28 พฤษภาคม 2560

เส้นทางชีวิตหมอยุคนี้

วันอาทิตย์ ตามสัญญา ไม่มีวิชาการ วันนี้เราจะมาดูว่าเส้นทางชีวิตหมอยุคนี้เดินอย่างไร..เพื่อที่ได้เราจะได้เข้าใจดราม่าในช่วงนี้

เมื่อหมอหนึ่งคนจบออกมา ส่วนมากจะไปอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขครับ ในปีแรกเราจะเรียกว่าแพทย์เพิ่มพูนทักษะ เพราะว่าในหกปีนั้นเราไม่ใช่แพทย์ต้องปฏิบัติงานภายใต้อาจารย์ แต่เมื่อจบออกมาก็จะได้วุฒิ แพทยศาสตร์บัณฑิต มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ปฏิบัติงานด้วยวิจารณญาณของตัวเอง ในปีแรกจะได้อยู่รพ.ทั่วไป รพ.ศูนย์ ที่จะมีผู้ป่วยมาก หลากหลายแบบ มีแพทย์รุ่นพี่เก่งๆมีประสบการณ์คอยให้คำแนะนำ มีชื่อเรียกเก๋ๆว่า อินเทิร์น แปลเป็นไทยว่า ทำงานแลกประสบการณ์ เงินเป็นตัวแถมครับ

หลังจากนั้น..เราก็จะกระจายตัวกันไปอยู่กับรพ.ต่างๆน้อยใหญ่ทั่วประเทศ ไปเป็นหมอตรวจผู้ป่วยจริง รับผิดชอบปริมาณมากมายมหาศาล ตรวจทุกอย่าง อยู่เวร ประสบการณ์ความสามารถต่างๆต้องมา ปรับเข้ากับสภาพความเป็นจริง เงินที่จำกัด ความคาดหวังที่มากขึ้น

ส่วนน้อยก็จะเข้าสู่ระบบการศึกษาเช่น เข้าสู่ภาควิชาปรีคลินิก เพื่อช่วยสอน ฝึกสอน ฝึกทำวิจัย เดินทางไปสายอาจารย์ต่อไป บางส่วนก็เพิ่มพูนทักษะแล้วต่อด้วยการฝึกเฉพาะทางไปเลย เรียกว่าแพทย์พี่เลี้ยง แพทย์ใช้ทุน อันนี้ก็จะอยู่กับหน่วยงานเฉพาะสาขาไปเลยไม่ต้องออกไปรพ.ชุมชน พอครบกำหนดเวลาก็ไปสอบเป็นผู้เชี่ยวชาญได้
วัตถุประสงค์เพื่อ สร้างอาจารย์แพทย์ ผู้วิจัย หรือคนที่มาช่วยสอนรุ่นน้องๆถัดไปนั่นเอง

หลังจากเราปฏิบัติงานครบสามปี ก็เป็นถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่แพทยสภากำหนดว่าต้องปฏิบัติงานก่อนจะไปเข้ารับการศึกษาเฉพาะด้านหรือที่เรียกว่า บอร์ด ต่อไป ..อันนี้ไม่ได้บังคับนะครับ แต่ว่าปัจจุบันก็ถือเป็นสิ่งที่จะไปต่อกัน ก็แล้วแต่คน ความชอบ ความถนัด หรือเลือกอยากจะใช้ชีวิตแบบใด ก็เลือกสาขากันตอนนี้
บางส่วนก็เลือกไม่ไปเรียนต่อก็มีนะครับ มีความสุขกับชีวิตที่ดีครอบครัว มีอิสระทางการเงิน ลงทุนในหุ้น เปิดคลินิก ได้ดูแลพ่อแม่ ดีจัง... หรือบางคนเปลี่ยนอาชีพก็มี ไปเปิดร้านอาหาร ทำธุรกิจขายตรง ก็แล้วแต่ทางชีวิต

