอ่านกลไกโดยละเอียดได้ที่นี่ครับ Blood Rev. 2010 Jul–Sep; 24(4-5): 191–199.
และอย่าลืม ถึงสารหนูจะมีภัย แต่ถ้าจริงใจก็คือแอดมิน...
เครดิตภาพ : worldsoccertalk.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น