07 พฤศจิกายน 2559

แนวทางโรคลมชัก ปี 2559

เรื่องเด่นเมื่อวานนี้ เรื่องแรก #แนวทางการดูแลผู้ป่วยลมชักปี2016 เราจะปล่อยลิงค์ดาวน์โหลดอย่างเดียวก็ใช่ที่ ก็แนะนำกันพอหอมปากหอมคอ อีกเรื่อง ลิเวอร์พูลเป็นจ่าฝูง..อันนี้ไม่ต้องอธิบายนะ ผีแดงทั้งหลาย

http://thaiepilepsysociety.com/wp-content/uploads/2016/11/แนวทางเวชปฏิบัติโรคลมชักสำหรับแพทย์_2015.pdf

อย่าลืมอ่านคอมเม้นท์ ของ ศ.ดร. วิจิตรา ทัศนียกุล ด้านล่างด้วยนะครับ

  แนวทางฉบับนี้ออกมาดีมากเลยครับ แยกส่วนการวินิจฉัยและการรักษาที่ชัดเจน แผนภาพเข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน มีการรวบรวมการรักษาตามหลักฐานเชิงประจักษ์ให้เห็นชัดเจนมาก ต้องชื่นชมคนทำเลยครับละเอียดมาก แนวทางอ่านง่ายกว่าฉบับก่อนอย่างมาก และยังมีการดูแลโรคสำหรับคนท้อง ภาคผนวกที่ลงบัญชียาหลักแห่งชาติ
   แต่แนวทางคือแนวทางครับ แพทย์และบุคลากรต้องปรับเลือกใช้ให้เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีในแต่ละที่และส่งต่อให้เหมาะสม แนวทางนี้ได้เสนอแนวทางที่เป็นทางเลือกเอาไว้ให้เลือกใช้ได้ด้วย
  ผมไม่ได้กล่าวถึงการรักษาในเด็กนะครับ ใครสนใจให้อ่านเพิ่มได้

1. อธิบายการซักประวัติที่กระชับ บอกถึงอาการที่พบบ่อย และเชื่อมโยงไปถึงตำแหน่งของโรค และการตรวจร่างกายที่ครบทั้งของลมชักและโรคร่วม

2. การจัดแยกชนิด ตรงนี้สำคัญเพราะ อาการชักที่ต่างกันก็จะมีการพยากรณ์โรค และ มียาที่เลือกใช้ต่างกัน ในแนวทางฉบับนี้จึงอธิบายนิยาม และจุดเด่นของอาการชักแต่ละอย่างแบบละเอียด โดยใช้แนวทางปรับปรุงใหม่ของ international league against epilepsy ปี 2010 มีเทียบความแตกต่างอันเดิมด้วยนะ เด่นๆคือ cryptogenic ไม่มีแล้วนะครับ ใช้ unknown cause แทน

3.แนวทางการสืบค้น อันนี้ทีเด็ดเลยครับ ช่วยบอกว่าข้อบ่งชี้ใด ทำอะไร เมื่อไรจะส่งทำ EEG CT MRI LP เราจะได้ไม่สับสน ผู้ป่วยก็จะได้ไม่สืบค้นโดยไม่จำเป็นและไม่เกิดประโยชน์

4. แยกโรคต่างๆ เป็นตารางชัดเจน และบอกถึงข้อเด่นที่คิดถึงในแต่ละโรค ที่จะต้องแยกจากกัน ในส่วนของโรคเด็ก ตรงนี้จะเด่นมากเลยครับ ผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญยังพอเข้าใจได้เลยครับ

5. บทที่ 5 คือสื่งที่สำคัญที่สุดของแนวทางอันนี้ คือ เมื่อไรเราจึงจะเริ่มยากันชัก โอกาสการชักซ้ำ อ่านทั้งเล่มไม่เข้าใจอย่างน้อย พิมพ์หน้านี้เอาไว้ที่โต๊ะ ติดไว้ที่ ER คุ้มแล้ว

