30 พฤษภาคม 2560

การป้องกันการติดเชื้อจากสายสวนหลอดเลือดที่ใช้ฟอกเลือด

น่าสนใจดี การป้องกันการติดเชื้อจากสายสวนหลอดเลือดที่ใช้ฟอกเลือด มีข้อมูลอะไรใหม่ๆบ้าง วารสาร intensive care medicine ลงบทความเมื่อสองสัปดาห์ก่อน (งงมาก ทำไมอีเมล์เพิ่งมา) เอามาเล่าให้ฟังแบบสรุป ฝากพี่น้องไอซียูนะครับ

1. อันนี้เราสนใจการใส่สายที่เรียกว่า dialysis catheter หรือคุ้นๆหูว่า double lumen ก็เพราะว่ามันมีสองสายสองรูเปิดนั่นเอง ใช้มาในไอซียูเพื่อช่วยคนไข้ไตวายเฉียบพลับ ดังนั้นจะเอาการศึกษาที่ศึกษาในคนไตวายเรื้อรังและใช้สายสวนคนละแบบ เอามาประยุกต์ใช้ไม่ได้

2. อุปกรณ์การใส่ ข้อมูลออกมาว่า สายที่ใส่แบบซ่อนไว้ใต้ผิวหนัง (Tunnelled) มีอัตราการติดเชื้อน้อยกว่าอย่างชัดเจน แต่สายแบบนี้มักใส่ในระยะยาว ใส่ยาก ในระยะสั้นๆเรานิยมสายปกติมากกว่า บวกลบคูณหารแล้วในแง่สายที่จะใส่ ยังต้องรอดูข้อมูลเพิ่ม

3. สายที่เคลือบเฮปาริน หรือ เคลือบยาฆ่าเชื้อ minocycline-rifampicin ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าลดการติดเชื้อลง

4. ตำแหน่งที่ใส่ ที่คอด้านขวา (right internal jugular vein) มีอัตราการติดเชื้อต่ำสุด ส่วนถ้าทำไม่ได้ให้ใส่ที่ขาหนีบได้ แต่อัตราการติดเชื้อก็จะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะคนอ้วน ส่วนที่ไหปราร้าเอาไว้สุดท้าย

5. การใช้เครื่องอัลตร้าซาวนด์ช่วยใส่สาย ลดโอกาสการติดเชื้อชัดเจน เพิ่มโอกาสสำเร็จด้วย

6. เปลี่ยนสาย ให้ใส่ใหม่ด้วยอุปกรณ์ใหม่ ลดโอกาสการติดเชื้อ การใส่สายลวดตัวนำเข้าไปใหม่แล้วเปลี่ยนจะเพิ่มโอกาสการติดเชื้อ

7. ใช้ 2%chlorhexidine-alcohol ลดการติดเชื้อได้มากกว่า povidone iodine

8. จุกปิดสายรุ่นใหม่ๆจะป้องกันการติดเชื้อได้มากกว่ารุ่นเก่า ราคาสายรุ่นใหม่ๆก็ถูกลง

9. ใช้เทคนิคการใส่สายและการดูแลสายแบบปลอดเชื้อจะลดการติดเชื้อที่สายได้

10. การทำแผลแนะนำใช้ chlorhexidine และแนะนำใช้แผ่นปิดแบบใส ลดการติดเชื้อได้มากกว่าการใช้ povidone iodine

11. เมื่อเลิกใช้ ให้รีบถอดออก ลดการติดเชื้อได้

12. ถึงแม้จะได้ไปเล่นยูฟ่าแชมป์เปี้ยนลีกเหมือนกัน แต่อันดับในลีกเป็นสิ่งที่ชี้ชัดว่า ลิเวอร์พูล อันดับสี่ มีดีกว่าบางทีมที่ได้อันดับหก อย่างชัดเจน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น