06 ตุลาคม 2559

การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอคโค่

การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอคโค่…echo lives in darkroom

ท่านอาจจะไม่เคยสัมผัสการตรวจแบบนี้ ท่านอาจจะเคยเห็นหมอพาญาติเข้าไปในห้องมืดๆ ท่านอาจจะเคยได้รับการตรวจมีวัตถุลื่นๆไถไปไถมาบนทรวงอก วันนี้เรามารู้จักการตรวจแบบนี้คร่าวๆนะครับ

การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอคโค่ ก็คือการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงหรือเครื่องอัลตร้าซาวนด์นี่เอง เพื่อตรวจการทำงานของหัวใจทั้งการบีบตัว การคลายตัว การไหลของเลือด การเปิดปิดลิ้น หัวใจมีการเคลื่อนที่ตลอด มีเลือดไหลเวียนตลอด เสียงที่สะท้อนไปสะท้อนกลับมา เอามาสร้างเป็นภาพและแปลผลจากการวัดค่าต่างๆได้มากมาย เครื่องยุคปัจจุบันสามารถมองภาพสีสามมิติได้แล้ว คำนวณคลื่นเสียงสะท้อนออกมาเป็นการทำงานของหัวใจ  ทำให้เราไม่ต้องใช้การตรวจที่รุกราน รุนแรง เช่นการสวนหัวใจ การสวนหลอดเลือด เพื่อวัดการทำงานตรงๆ
   ถึงแม้มันจะไม่ได้วัดค่าการทำงานตรงๆ ใข้คลื่นเสียงมาผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่ก็ถือว่ามีความแม่นยำสูง ใช้เป็นการตรวจพื้นฐานจนถึงขั้นสูงได้อย่างดีโดยไม่เสี่ยงเลย  เรามาตามคุณพยาบาลที่มาตามคนไข้ไปเข้าห้องตรวจกันครับ

   คนไข้จะถูกพาไปเข้าห้องที่ทึบแสงเล็กน้อยเพราะจะทำให้เห็นจอชัดเจนครับ แม้การปรับค่าคอนทราสต์บนจอจะช่วยได้แต่ปรับมากๆคุณภาพของภาพมันจะเสียครับ ให้นอนบนเตียงสูงระดับเอว เปิดเสื้อออกหรือสวมเสื้อผู้ป่วยหลวมๆให้ปลดสะดวก สุภาพสตรีคงต้องถอดชุดชั้นในออกครับ หลังจากนั้นก็จะได้รับการติดตั้งแผ่นตรวจคลื่นหัวใจสามถึงสี่จุดบริเวณทรวงอก เพื่อตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจไปพร้อมกับการดูภาพ เพื่อระบุตำแหน่งการบีบตัวคลายตัวที่ชัดเจน
   หลังจากนั้นก็จะจัดท่านอนตะแคงทับซ้ายสัก 45 องศาเพื่อให้หัวใจชิดทรวงอก มือซ้ายยกไปหนุนข้างใบหน้าเพื่อเปิดพื้นที่ทรวงอกซ้ายให้กว้างขึ้น มีหมอนมาหนุนหลัง พักสบายๆครับ เอาล่ะคุณหมอเดินเข้ามาแล้ว คุณหมออาจจะเข้าตรวจทางซ้ายของท่านหรือเข้าทางขวาของท่าน ซึ่งถ้าเข้าทางขวาก็จะใช้มืออ้อมตัวมาตรวจครับ อาจจะตะขิดตะขวงเล็กน้อยครับ

