17 มิถุนายน 2560

ตำราแพทย์ภาษาไทย สำหรับนักเรียน

ตอนที่แล้วเราแนะนำตำราภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนแพทย์ปี 4-6 ไปแล้ว คราวนี้เรามาดูตำราภาษาไทยบ้าง

ทำไมต้องอ่านตำราภาษาอังกฤษ ..อ่านภาษาไทยไม่ได้หรือ เป็นความจริงอย่างนึง ตำราภาษาไทยเกิดจากการรวบรวมข้อมูล วารสาร ตำราต่างๆ นำมาเค้นมาคั้นเอาแต่เนื้อความที่ดีๆ มารวมกันโดยผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เรียกว่าอ่านทีเดียวจบไม่ต้องอ่านหลายเล่ม แต่ว่าตำราอายุรศาสตร์ภาษาไทยในทุกวันนี้ ไม่ได้เรียงลำดับเรื่องที่ครบเหมือนตำราต่างประเทศครับ จะเป็นการรวบรวมหัวข้อต่างๆ ที่อาจารย์แต่ละท่านเขียนออกมาในการพิมพ์แต่ละครั้ง จึงเป็นการออกรายครั้งมากกว่ารายเรื่องครับ

การที่จะได้ครบถ้วนจึงต้องอ่านเยอะครับ เป็นสิ่งที่ดีนะครับแต่ว่าค่าหนังสือจะสูง ปกติก็เล่มละ 300-500 บาทครับ แนะนำให้แบ่งๆกันซื้อรวมๆกันอ่านจะได้ไม่เสียค่าใช้จ่ายมาก หรือใช้บริการห้องสมุดครับ ตำราภาษาไทยจะออกมาบ่อยและหลายสถาบัน ผมจะไม่แนะนำเล่มใดของใครเป็นพิเศษเพราะว่าทุกเล่มนั้น ทุกเรื่องนั้น อาจารย์แต่ละท่านเขียนดีมากอยู่แล้ว ขึ้นกับเราว่าจะชอบสำนวนใคร อ่านเล่มไหนแล้วรู้เรื่อง หัวเรื่องเล่มไหนมีครบคุ้มค่า

ข้อดีอย่างมากของตำราไทยคือ อาจารย์ที่แต่งแต่ละท่านทราบดีว่านักเรียนไทยรู้อะไร ไม่รู้อะไร จึงกลั่นเอาประสบการณ์ที่ตกผลึกของท่านใส่มาในตำราด้วย งานวิจัยของไทยก็ได้รับการใส่เข้ามาด้วย เพราะว่าการรักษาที่อ้างอิงต่างชาติบางครั้งผลในคนไทยอาจต่างออกไป หรือสถานการณ์โรคของไทยที่ต่างจากที่อื่น เช่น ตำราของสมาคมโรคติดเชื้อก็จะบอกวิธีรับมือเชื้อดื้อยาของบ้านเรา ตามยาที่มีในบ้านเรา หรือตำราของโรคทาลัสซีเมีย ที่พบมาในบ้านเราก็จะไม่พบจากตำราต่างประเทศ
ที่สำคัญคือ จะค่อนข้างทันสมัยครับ เพราะว่าออกบ่อยในหลายสถาบันเรียกว่าไปร้านหนังสือก็จะมีตำราทันสมัยออกมาตลอดเลย แต่ต้องติดตามเสมอนะครับ ไม่มีกำหนดอัพเดตเหมือนอย่างตำราต่างประเทศ
แล้วแนะนำอะไรบ้าง มาดูกัน

1. ตำราซักประวัติและตรวจร่างกาย แม้ว่าจะมีตำราเล่มหนา ภาพสี่สีจากต่างประเทศมากมาย แต่ตำราไทยอาจารย์จะสรุปเทคนิก วิธีการ ย่อให้เข้าใจ แยกให้ชัดแจ้ง และเขียนเป็นภาษาที่ง่ายๆ ลองไปอ่านตำราตรวจร่างกายต่างประเทศโดยเฉพาะทางประสาทวิทยานะครับ สับสนศัพท์มากๆ ถ้าตำราไทยจะเข้าใจเร็วขึ้นมาก อันนี้แนะนำครับ ส่วนของต่างประเทศผมแนะนำ Bate's เล่มใหญ่นะครับ