การเรียนต่อก็จะได้วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และยังสามารถเรียนเพิ่มเติมไปอีกในสาขาที่สนใจหรือคิดว่าจะได้ประโยชน์ มาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาการแพทย์บ้านเรา ผมยกตัวอย่าง อายุรแพทย์ ไปเรียนต่ออายุรแพทย์โรคหัวใจ ไปเรียนต่อ อายุรแพทย์โรคหัวใจด้านไฟฟ้าหัวใจ ครับ จบมาก็มารักษาและพัฒนางานด้านไฟฟ้าหัวใจ การเรียนก็จะเป็นการเรียนแนวลึกมากกว่าทางกว้าง เป็นความจริงว่าสิ่งที่ไม่ได้ใช้ก็จะเรื้อราไป ต้องหมั่นทบทวน ขอยกตัวอย่างแอดแล้วกัน สมัยก่อนถือว่าเป็นคนที่เย็บแผลสวยมาก คิดอยากเรียนศัลยแพทย์ตกแต่งเลยนะครับ แต่ตอนนี้ให้ไปเย็บแผลก็ทำได้ แต่อย่ามาถามหาความสวยงามนะครับ

จะเห็นว่าการเรียนสูงมากๆนั้นคือ ลงลึกมาก อธิบายโรคและรักษาได้แม่นยำ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะรักษาเก่งกว่าคนที่ไม่ได้เรียนมานะครับ เพราะการรักษาคนไม่ได้อยู่ที่อ่านจบรู้เยอะ แต่อยู่ที่กระบวนการคิดและการประยุกต์ใช้ศิลปะด้วย

หลังจากจบแล้ว ผมขอแยกแพทย์ออกเป็นสองงาน คือ งานวิชาการ และงานบริการ ไม่มีใครเก่งกว่ากันแค่ทำงานต่างกัน งานวิชาการส่วนมากอยู่ในโรงเรียนแพทย์ ต้องสอนหมอรุ่นใหม่ ต้องมีการทำวิจัย พัฒนาความรู้ใหม่ๆ หรือประยุกต์ใช้ความรู้จากต่างประเทศมาใช้กับคนไทย เพราะกลุ่มนี้มีเงินทุน มีเวลา มีคนสนับสนุน ก็จะผลิตและเผยแพร่ความรู้ให้หมอภาคบริการนำไปใช้ ก็ต้องยกให้ว่าอาจจะตรวจคนไข้น้อยกว่า งานตรวจเบากว่า แต่งานวิจัย งานตำรา งานเผยแพร่ มากกว่า

ส่วนงานบริการ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน งานหลักคือรักษาและป้องกันโรคครับ รับผิดชอบคนไข้มากกว่า ในทุกรูปแบบ นำเอาข้อมูลการรักษาและความรู้จากภาควิชาการมาใช้ เวลาในการอ่านวารสาร ทำวิจัย หรือย่อยข้อมูลน้อยกว่าภาควิชาการ แต่จะรับเอาผลงานมาปฏิบัติ
จะเห็นว่าสองงานนี้ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน การดูแลและการพัฒนาจึงเดินหน้าได้ ถ้าต่างฝ่ายต่างตบมือข้างเดียว ก็จะลงเหวนะครับ

บางส่วนของแพทย์ก็จะไปทำงานด้านบริหารและวางแผน มักจะเป็นกลุ่มที่ผ่านงานบริการมาอย่างโชกโชน รับรู้สถานการณ์และปัญหา จึงมาทำงานเชิงระบบแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้คนรุ่นหลังต้องมาประสบปัญหาเดิมๆ และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้ทั้งเพื่อนร่วมงานและคนไข้

จะเห็นว่าแต่ละคน แต่ละบทบาท ต่างมีความสำคัญและต้องทำงานเพื่อกันและกัน ไม่สามารถนำงานของตนไปเทียบกับคนอื่นและสถานการณ์อื่นๆได้ ความสมดุลนี้จะคงอยู่ได้ถ้าไม่มีคำว่า ...อคติ...

ส่วนแพทย์ที่หงอยๆเหงาๆ วิชาการบ้าง วิชาเกินเยอะ อ่านหนังสือดูหนังมาก ข้อมูลก็มาผสมปนเปออกมาเป็นนิยายประหลาดๆ แพทย์พวกนี้จะมาเป็น..แอดมินเพจ..ครับ

2 ความคิดเห็น:

  1. แล้วทำไมหมอเลือกที่จะเรียนหมอล่ะคะ มีแรงบรรดาลใจจากอะไรรึป่าว

    ตอบลบ