  หลังจากนั้นก็จะใช้หัวตรวจทาเจลลื่นๆเพื่อลดแรงต้านของผิวหนังและให้คลื่นเสียงส่งสัญญาณได้ดี กดเบาๆที่บริเวณข้างกระดูกสันอก บิดซ้ายบิดขวา โยกบนโยกล่าง หาภาพที่ชัดๆ เลื่อนหัวตรวจมาที่แถวชายโครงซ้ายบ้าง ใต้ชายโครงบ้าง คอหอยบ้าง ขึ้นกับท่าการตรวจ ท่านก็อยู่นิ่งๆ หายใจเข้าออกปกติ อาจมีบางจังหวะที่หมอจะบอกว่า กลั้นหายใจชั่วคราว หรืออาจให้เบ่งลมลงท้อง เพื่อดูการทำงานครับ
   ระหว่างที่ทำคุณหมอก็จะวัดค่าต่างๆ ตามภาพที่ปรากฏบนจอ ในแต่ละท่าทาง ในบางครั้งอาจต้องกดหัวตรวจชิดผนังทรวงอกให้ภาพชัดขึ้น โดยเฉพาะท่านที่เจ้าเนื้อ สำหรับสุภาพสตรีนะครับ แน่นอนว่าจะต้องมีการกดหัวตรวจบริเวณเต้านม บางท่าก็ต้องช้อนเต้านมบ้าง จำเป็นนะครับ   ระหว่างการตรวจอาจได้ยินเสียง ฟิ้วๆ ฟู่ฟ่าๆ คือคุณหมอวัดความเร็วของเลือดที่ผ่านจุดต่างๆ เอามาคำนวณค่านะครับ ไม่ต้องตกใจ

  ใช้เวลาตรวจประมาณ 15 นาทีบางทีก็มีจอภาพสำหรับผู้ป่วยหรือญาติให้ดูไปพร้อมๆกับหมอ เพื่ออธิบายความผิดปกติได้ชัดเจนครับ หลังจากตรวจเสร็จก็จะเช็ดเจลลื่นๆออก ปลดขั้วต่อคลื่นไฟฟ้าห้วใจ ก็เป็นอันเสร็จพิธี
  อีกแบบจะเป็นการตรวจโดยใส่หัวตรวจเข้าไปทางปาก เข้าไปทางหลอดอาหาร แล้วหะนหัวตรวจแบบพิเศษ เข้าหาหัวใจจากทางด้านหลัง จะเป็นภาพในมุมที่ด้านหน้ามองไม่ชัด หรือมองไม่ได้เลย รอยโรคที่ลิ้นหัวใจบางชนิดต้องใช้วิธีนี้ครับ ก็อาจจะอึดอัดๆบ้างเวลาตรวจ แต่ก็ใช้เวลาไม่นาน หัวตรวจก็เล็กกว่ากล้องส่งทางเดินอาหารนะครับ ไม่เกิดการบาดเจ็บแต่อย่างใด ในรายที่ตรวจทางทรวงอกไม่พบก็เพิ่มการตรวจแบบนี้ครับ
  ถือว่าเป็นการตรวจที่ไม่รุนแรง ไม่เจ็บ และได้ข้อมูลต่างๆ เอามาคิดวิเคราะห์ได้มากนะครับ #แต่อย่าลืมว่าใช้ประกอบกับประวัติและการตรวจร่างกายเสมอ สำหรับน้องๆหมอทุกสาขา หรืออายุรแพทย์ทุกอนุสาขา สามารถหาอ่านและศึกษาได้จากตำรามาตรฐาน, youtube ถึงเราทำไม่เก่งแต่ก็ต้องเข้าใจว่า ทำเพราะอะไร ค่าที่ได้นั้นช่วยอะไรเราบ้างครับ แล้วน้องๆจะทราบว่า มันมีค่ามากกว่าที่คิด

  ครั้งหนึ่งผมเคยถามท่านอาจารย์รังสฤษฏ์ กาญจนะวณิชย์ ว่าถ้าหมอทุกคนทำเอคโค่เป็นหมดเก่งหมด มีเครื่องเอคโค่มือถือทุกคน ยังต้องตรวจร่างกายทางหัวใจอะไรอีกไหม  อาจารย์ท่านตอบแล้วผมรู้สึกว่า อมตะ มากๆครับ ท่านกล่าวว่า แม้เอคโค่จะเป็นเทคโนโลยีที่ราคาสูงและประโยชน์มากมาย แต่ทักษะการซักประวัติและตรวจร่างกายนั้น…***ประเมินค่ามิได้***..ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น