06 กันยายน 2559

กรดไหลย้อน สรุป อัปเดต ปี 2016

กรดไหลย้อย..เอ้ย ไหลย้อน

การประชุม asia pacific GERD 2016 โดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญในแต่ละประเทศ เพื่อปรับปรุงความรู้ตามการศึกษาใหม่ๆของโรค กรดไหลย้อน มีคำถามสำคัญที่น่าสนใจ และคิดว่าน่าจะนำมาแปลผลในทางปฏิบัติได้ไม่ยากเย็นนัก ผมจะสรุปมาจากวารสาร GUT ที่ลงการศึกษานี้ และทำลิงค์มาให้ เพิ่มเติมจาก Sleisenger Fordtrans เล็กน้อย สำหรับน้องๆหมอควรอ่านฉบับเต็มครับ โดยเฉพาะแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ครับ

hกttp://m.gut.bmj.com/content/65/9/1402.long?view=long&pmid=27261337

โรคกรดไหลย้อนนี้พบประมาณ 20% ของประชากรเอเชีย แนวโน้มไม่ได้เพิ่มขึ้นนะครับ แต่ว่าอัตรานี้อาจจะประเมินต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะผู้ป่วยบางส่วนไม่ได้รับการวินิจฉัยกรดไหลย้อน ว่ากันตามจริงก็วินิจฉัยยากและอาการก้ำกึ่งในหลายๆโรค การวินิจฉัยมีทั้งแบบใช้อาการเป็นหลัก อาการเด่นๆคือแสบอก อาเจียน เรอ อาจใช้แบบทดสอบที่ชื่อว่า GERD-Q score ที่แม่นยำพอใช้ หรืออีกวิธีหนึ่งคือ การใช้การส่องกล้องและวัดค่ากรดในหลอดอาหาร
   เพราะในแถบเอเชียนั้นการเกิดโรคไม่มากนัก และผลแทรกซ้อนของโรคไม่รุนแรง จึงแนะนำให้ใช้อาการในการวินิจฉัยก่อนครับ หลังจากนั้นก็ใช้การปรับชีวิตและใช้ยาลดกรดขนาดมาตรฐาน แล้วติดตามว่าอาการดีขึ้นหรือไม่ ถ้าดีขึ้นก็คงไม่ต้องไปสืบค้นต่อครับ
   การปรับปรุงชีวิตที่ว่านั้น หลักที่สำคัญและมีผลมากๆต่อการรักษาคือ การลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย อย่าให้อ้วนครับ อันนี้ช่วยได้มากเลย

   ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นอีก รบกวนชีวิตประจำวันมากพอ ก็แนะนำตรวจหาโรคอื่นๆที่อาจเป็นสาเหตุซ่อนเร้นที่ทำให้อาการไม่ดีขึ้น เช่น แผลกระเพาะอาหาร, ไส้เลื่อน, หลอดอาหารบีบตัวผิดปกติ หรือมีรอยโรคที่หลอดอาหาร ขั้นตอนนี้แนะนำการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนครับ นอกจากช่วยแยกโรคอื่นๆแล้ว ยังประเมินกรดไหลย้อนด้วยว่าไหลย้อนจนมีแผลที่หลอดอาหารหรือยัง (erosive esophagitis)
     ถ้าไม่มีสาเหตุอื่นๆ ก็ลองเปลี่ยนชนิดยาลดกรดครับ ลางเนื้อชอบลางยา แต่ละคนตอบสนองต่อยาลดกรดไม่เท่ากัน แต่ละชนิดต่างกัน และปรับขนาดยาเป็นขนาดสูงคือกินเช้าเย็น หรือใช้ยาที่มีการออกฤทธิ์เป็นสองจังหวะคือยา dexlansoprazole  แต่การศึกษารวมหลายๆอันก็บอกว่า ยาแต่ละยี่ห้อ ไม่ได้มีความแตกต่างอย่างชัดเจนนักครับ และอาจใช้ร่วมกับ ยาที่ใช้ควบคุมการเคลื่อนที่ของทางเดินอาหาร เช่น mosapride itopride

    การใช้ยาลดกรด ranitidine คือ H2 blocker ก่อนนอน ก็ช่วยในกลุ่มที่มีอาการกลางคืนได้ครับ อย่างไรเสียก่อนอื่นจะต้องพิจารณาสิ่งที่เป็นจุดบอดมากสุดคือ  #มักจะมาจากการปฏิบัติตัวที่ไม่เหมาะสม #หรือใช้ยาไม่ถูกต้องครับ  และถ้าเป็นนานๆ อาจต้องคิดถึงการกระตุ้นเส้นประสาทที่ไวเกินปกติ บางทีจะได้ยาทางจิตเวชมาด้วย โดยเฉพาะยาต้านซึมเศร้า ก็เป็นจากสาเหตุนี้ครับ
    และประเด็นนี้ จะมีเรื่อง pharmacogenomics (cytochrome 2C19 polymorphisms) เรื่องการจัดการยาที่มีพันธุกรรมมาเกี่ยวข้อง อันนี้ยาก จะแยกพูดต่างหากครับ

   ในกรณีที่ไม่ดีขึ้น อาจพิจารณาการตรวจเพิ่มเติม การวัดค่าความเป็นกรดตลอด 24 ชั่วโมงในหลอดอาหาร การวัดแรงบีบของหลอดอาหาร จะช่วยในการศึกษาและรักษาได้แม่นยำขึ้น แต่ก็ทำได้ไม่กี่ที่ครับ  และถ้าไม่ดีขึ้นจริงๆ ก็ส่งพิจารณาผ่าตัดแก้ไขหูรูดทางเดินอาหารส่วนล่างครับ (endoscopic fundoplication) การผ่าตัดปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาว่าผลทางคลินิกจะดีกว่าการใช้ยานะครับ แต่ช่วยลดกรดที่จะทะลักขึ้นมา ลดอาการ และ เมื่อใช้ยาไม่ได้ผลแล้วก็ผ่าตัดครับ
   Barett's esophagus หรือ การแปรเปลี่ยนเนื้อเยื่อหลอดอาหารจากกรดที่มาระคายเคืองเรื้อรัง ที่อาจเกิดมะเร็งในอนาคต ยังไม่แนะนำคัดกรองในเอเชียครับ อัตราการเกิดยังต่ำมากและการตรวจยังไม่ไวพอ และต้องตัดชิ้นเนื้อแม่นๆครับ รายละเอียดตรงนี้ วารสารเขียนดีมากละเอียดมาก รวมถึงการทำ submucosal resection,RFA  ให้หมอๆไปอ่านเพิ่มครับ พวกเรารู้แค่นี้ก่อนเดี๋ยวจะสับสน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น