อัษฎางค์ ชื่อนี้คงอยู่ในความทรงจำของใครหลายๆคน วันนี้ผมจะพาย้อนอดีตไปที่...อัษฎางค์
ตึกสูงตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ตักศิลาของวิชาอายุรศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ทุกคนที่เคยผ่านน่าจะยังจดจำมนต์ขลังของตึกอัษฎางค์ได้อย่างดี ผมจะพาขึ้นไปยังวอร์ดผู้ป่วยสามัญ ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์
อัษฎางค์แต่ละชั้นแบ่งออกเป็นฝั่งเหนือและฝั่งใต้ เพื่อให้ผู้ป่วยชายและหญิงแยกกัน เมื่อเราได้เข้าไปในวอร์ด ก็จะพบประตูห้องพักแพทย์ประจำบ้าน เพราะที่นี่แพทย์ประจำบ้าน คือ ประจำบ้านจริงๆ เฝ้าวอร์ดครับ โดยเฉพาะเวลากลางคืนนอนที่นี่ ติดๆกันจะเป็นห้องประชุมย่อยประจำวอร์ด สำหรับนักเรียนแพทย์ไว้เรียน อาจารย์นัดมาสอน แพทย์ประจำบ้านสรุปชาร์ต สอนน้อง หรือเอาไว้ทำสัมมนาย่อย ก็ติดแอร์มีโต๊ะกลม คอมพิวเตอร์และกองหนังสือทั้งหลาย
มองตรงเข้าไป เป็นห้องแล็บย่อยในวอร์ด เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน ต่อยอด ได้ทำแล็บพื้นฐานข้างเตียงกันที่นี่ ย้อมเสมหะ ย้อมสเมียร์เลือด ตรวจปัสสาวะ ปั่นดูผลความเข้มข้นเลือด ตรวจนับน้ำไขสันหลัง เรียกว่ามีคนไข้ปั๊บ ทำได้เลย ตัดสินได้เลย ต้องฝึกทำให้เป็น
ลึกเข้ามาด้านหน้าก่อนไปถึงส่วนของผู้ป่วย ก็จะเป็นเค้าท์เตอร์พยาบาล มีครบทุกอย่างที่คุณพยาบาลพึงจะมี และช่วยสอนนักเรียนแพทย์ นักเรียนพยาบาล ช่วยดูแลคนไข้เป็นอย่างดี และเป็นพื้นที่เขียนชื่อผู้ป่วย ชื่อแพทย์ ที่เขียนบันทึกของหมอๆทั้งหลาย รามทั้งเป็นบล็อกอ่านฟิล์มขนาดใหญ่ คือ ต่อกัน 6 บล็อก เพื่อติดฟิล์มได้ต่อเนื่อง ผ่านเข้าไปก็จะเห็นกลุ่มหมอรุมดูฟิล์มและปรึกษากันโขมงโฉงเฉง
สมัยนี้น่าจะเริ่มเปลี่ยนเป็นการดูฟิล์มผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์กันหมดแล้วครับ สมัยผมอยู่ ยังอ่านฟิล์มแผ่นครับ
ติดๆกันก็จะมีโต๊ะคอมพิวเตอร์สำหรับงานทะเบียน ตามผลเลือด ก่อนที่จะราวด์เย็นหรือราวน์เช้ามากดดูผลตรงนี้ เร็วกว่าที่จะพิมพ์ออกมาครับ และวางรถราวน์...