2. คู่มือฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นฉุกเฉิน วิกฤต เล่มไหนของสถาบันใดก็ได้ มักจะเป็นเล่มเล็กอ้วนๆ ใช้ได้จนทำงานจริงเลยครับ ที่ว่าดีมากเพราะรวบรวมสิ่งที่พบบ่อยในเวชปฏิบัติ และพบบ่อยในการสอบ !! ยาและการตรวจที่บ้านเรามีจริงๆ ไม่ใช่แค่นักเรียนแพทย์นะครับ คุณหมอที่จบแล้วก็ต้องทบทวนเสมอ เพราะปัญหาพวกนี้แหละที่พบบ่อยๆ อันนี้แนะนำควรซื้อเอาไว้หนึ่งเล่มครับ

3. CASE FILES ตัวอย่างเคส ถามตอบ อันนี้คือมาจากคนไข้จริง รวบรวมเคสที่เป็นต้นแบบหรือซับซ้อนมาให้เรียน ถ้าเป็นตำราไทยจะได้โรคที่เป็นปัญหาหรือความชุกมากในประเทศ ได้เห็นศาสตร์และศิลป์ของการรักษาจริงๆ อันนี้อ่านเพิ่มเป็นส่วนเสริมครับ

4. ตระกูล ทันยุค คุ้มค่า พบบ่อย อันนี้อัพเดตบ่อย อาจารย์หลายท่าน เลือกอ่านได้ตามเรื่องที่สนใจ ไม่แนะนำซื้อครบทุกเล่มนะครับ สิ้นเปลืองมาก เลือกเล่มที่สนใจ ครบสำหรับเรา แลกอ่านกับเพื่อนๆได้ หรือหนังสือที่ออกมาประกอบงานประชุมก็จะทันสมัยมากครับ ความรู้ใหม่สุดๆ

5. คู่มือแพทย์เวร ตำราการตรวจผู้ป่วยนอก คุ้มค่ามากใช้ได้จนออกเล่มใหม่ เป็นโรคที่พบบ่อยๆของบ้านเราครับ มีครบทุกกองทุกแผนก

ซื้อได้จากที่ไหน แน่นอนซีเอ็ด นายอินทร์ ไม่มีแน่ๆ ที่มีมากก็ศูนย์จุฬาฯ หรือ ร้านพีบีทั้งสองสาขา มักจะมีโปรโมชั่นมาเป็นประจำหรือจะสั่งออนไลน์ก็ได้ครับ แต่แปลกว่าแม้หนังสือจะอยู่นานหรือพิมพ์ใหม่ดันขึ้นมา ราคาไม่ค่อยตกครับ
หนังสือมือสองกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีครับ ไม่รู้ไปอยู่ไหนหมด นานๆผมจะพบสักครั้ง แต่ก็เก่าชนิดนำมาใช้ในยุคปัจจุบันไม่ได้แล้ว

หนังสืออีกกลุ่มคือเจาะลึกเฉพาะเรื่องเลย เช่น ฟอกเลือด มะเร็งเม็ดเลือด การส่องกล้อง พันธุกรรม อันนี้แล้วแต่สนใจครับ อยากรู้ลึกๆอันนี้คุ้มและดี

จริงๆถ้าผู้พิมพ์จำหน่ายมาอ่านก็อยากจะบอกว่า ราคาสูงมากๆครับ อยากให้ปรับลดราคาลงมาบ้างทำแบบ local หรือ international edition ของตำรามาตรฐานก็ได้ จะได้ซื้อหาง่ายหน่อย ส่งผ่านความรู้ได้มาก ...แต่อันนี้คือวัดจากตัวเองนะครับ ผมอ่านมากก็จริงแต่กว่าจะซื้อได้ก็คิดแล้วคิดอีก ว่าคุ้มค่า อยากอ่านทุกเล่ม รอยหยักในสมองเพียบ แต่กระเป๋าจะเรียบแบนแฟบ ไม่ไหวเหมือนกัน
ตอนนี้เราก็ปรับตัว แบ่งกันซื้อแชร์กันอ่าน ส่งผ่านให้รุ่นน้อง ส่วนอีบุ๊คภาษาไทยการแพทย์เท่าที่ผมทราบ ไม่มีครับ

แหม..ไม่อยากให้มาเห็นห้องสมุดส่วนตัวเลย ... มีแต่นิยายกับหนังสือประวัติศาสตร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น