วันนี้เรามาฟังเรื่องราวของการศึกษาทดลองทางการแพทย์ clinical trials ที่ถือกันว่าเป็นครั้งแรกของโลก
(รงบันดาลใจจากเลคเชอร์ของ Prof. Thomas G. Tape)
ในยุคปี 1700-1800 ร้อยปีที่ยิ่งใหญ่ของกองเรืออังกฤษ กับลัทธิล่าอาณานิคม ประเทศที่ได้ชื่อว่าดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่ตกดิน เพราะอาณานิคมมีอยู่ทั่วโลก ตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ส่งทั้งเรือสินค้า เรือสำรวจ และเรือรบไปพร้อมๆกัน เป็นต้นทางแห่งนโยบายเรือปืน แต่ทว่ากองเรืออังกฤษกลับต้องผจญกับศัตรูที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นั่นคือ โรคลักปิดลักเปิด โรคเลือดออกตามไรฟัน
ตามประวัติศาสตร์ที่บันทึกใน encyclopedia britainica ระบุว่าสูญเสียไพร่พลไปเกือบล้านจากโรคนี้ ยุคนั้นเชื่อว่า สุขอนามัยที่ไม่ดี อากาศที่ไม่ถ่ายเทโดยรวม อาหารที่ไม่ดี ทำให้พลเรือป่วยเป็นโรคนี้ เพราะพอกลับมาแผ่นดินกลับไม่เป็นโรคนี้ แต่ตอนนั้นยังไม่มีใครค้นพบสาเหตุที่แท้จริง และยังไม่ค้นพบวิธีรักษา
คุณหมอเจมส์ ลินด์ นายแพทย์หนุ่มจบการศึกษาด้านศัลยกรรมตอนอายุ 22 จากมหาวิทยาลัยแพทย์เอดินเบอระห์ คุณหมอก็มุ่งหน้าเข้ากองทัพเรืออันยิ่งใหญ่ของอังกฤษ เก้าปีต่อมาในขณะที่คุณหมอออกเรือไปกับ..เรือดำน้ำ..เอ้ย เรือ salisbury ในปี 1747 คุณหมอได้ทำการศึกษาที่เรียกว่า clinical trial เป็นครั้งแรก
โดยการนำกลาสีเรือที่ป่วยเป็นโรคลักปิดลักเปิด จำนวน 12 คน ที่ดูแล้วการใช้ชีวิต การกินอยู่ สภาพแวดล้อมเหมือนๆกัน (แน่นอนล่ะ..เพราะว่าอยู่บนเรือ) มาแบ่งกลุ่มหกกลุ่มกลุ่มละ 2 คน โดยที่ทุกอย่างเหมือนกันยกเว้นสูตรพิเศษที่ให้แต่ละกลุ่ม เป็นเวลา 14 วัน ดังนี้ น้ำส้มสายชูหมัก, น้ำส้มสายชู, น้ำทะเล, ส้มและมะนาว, ครีมสมุนไพร, สารเคมีของกรดซัลฟุริก แล้วคุณหมอลินด์ก็จะเปรียบเทียบผลลัพธ์
ผลปรากฎว่า กลุ่มที่ได้ส้มและมะนาว มีการหายที่วิเศษกว่ากลุ่มอื่น นอกจากหายแล้วยังกลับมาทำงานได้ตั้งแต่วันที่หกของการศึกษา (เพราะว่าส้มและมะนาวหมดตั้งแต่วันที่หกครับ) ส่วนกลุ่มอื่นก็มีอัตราการหายและไม่หายเท่าๆกับที่เคยผ่านๆมา
เจมส์ ลินด์ สรุปว่า ส้มและมะนาวมีผลต่อการดีในการรักษาโรคลักปิดลักเปิด และแนะนำให้ใช้ส้มและมะนาวกับกลาสีเพื่อลดโรคนี้ งานวิจัยของลินด์ได้รับการพิมพ์ในอีก 6 ปีต่อมาหลังจากที่เข้าออกจากกองทัพมาเรียนต่อในเมือง
แต่ทว่า ทางราชนาวีอังกฤษแนะนำการใช้ส้มและมะนาว ในการป้องกันโรคลักปิดลักเปิด ในอีกเกือบห้าสิบปีให้หลัง และคำอธิบายว่าทำไมโรคลักปิดลักเปิดเกิดจากการขาดวิตามินซี ได้อธิบายเป็นเรื่องราวตีพิมพ์ในปี 1912 อีกเกือบสองร้อยปีถัดมา
เรื่องราวของการศึกษา clinical trial การศึกษาแรก และมีเหตุผลว่าทำไมแม้มีการศึกษาที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ แต่ถ้าเหตุมันไม่ make sense ก็อาจไม่มีคนยอมรับ และบางการศึกษาที่ make sense แต่เหตุผลเชิงประจักษ์ไม่สนับสนุน ทฤษฎีนั่นก็โค่นได้เหมือนกัน เป็นสิ่งที่ Prof.Thomas G. Tape บรรยายเกี่ยวกับปรัชญาเรื่องช่องว่างของงานวิจัยกับแนวทางการปฏิบัติ ในงานประชุมราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยครั้งนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น