6. เรื่องของการเลือกยา การปรับยา เน้นการใช้ยาขนานเดียวปรับจนถึงขนาดสูงสุด ก่อนเพิ่มยาตัวที่สอง ก็จะสังเกตว่าส่วนมากคำแนะนำสูงสุดก็เป็น RCT ยังไม่มีคำแนะนำระดับจาก systematic review

   การใช้ยา carbamazepine ที่ขยับมาเป็นตัวแรกๆ ซึ่งต้องระมัดระวังการใช้ เนื่องจากมีอุบัติการณ์การแพ้ยารุนแรงสูง โดยเฉพาะในคนเอเชียและคนไทย อาจเป็นอุปสรรคสำคัญในการใช้ยา
   ด้วยการแนะนำจาก อย.อเมริกา ให้ตรวจหาสารพันธุกรรม HLA B*1502 ที่พบสัมพันธ์กับภาวะแพ้ยารุนแรงแบบ SJS/TEN (ซึ่งมีความถี่ในการพบยีนในคนไทย 15-16% แม้พบจะน้อย แต่ถ้าพบก็จะสัมพันธ์กับการเกิดอาการุนแรง มากกว่าประชากรปกติถึง 55 เท่าครับ )
    สำหรับในอเมริกา ทาง อย. ของเขาจึงแนะนำการตรวจสารพันธุกรรมนี้ก่อนเริ่มยา  คุ้มค่ากว่าใช้ยาราคาแพง และสำหรับในคนไทย เนื่องจากมีโอกาสแพ้ยาได้รุนแรงจึงควรตรวจคัดกรองครับ ราคาไม่แพง หรือจะใช้ยาตัวเลือกรองลงมา เข่น phenytoin, valproate แทน ตามความเหมาะสมครับ
อ้างอิงจากงานวิจัยของ อ.วิจิตรา ทัศนียกุล แฟนเพจที่ใจดีของเรานั่นเอง Wichittra Tassaneeyakul
  
แจ้งระวังการใช้ยา valproate โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ หรือ แนวโน้มการตั้งครรภ์

มีครบครับ จำนวนและระดับการศึกษาของยาแต่ละตัว กลไก ขนาดยาในเด็กในผู้ใหญ่ การปรับยา ปฏิกิริยาระหว่างยา ผลข้างเคียง

7. เพิ่มแนวทางการส่งต่อเพื่อการผ่าตัดรักษาโรคลมชัก..อันนี้เป็นแนวทางใหม่เลยครับ เพราะประเทศไทยพอทำได้แล้ว ในรายที่รักษายากครับ

8. algorithm ของการดูแลชักไม่หยุด (status epilepticus) อย่าลืมว่าเราร่นระยะเวลาที่จะวินิจฉัยให้สั้นลงเป็นแค่ 5 นาที ใส่ levetirazetam เป็นยาลำดับต้นๆ ใน establish phase สอนการแยกชนิดและสาเหตุ อันนี้ รพช. ก็ทำได้เลยนะครับ ยาก็ปรับใช้แบยที่ รพช.มีได้ ทำได้  การใช้ EEG เพิ่มเติม
  ข้อผิดพลาดอันหนึ่งที่พบบ่อยคือ การให้ยา phenytoin เร็วเกินไปครับ ระวังการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ

9. การให้ยากันชักในหญิงวัยเจริญพันธุ์  ไม่ควรใช้ valproate ขนาดสูง แนะนำควบคุมชักให้ดีและลดยาลงก่อนตั้งครรภ์ ควรใช้ห่วง ฝังยา ถุงยาง ในการคุมกำเนิด
  คลอดเองทางช่องคลอดได้ และควรได้โฟลิกเสริมทุกราย อย่างที่ หมอแล็บแพนด้ากล่าวไว้ หมอแล็บแพนด้า

10. ขับรถได้ไหม ทำอาชีพขับรถเมล์ได้ไหม จะต้องดูแลตัวเองอย่างไร ออกกำลังกาย และการดูแลในฐานะญาติ

  ดาวน์โหลดมาแล้วอ่านกันเลยนะครับ ไม่กี่หน้า เป็นตารางและแผนภูมิเสียส่วนมากครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น