08 มิถุนายน 2560

นักฆ่าหมายเลขหนึ่งของโลก malaria

สูดหายใจลึกๆ นั่งบนเก้าอี้นุ่มๆ หยิบเครื่องดื่มแก้วโปรดมาวางข้างๆ ผมจะพาท่านข้ามเวลาไปสัมผัส นักฆ่าหมายเลขหนึ่งของโลก

323 ปีก่อนคริสตกาล กษัตริย์หนุ่มผู้ยิ่งใหญ่อเล็กซานเดอร์มหาราช ถึงแก่กรรมในขณะที่อายุเพียง 33 ปี หนึ่งในข้อสันนิษฐานคือ เขาป่วยเป็นมาเลเรีย จากบันทึกที่เลือนลางระบุไข้สั่น สามวันต่อมาอาการหนัก ต่อมาเริ่มเพ้อคลั่งและถึงแก่ชีวิต ผู้รู้หลายท่านคิดว่านี่คือมาเลเรีย (cerebral malaria) แค่ความจริงก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันมากนัก แต่ตำนานไข้สั่น สามวันแย่ลง ก็ยังดำเนินต่อไป

ผ่านเข้ามาถึงสมัยโรมัน ไข้หนาวสั่น ตับม้ามโต และเสียชีวิตก็ยังดำเนินต่อไป ในยุคที่ศูนย์กลางของโลกอยู่ที่กรุงโรม พบว่า โรคนี้มักจะพบใกล้ๆแหล่งน้ำขัง และน้ำขังก็มียุงเยอะ ดูๆแล้วเข้าเค้าแล้ว แต่ยังก่อนยังไม่มีใครเชื่อมโยงความสัมพันธ์นี้ได้ เพราะตอนนี้ทฤษฎีที่ว่าเชื้อโรคเป็นตัวทำให้เกิดโรคติดเชื้อ ยังไม่เกิดเลย สมัยนั้นเชื่อว่าเกิดจากอากาศไม่ดี กลิ่นเหม็นของน้ำเสีย ตามคำศัพท์ malaria คือ mala-aria (รากศัพท์อิตาลี-โรมัน) โดย mal ที่แปลว่าผิดไปนี่แหละครับ เช่น malfunction malpractice .. aria ก็มาจากที่มาคำเดียวกับ air .. สรุปคืออากาศไม่ดี ทำให้มีไข้สูงสั่นสามวันแย่ เพ้อคลั่ง ตาย (บางเล่มเขียนตับม้ามโตเอาไว้ด้วย)

ในขณะที่ยุโรปคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางโลก หารู้ไม่ว่าที่อื่นๆก็ระบาด อาจจะระบาดมากกว่าด้วย แต่ว่าการบันทึกต่างๆ น้อยกว่ายุโรปมาก และข้อมูลที่เรารู้ว่าส่วนต่างๆของโลกมีการระบาดก็เพราะบันทึกของชาวยุโรปที่เดินทางไปตามที่ต่างๆนี่แหละครับ

มาที่แอฟริกา ที่นี่ก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับไข้มรณะนี่เหมือนกัน ตำนานว่าไข้ประหลาดนี้ลิงกอริลล่าเป็นสิ่งนำพามาสู่มนุษย์ และเดิมทีก็เชื่อว่าการระบาดอยู่ในเขตแอฟริกา

มาที่เอเชีย มีการบันทึกว่าพบไข้ชนิดนี้มาตั้งแต่ 2700 ปีก่อนคริสตกาล อย่าลืมว่าจีนมีประวัติศาสตร์นานมากครับ ที่น่าทึ่งมากคือบันทึกที่เขียน Huangchi Neijing ประมาณ 400 ปีก่อรคริสตกาลบันทึกเอาไว้ว่าเจ้าไข้ประเภทนี้.."หายได้" ด้วยการรักษาแบบสมุนไพรคือ ชิงเฮา หรือ โกฐจุฬาลัมพา(ในตำราแผนไทย) หรือ sweet wormwood ชื่อต่างๆนี้คือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า artemisia
ซึ่ง Artemisia คือต้นกำเนิดของยา artemisnin derivatives คือ artesunate ยาที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในการรักษา malaria ในยุคปัจจุบัน

และแสนมหัศจรรย์ที่คนนำมาทำเป็นยารักษามาเลเรียในยุคปัจจุบัน คือ คนจีนนั่นเอง ศาสตราจารย์ YouyouTu ได้รับรางวัลโนเบลในปี 2015 เพราะได้คิดอาวุธที่มาต่อสู้กับศัตรูอันดับหนึ่งขององค์การอนามัยโลก...มาเลเรีย

แต่ว่าก่อนที่จะพบ artemisia โลกได้รับความทุกข์ทรมานจากมาเลเรียอย่างมาก เพราะไม่รู้จะรักษาอย่างไร เกิดจากอะไร เป็นแล้วตายเรียบ จนกระทั่ง...

