16 มิถุนายน 2560

ลูกสนใจเรียนอายุรศาสตร์ อ่านเล่มไหนดี

   หลายคนถามไถ่เข้ามา .. ลูกจะขึ้นปี 4 ลูกสนใจเรียนอายุรศาสตร์ อ่านเล่มไหนดี  แหมจริงๆแล้วผมก็ไม่ใช่พวกเหรียญเงินเหรียญทอง เกียรตินิยมหนึ่งสองแต่อย่างใด ดังนั้นจะแนะนำตามประสบการณ์ที่เคยอ่านมามากแล้วกันนะครับ และลางเนื้อชอบลางยานะครับ แต่ละคนไม่เหมือนกัน ชอบแบบไหนอ่านแบบไหน ขอให้คนไข้ปลอดภัยและผู้เรียนมีความสุขก็พอ
  จริงๆแล้วแต่ละคณะ แต่ละสถาบันจะมีหนังสือแนะนำอยู่แล้วนะครับ และเอกสารประกอบการสอนต่างๆ ที่อาจารย์สรุปมาให้อย่างดี อันนั้น "ต้อง" อ่านนะครับ 

  และเนื่องจากตำราแพทย์นั้นราคาไม่เบาเลย การจะลงทุนซื้อก็ต้องคุ้มค่าคุ้มทุนด้วย อย่าลืมว่าน้องๆยังไม่มีรายได้นะครับ ถึงแม้ว่าผู้ปกครองจะสามารถซื้อได้หลายเล่ม แต่ว่าเราควรฝึกใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและเหมาะกับเราครับ 
  ผมไม่สนับสนุนหนังสือถ่ายเอกสารนะครับ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆยกกำลังสาม ถ้าไม่มีกำลังซื้อจริงๆ ผมแนะนำห้องสมุดเลย มีครบมีทุกอย่าง มหาวิทยาลัย โรงเรียนแพทย์ สนับสนุนน้องๆเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ใช้ให้เป็น จะอ่านในห้องสมุด มีเป้าหมายค้น จะยืม ได้ทั้งนั้น บางคนมีเป้าหมายเป็นหมอสาขาอื่นๆ ก็คงไม่มาลงทุนในหนังสืออายุรกรรมเต็มตัวจริงไหมครับ

  หนังสือปัจจุบันนี้ผมแบ่งสองอย่างเลย อย่างแรกหนังสือเล่ม อย่างที่สองอีบุ๊ค ส่วนตัวผมนะครับเล่มไหนใช้เป็นคัมภีร์ใช้ประจำผมจะซื้อหนังสือเล่ม อื่นๆใส่อีบุ๊คเอา  ข้อดีของอีบุ๊คคือ ถูกกว่าครับไม่มีต้นทุนกระดาษ ลดโลกร้อน สามารถรวมได้ในเครื่องอ่านหนังสืออันเดียว ไม่หนักพกไปได้ทั้งโลก 
   สำหรับหนังสือแพทย์ผมไม่แนะนำเครื่องอ่านอีอิงค์ เช่น kindle, Nook เพราะไม่มีสีครับ และที่สำคัญหนังสือแพทย์ส่วนมากจะรองรับแพลตฟอร์มของแทบเล็ตครับ ไม่ว่าจะเป็นแอนดรอยด์ หรือ ไอโอเอส ผมเองจะสั่งจากอเมซอนครับ มีทุกเล่มบางทีเมืองไทยไม่มีก็หาได้ ราคาไม่แพง ซื้อแล้วไว้ใจเรื่องการจ่ายเงินได้ มีหนังสือหลายแบบทั้ง PDF, EPUB, AZW สามารถดาวน์โหลดแอป Amazon Kindle มาที่แทบเล็ตได้เลย

   เอา the top ก่อนเลย Harrison' Principle of Internal Medicine มีคำอธิบายเรื่องโรค เรื่องพยาธิกำเนิด ระบาดวิทยา อาการ การตรวจ การรักษาครบเครื่อง  เรียกว่าหลักของอายุรศาสตร์มีครบทีเดียว ระดับหลังปริญญาอันนี้จำเป็น ส่วนระดับปริญญาถ้าอ้านได้จะดีมาก ได้สามปีเลย (4940,5717)

  ตำราต่อมา Cecil's Medicine อ่านง่ายกว่า harrison เล็กน้อย คำอธิบายเรื่องพยาธิกำเนิด กลไก น้อยกว่า แต่จะมีสีสัน แบ่งส่วนให้จำ ส่วนไปใช้ที่ชัดเจน นิยมอ้างอิงน้อยกว่า Harrison ...แต่ผมว่าเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนมาก (5700,4323)

  ต่อมาก็ยอดฮิตของฝั่งอาเซียน ในระดับเดียวกันคือ Kumar Clinical Medicine (2120,2389) และDavidson's Pricciple and Practice of Medicine (2890+web access,1624) ทั้งสองเล่มนี้จริงๆเหมาะกับนักเรียนแพทย์ที่เพิ่งเริ่มสัมผัสอายุรศาสตร์จริงๆ  เนื้อหาสนุกกระชับ แต่เป็น point เป็นบล็อกช่วยจำ ตัวอย่างเคส ไม่มากไม่ลึกในรายละเอียดเหมือน Harrison บางทีเจอละเอียดหนักๆมากๆ จะจับจุดไม่ได้และตบะแตก ถ้าอ่าน cecil หรือ kumar หรือ davidson จนเข้าใจภาพรวม (จริงๆถ้าเข้าใจนี่สอบบอร์ดได้เลยนะ) แล้วไปแกะรายละเอียดเติมเติมในแฮรริสัน หรือ ลึกกว่านั้นได้