รถราวน์คืออะไร..คือรถเข็นโลหะ มีที่แขวนชาร์ตคนไข้ 12-14 เตียง ด้านล่างบรรจุอุปกรณ์การตรวจเช่นเครื่องวัดความดัน ไม้เคาะเข่า หูฟัง เครื่องวัดปริมาณลมจากเครื่องช่วยหายใจ มีที่รองเขียนพับได้ ตัวรถเข็นได้แต่ล้อมักจะไม่ค่อยดีทุกตัว
เอาละเราถัดเข้าไปในโซนคนไข้บ้าง หกเตียงแรกก่อน สองข้างซ้ายสี่ขวาสอง มีทางเดินตรงกลาง เป็นส่วนคนไข้อาการหนัก ต้องดูแลใกล้ชิด เช่นต้องวัดสัญญาณชีพบ่อยๆ ใส่เครื่องช่วยหายใจ จึงออกแบบให้อยู่ใกล้หมอพยาบาลครับ เราจะใช้เวลาตรงนี้นานหน่อย เพราะต้องดูแลหลายๆปัญหา
ในอดีตก็จะมีเครื่องช่วยหายใจ..ที่ควรอยู่ในไอซียู..แต่ไอซียูก็ไม่พอ เครื่องจึงมาติดตั้งแถวๆหกเตียงนี้ สมัยนี้คงเป็นเครื่องช่วยหายใจทร่มีไมโครโปรเซสเซอร์ควบคุมหมดแล้ว สมัยผมอยู่เป็นเครื่องช่วยหายใจที่ใช้เครื่องมือเชิงกลเท่านั้น ใช้แรงลม ไม่มีไฟฟ้าเรียกว่าเครื่อง Bird's ventilator เครื่องสีเขียวๆเล็กๆ ที่ต้องวัดค่าแรงลมเอง ไม่มีจอ ไม่มีกราฟ ..ใครรู้จักยกมือ
ถัดเข้าไปล็อกที่สอง ก็จะมีเตียงแน่นขึ้น เป็นกลุ่มคนไข้ที่ไม่หนักมากเหมือนล็อกแรก มักจะพอคุยได้ มีการเปลี่ยนแปลงการรักษาบ่อย ก็เลยมาอยู่ตรงกลาง
ต่อไปก็ล็อกสามจะกว้างขึ้น มีคนไข้มากที่สุด ก็เป็นกลุ่มคนไข้ที่ค่อนข้างนาน เช่น ต้องให้ยาหลายวัน นัดมาให้ยาเคมี ทำการตรวจพิเศษ ที่โรคค่อนข้างสงบดี ก็จะถอยลงมาเป็นโซนนี้ การราวน์วอร์ดสองโซนหลังจะไม่ดุเดือดเหมือนโซนแรก แต่ก็จะได้ความครบถ้วน รายละเอียดเชิงลึก มากขึ้น
หลังวอร์ดเป็นที่เก็บของ พื้นที่ซักล้างและห้องน้ำผู้ป่วย
เราจะราวน์กันหนาแน่น วอร์ดหนึ่งจะแบ่งคนไข้เป็นสองสายงาน แต่ละสายงานก็เป็นหนึ่งทีม เวลาตรวจทีก็ไปกันเป็นกลุ่มตั้งแต่นักเรียนแพทย์ปีสี่จนถึงแพทย์ประจำบ้านปีสาม รายงานผู้ป่วย ปรึกษาตามลำดับขั้น สอนข้างเตียง
ในพื้นที่เล็กๆในวอร์ดนี้ ก็จะมีแพทย์ประจำหน่วยย่อยเช่น โรคหัวใจ โรคข้อ โรคทางเดินอาหาร..มารับปรึกษาอยู่ตลอด มาพร้อมกันบ้าง ไม่พร้อมบ้าง มาพร้อมกันก็วุ่นวายทีเดียว เจ้าของวอร์ดก็วิ่งหน้าวิ่งหลัง สายไหนทำงานเป็นทีมได้ก็เบาแรงหน่อย สายไหนคนน้อยก็เหนื่อยหน่อย
การทำงานแบบนี้ สภาพแวดล้อมแบบนี้เกิดตลอดทั้งวันและยังดำเนินอยู่ในตอนค่ำ จนกลางคืนก็จะเป็นหน้าที่หมอเวร ในช่วงราวด์เย็นก็จะมีหมอที่อยู่เวรในชั้นนั้นๆ มารับเวรคือรับทราบผู้ป่วยรายที่หนักๆ ต้องดูแลและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดเวลากลางคืน
อากาศร้อนอบอ้าวตลอดปี..ไร้แอร์ มีแต่พัดลมและหน้าต่าง คนไข้ก็ร้อน ป่วย แต่ก็ยังใจดีเป็นอาจารย์ให้พวกหมอๆได้ฝึกซักประวัติ ตรวจร่างกาย ทำหัตถการ พี่ๆน้องๆพยาบาลและผู้ช่วยก็ทนร้อนทนอ้าว ช่วยเหลือคนไข้ทั้งวันทั้งคืน
อัษฎางค์จึงได้เป็นสนามฝึกวิชาที่ยิ่งใหญ่ ทั้งวิชาแพทย์ วิชาชีวิต วิชาบริหาร วิชาสัมพันธภาพ สำหรับอายุรแพทย์ศิริราช นักเรียนแพทย์ นักเรียนพยาบาลศิริราช มาแล้วหลายรุ่น หลายชั่วคน คราบเลือดคราบน้ำตา จิตวิญญาณ ได้หล่อหลอมให้ที่นี่คือหนึ่งใน สถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งสำหรับอายุรแพทย์ไทย ตลอดไป
รำลึกถึง...ตึกอัษฎางค์ โดยทุนจากพระราชมรดกของสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น