งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น..ผลเลือดที่ถูกแต่ผิด
การตรวจนับเม็ดเลือดสมบูรณ์ complete blood count ในอดีตนั้นเราใช้การเจาะเลือดปลายนิ้วมาไถฟิล์มเลือดบนกระจกสไลด์แล้วย้อมสี ตรวจนับเม็ดเลือด ดูความสมบูรณ์ ลักษณะต่างๆ ด้วยตา แต่ปัจจุบันเราใช้เครื่องมือที่เป็น automated คือนับ รายงาน วิเคราะห์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่สามารถทำงานได้เร็วกว่า ผิดพลาดน้อยกว่า แต่ทว่า...ก็ไม่ได้ไม่มีข้อพลาด
หนึ่งในข้อพลาดสำคัญที่พอพบได้บ้าง แต่อาจนำพาไปสู่การวินิจฉัยเพิ่มเติม การรักษาเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็นมากมาย คือภาวะเกล็ดเลือดต่ำ..ปลอม
หมายถึงปริมาณเกล็ดเลือดจริงๆในตัวปกติดี แต่พอเจาะมาตรวจนับแล้วมันต่ำ ..เอ๊ะ มันเป็นไปได้หรือ คืองี้ครับเครื่องมันจะจดจำขนาดและลักษณะของเกล็ดเลือดเอาไว้ด้วยเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ ถ้าเกล็ดเลือดนั้นมันเปลี่ยนแปลงรูปไป อาจจะใหญ่ขึ้น หรือมีการจับตัวเป็นก้อน เครื่องจะมองว่ามันไม่ใช่เกล็ดเลือด ก็เลยไม่นับว่าเป็น ทั้งๆที่มีปริมาณปรกติแต่จะรายงานแค่ตัวที่นับได้ ก็จะต่ำลงนั่นเอง
หนึ่งในสาเหตุที่เกิดได้คือ สาร EDTA คือสารกันเลือดแข็งที่เคลือบอยู่บนผิวหลอดทดลองจุกสีม่วงที่ใช้การเก็บเลือดตรวจ CBC นี่แหละครับ อาจไปทำปฏิกิริยากับภูมิคุ้มกันบางชนิดในร่างกายแล้วจับเกล็ดเลือดเป็นก้อน EDTA dependent platelet aggregation
ร่างกายคนๆนั้นมีภูมิคุ้มกันต่อตัวเอง ที่เมื่อเจอกับสาร EDTA ที่อุณหภูมิห้อง..ไม่ใช่อุณหภูมิกาย 37 องศา ... จึงจับกลุ่มเกล็ดเลือด เวลาเราเจาะเลือดออกมานอกตัว อุณหภูมิเลือดก็กลายเป็นอุณหภูมิห้อง ใส่หลอดจุกม่วง มีสาร EDTA ครบองค์ประกอบพอดี เกล็ดเลือดจับเป็นก้อนใหญ่ เครื่องไม่นับ กลายเป็นคนๆนั้นเกล็ดเลือดต่ำ
ภาวะนี้พบไม่มาก 0.1% โดยประมาณ แต่ถ้าเทียบปริมาณเลือดที่เจาะวันละเป็นหลายๆพัน ก็จะพบได้บ้าง ถ้าสงสัย คือ เอ..คนนี้ไม่น่าเกล็ดเลือดต่ำนะ วิธีตรวจสอบคือให้ดูฟิล์มเลือดครับ ..เห็นไหมการตรวจฟิล์มเลือดด้วยตา มีค่ามากมาย ว่าเกล็ดเลือดเกาะกลุ่มหรือไม่ โอเคถ้ามีเกาะกลุ่ม ก็ลองใช้หลอดเก็บเลือดที่ใช้สารต้านการแข็งตัวของเลือดตัวอื่น ที่ไม่ใช่ EDTA เช่น สารซิเตรต หรือ เฮปาริน ก็จะพบว่าเกล็ดเลือดเป็นปรกติ (ซิเตรตก็พบภาวะนี้ได้นะ)
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า แม้กระทั่งการตรวจ CBC ก็ไม่ใช่การตรวจ..รูทีน routine. ..ควรตรวจเมื่อสงสัยและคิดทบทวนว่าจะพบอะไรจากการตรวจ ถ้าพบจะแปลอย่างไร ถ้าไม่พบจะช่วยอะไร สัมพันธ์กับอาการและอาการแสดงหรือไม่ และก็ต้องทราบข้อจำกัดของมันด้วย
และการดูฟิล์มสเมียร์เลือดด้วยตา คือ สิ่งล้ำค่า ไม่มีเครื่องมือใดมาทดแทนได้ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น