  ทั้งสี่เล่มที่จัดมาให้ถือว่าซื้อรอบเดียวคุ้มไปสามปี อ่านต่อได้อีกจนมาเรียนเลย ใช้ในชีวิตจริงก็ได้  อีกเล่มที่จะออกแนวใช้จริง การรักษาจริง เหมาะกับใช้งานมากกว่าอ่านสอบคือ Current Medical Diagnosis and Treatment 56th (2915,1956) ออกอัพเดตบ่อย เปิดง่าย มีครบทุกโรคแต่สั้นๆ

  ต่อมาคู่มือ  เอาไว้ใช้เวลาราวด์วอร์ด เปิดตอนเรียนกลุ่มย่อย อ่านทวน จะเป็นเล่มเล็กๆพกพาได้ แต่ก็ต้องเข้าใจว่าจะเป็นแค่สรุปสั้นๆ มักจะไม่มีการอธิบายในเชิงกลไก เชิงพยาธิกำเนิด เป็นประวัติ ตรวจร่างกาย การตรวจเพิ่ม การรักษา การแบ่งกลุ่มโรค พยากรณ์โรค ...ไม่สามารถใช้อ่านเพื่อความเข้าใจได้นะครับ หรือถ้าใครอ่านเล่มใหญ่เข้าใจแล้วมาทบทวนได้ครับ ที่แนะนำก็

  Washinton's Manual of Medical Therapeutics เป็นหลักการรักษาครับ อธิบายสั้นๆ อันนี้นี่ใช้เรียนก็ได้ พกไปทำงานจริงก็ได้  ผมใช้อันนี้แหละครับ คิดว่าพกเล่มนี้น่าจะไปหากินได้ทั่วโลกแหละ ไม่ตายง่ายๆ (2610,1681)

  Pocket Medicine อันนี้เรียกว่าเป็นสรุปเป็นข้อๆ ของเนื้อหาเลย ไม่ค่อยมีคำอธิบาย ต้องเข้าใจระดับหนึ่งก่อนนะครับ เหมาะกับการใช้ทำงานมากกว่าเรียน ยกเว้นคนที่อ่านเข้าใจแล้วครับ (5th 1150, 6th 1543)

  Oxford, Harrison, Davidson, Kumar มีแบบที่เป็นคู่มือที่สรุปจากเล่มใหญ่มา แต่ทริกนะครับ ถ้าซื้อเล่มเดียวกันก็ได้เนื้อหาเหมือนกัน ในกรณีอยากซื้อ แนะนำต่างเล่มกันครับ ส่วนตัวคิดว่าถ้ามีเล่มใหญ่แล้ว ไม่ต้องซื้อเล่มเล็กก็ได้ครับ
  กลุ่มหนังสือแบบนี้ก็จะมี resident readiness, survival guide, short note อ่านเสริมได้ครับ ไว้เปิดช่วยจำ..ย้ำ ไม่สามารถใช้เรียนเพื่อเข้าใจและอ้างอิงได้

   คู่มือที่แนะนำคือ Gomella Scut Monkey เล่มนี้จะแนะนำวิธีการเขียนคำสั่ง การราวด์ การทำหัตถการ การทำแล็บ การใช้เลือด การผ่าตัด สารน้ำ ฯลฯ การแปลผลแล็บ คู่มือยาย่อๆ ค่าผลเลือดผลต่างๆ และการแปลสั้นๆ กราฟอ้างอิง ตารางพัฒนาการเด็ก เรียกว่าเล่มเดียวใข้ได้ทุกวอร์ดทุกกอง ตั้งแต่ปีสี่ถึงหก 
   คู่มือยา เอาไว้ใช้ตอนปีหกจะดีครับ แต่ว่าเดี๋ยวนี้โหลดฟรีใส่โทรศัพท์ได้ medscape, lexicomp, epocrates หรือต่อสี่จี กดกูเกิ้ล กดวิกิพีเดียได้เลย ข้อมูลออนไลน์ต้องพิจารณามากนะครับ อย่าเพิ่งเชื่อทันที

  ราคาที่เขียนมาให้อ้างอิงจากราคาศูนย์หนังสือจุฬาและอีบุ๊คของอเมซอนครับตัวหน้าคือหนังสือเล่ม ตัวหลังคือ อีบุ๊ค ราคาอาจเปลี่ยนแปลงได้ครับเวลามีโปรโมชั่นต่างๆ แนะนำซื้อพิมพ์ครั้งใหม่ที่สุดเท่าที่จะทำได้เพราะเนื้อหาทางการแพทย์เปลี่ยนบ่อยครับ โดยทั่วไปก็เปลี่ยนทุกห้าปี ระหว่าง 1500 วันที่รอพิมพ์ใหม่ เก็บเงินวันละสามถึงสี่บาท ก็พอจะซื้อเล่มใหม่ได้ครับ 
  ซื้อแล้วอ่านให้คุ้ม รับรองเก่งขึ้นแน่ๆ ตัวแอดมินเองเป็นคนที่ไม่ไบรท์ สอบได้กลางๆ (ระหว่างที่หนึ่งกับที่สอง..ขำๆๆ อย่าซีเรียส) อาศัยอ่านมาก จดย่อยเนื้อหา อ่านเพิ่ม เปรียบเทียบหลายเล่ม จินตนาการตามเนื้อหาไม่อ่านผ่านๆ หาวิธีช่วยจำ อ่านวารสารเพิ่ม ก็พอไปวัดไปวากับเขาได้บ้างนะครับ เรียกว่า ไม่หล่อ แต่ ถึกถึน 

  หนังสือภาษาไทย .. เราจะว่ากันต่อไป

   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น