ต้นศตวรรษที 16 ยุโรปส่งเรือไปล่าอาณานิคมมากมาย นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Charles Marie de la Condamine ไปได้ยินเรื่องราวหนึ่งจากอเมริกาใต้ว่า เค้าท์เตสแห่งซินโคน ราชตระกูลของสเปนที่ได้อาณานิคมที่อเมริกาใต้ ซึ่งเป็นรุ่นที่สี่ ป่วยเป็นโรคนี้หายเพราะได้อาบน้ำที่ผสมด้วยเปลือกไม้ชนิดหนึ่ง (คิดว่าคงมีการดื่มเข้าไปบ้าง ไม่งั้นคงไม่หายแน่ๆ) เปลือกไม้นั้นคือเปลือกต้นควินนา Condamine วาดรูปและส่งตัวอย่างกลับมายุโรป หลังจากนั้นเหล่ามหาอำนาจของยุโรปก็มาตามล่าต้นนี้กันอย่างหนัก (อืม.. โฆษณาแบบนี้มันมีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 16 เลยนะเนี่ย ไม่ใช่เพิ่งมีในยุคเฟสบุ๊กนี้นะครับ)
กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สอง และโอรสของหลุยส์ที่สิบสี่ ก็หายจากเปลือกควินนา จนมาในปี 1742 นักวิทยาศาสตร์ที่ถือเป็นบิดาของการแจกแจงสิ่งมีชิวิต (Taxonomy) Carl Linnaeus ชาวสวีเดน ได้ตั้งชื่อเปลือกไม้นี้เป็นสากลว่า Chichona ตามราชวงศ์ Chinchon และยาที่สกัดมาจากเปลือกไม้นี้คือ "ควินิน" นั่นเอง

แต่ว่ามาเลเรียก็ยังระบาดอย่างรุนแรงมากขึ้นเพราะยังไม่ทราบต้นสายปลายเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริง แม้ต่อมาในยุคที่เราค้นพบ germ theory คือ ทฤษฎีการเกิดโรคติดเชื้อจากเชื้อโรค แต่เราไม่พบแบคทีเรียในโรคนี้เลย เช่นเคย จนกระทั่ง..

Chales Luise Alphonse Valeran แพทย์ทหารชาวฝรั่งเศสได้ใช้กล้องจุลทรรศน์มองดูเลือดของผู้ติดเชื้อนี้ และค้นพบคำตอบ ..!!!

เลือดของผู้ติดเชื้อจะมีสิ่งมีชีวิตรูปร่างพระจันทร์เสี้ยวและรูปร่างประหลาดมากมายที่ไม่พบในการติดเชื้ออื่นๆ และเมื่อใช้ควินินรักษาแล้ว คนไข้หายและเชื้อก็หายไป ครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายอาญา ..นี่คือตัวร้าย ถือเป็นการค้นพบปรสิตก่อโรคในคนที่ก่อโรคเป็นครั้งแรก ต่อมาเจ้าตัวนี้ก็คือ Plasmodium falciparum ปรสิตตัวก่อโรคมาเลเรียผู้ร้ายที่สำคัญที่สุดในยุคปัจจุบัน ..นิดนึง falciparum มาจาก falx คือ เป็นจันทร์เสี้ยว ถ้าใครจำได้เยื่อหุ้มสมองที่แบ่งสมองตรงกลางนั่นก็เป็นรูปจันทร์เสี้ยวที่ชื่อ falx cerebri และ parere ที่แปลว่า ให้กำเนิด แปลไทยว่า เกิดมาเบี้ยวๆ ตามรูปร่างระยะแกมมีตของมัน...

แต่ก็ยังไม่ครบ..มันเข้าตัวเราได้อย่างไร Valeran คิดว่ามาจากการดื่มน้ำสกปรก แต่ทำน้ำให้สะอาดก็ไม่เปลี่ยนการระบาด และเช่นเคย จนกระทั่ง...

นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ Ronald Ross พบว่าปรสิตในเลือดไปสู่อีกคนโดย.."ยุง" และนักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีก็พบว่ายุงที่นำเชื้อมาเลเรียคือ ยุง anopheles (แปลว่า ยุงไร้ค่า ก็จริงนะ ไร้ค่าแถมยังก่อโรคอีก) ยุงก้นปล่องของไทยนั่นแหละครับ ต่างจากยุงลายของไข้เลือดออก คือ ยุง Aedes

หลังจากนั้นก็เริ่มมาตรการคุมยุง สารที่ใช้แรกๆคือ DDT ต่อมายุงก็ทนดีดีที และ ดีดีทีก็เป็นพิษต่อคน ปัจจุบันที่ใช้ก็เป็นยาทากันยุง มากกว่า รวมทั้งการคิดค้นยาและสายพันธุ์ต่างๆทำให้การควบคุมและรักษามาเลเรียดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น chloroquine primaquine mefloquine tetracycline artesunate
แต่ว่า มาเลเรีย ยังเป็นปัญหาอันดับหนึ่งขององค์การอนามัยโลกนะครับ ปัจจุบันเริ่มมีงานวิจัยการตัดต่อพันธุกรรมยุง ไม่ให้มันแพร่เชื้อได้ น่าสนใจนะครับ

จริงๆแล้ว การป้องกันพื้นบ้านเราดีมากเลย และได้ผลชะงัดนัก ส่วนตัวคิดว่านี่คือนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนโลก ลดการติดเชื้อทางแมลงเป็นพาหะได้หลายชนิด การป้องกันนั้นคือ..."มุ้ง"..นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น