04 ตุลาคม 2559

การป้องกันไมเกรน

การรักษาไมเกรน มีการรักษาสองประการ ประการแรกเพื่อรักษาอาการปวดเฉียบพลัน และการป้องกันการเกิดซ้ำ..เอ๊ะ ป้องกันการเกิดซ้ำ  ทำอย่างไร

  โรคไมเกรนเป็นโรคปวดศีรษะที่พบมากครับ อาการปวดนั้นบางครั้งถึงกับรบกวนชีวิตประจำวัน ต้องหยุดงาน เสียเวลา เสียเงิน และคุณภาพชีวิตแย่ลง สำหรับผู้ป่วยที่นานๆครั้งจึงปวดทีหนึ่ง และปวดแต่ละครั้งสามารถใช้ยาควบคุมการปวดได้ดี ก็คงรักษาเป็นครั้งคราวไปครับ
   แต่ในผู้ป่วยที่เป็นบ่อยๆ เป็นแต่ละครั้งเสียงานเสียการ ..มันก็จะเสียงานเข้าจริงๆ..ผู้ป่วยที่ใช้ยาแก้ปวดแล้วไม่ตอบสนอง การใช้ยาเพื่อลดการเกิดซ้ำ ซึ่งลดทั้งอัตราการเกิดและความรุนแรงของการปวดศีรษะ  ตัวเลือกการป้องกันไมเกรนจึงน่าสนใจอย่างยิ่ง

  ในอดีต..แนวทางการรักษาเพื่อป้องกันไมเกรนจะบอกหลักการไว้หลวมๆคร่าวๆ ว่าถ้าอาการปวดเป็นบ่อยและเป็นมากจนทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง การใช้ยาแก้ปวดตามอาการเริ่มไม่ตอบสนอง ก็ให้หมอกับคนไข้คุยกันว่าจะให้การรักษาเพื่อป้องกันดีไหม แต่มันดูเป็นนามธรรมครับ คำแนะนำของ american migraine prevalence and prevention study ปี 2000 วางกรอบตัวอย่างไว้อย่างน่าสนใจครับ

  1. ปวดศีรษะอย่างน้อยๆสัปดาห์ละหกวัน เสียการเสียงานอย่างน้อยสี่วัน นอนติดเตียงอย่างน้อยสามวัน..อย่างนี้ควรให้ยาป้องกัน
  2. ปวดศีษะสี่ถึงห้าวันต่อเดือนโดยที่ทำงานได้ปกติ  ปวดศีรษะสองถึงสามวันต่อเดือนโดยเสียงานเสียการ  ปวดศีรษะสองวันต่อเดือนโดยทำอะไรไม่ได้เลย...อย่างนี้พิจารณาป้องกัน **สังเกตระดับคำแนะนำที่ต่างกันนะครับ**
  3. ปวดน้อยกว่านี้ ไม่แนะนำให้ป้องกัน

  แต่ว่าผมคิดว่าควรคุยกับคนไข้และปรึกษากันดีกว่าครับ บางคนปวดศีรษะสองครั้งต่อเดือนต้องหยุดงาน เสียเงินไปเป็นล้าน มันก็ไม่ต้องยึดกฎเป๊ะๆก็ได้  ทำไมต้องคุยกันด้วย คนไข้บางคนน่าจะกินยาป้องกันก็เลือกไม่กินยา เพราะว่ายาที่แนะนำให้ใช้อันดับแรกคือยากันชัก อันดับสองคือ ยาโรคหัวใจ ยาลดความดัน  มันมีผลข้างเคียงไงครับ ถ้าเรากินเพื่อลดความดัน เพื่อกันชักยังพอเข้าใจได้ว่า ถ้าเกิดโทษจากยาก็ยังคุ้มบ้าง แต่นี่เรากินเพื่อป้องกันปวดไมเกรนซึ่งมันไม่ได้ถึงแก่ชีวิต แต่ต้องกินยาที่มีผลข้างเคียง ต้องติดตามระดับยา ระวังยานู่นนี่นั่นที่จะมาส่งผลกระทบ มันคุ้มค่าหรือไม่ครับ
   ยาที่มีผลการศึกษายืนยันว่ามีประโยชน์นะครับ ตามแนวทางของ american headache society และ american academic of neurology ในปี 2012 มีดังนี้ครับ

   ยากันชัก valproate ขนาด 400 ถึง 1000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งต้องดูแลตามมาตรฐานยากันชัก ระมัดระวังการตั้งครรภ์ ระมัดระวังยาคุมกำเนิด ระวังปฏิกิริยากับยาอื่นๆ ความสมำเสมอเรื่องการกินยา  แต่ยาตัวนี้ผลการศึกษาดีที่สุดครับ
   ยาลดความดันกลุ่ม บีต้าบล็อก ได้แก่ metoprolol, propranolol, timolol ซึ่งต้องดูข้อห้ามการใช้เช่น หอบหืด หัวใจเต้นช้า หรือความดันโลหิตต่ำลง ในผู้ชายระวังปัญหา ..ไม่สู้..ด้วยนะครับ
   ยากันชัก topiramate ก็ต้องระมัดระวังตามมาตรฐานยากันชักเช่นกัน
   ยากลุ่มอื่นๆหลักฐานสนับสนุนจะน้อยลงครับ เช่น ยาต้านการอักเสบ NSAIDs, ยาซึมเศร้า amitryptyline  ยาอื่นๆหลักฐานน้อยครับจึงไม่ได้กล่าวถึง

   การใช้ยาต้องรออย่างน้อยๆ 8 สัปดาห์นะครับจึงจะบอกได้ว่าประสบผลสำเร็จหรือไม่ โดยค่อยๆปรับยาจนกว่าจะถึงขนาดสูงสุด ใช้หนึ่งหรือสองตัวก่อน  รักษาประเด็นอื่นๆด้วย อาทิ แสงสีเสียงที่มากระตุ้น, อดนอน, เครียดจัด, ออกกำลังกาย, ควบคุมโรคเดิมให้ดี และใช้ยาแก้ปวดเฉียบพลันให้เหมาะสม
   เมื่อลดความถี่และความรุนแรงลงได้จนน่าพอใจ แล้วจึงจะปรับลดขนาดยาได้ครับ การรับประทานยาในระยะยาวก็ไม่ได้แย่มากนะครับ อย่าลืมว่าคนไข้ลมชักหรือคนไข้โรคหัวใจ เขาก็กินยาพวกนี้ระยะยาวเช่นกันครับ

อ่านแล้วอย่าเพิ่งไมเกรนขึ้นนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น