ในกลุ่มคนหลักสี่อย่างผม หรืออย่างท่านผู้อ่านหลายๆท่าน คงจะเคยผ่านประสบการณ์ไปอยู่โรงพยาบาลประจำอำเภอมาบ้าง ลองมาฟังเรื่องราวและย้อนอดีตไปสู่วันวานอันแสนหวานด้วยกันนะครับ
โรงพยาบาลที่ผมไปอยู่นั้นเป็นอำเภอเล็กๆในภาคอีสาน ห่างจากจังหวัด 80 กิโลเมตร มีประชากร 30000 คนเท่านั้น ไม่มีโรงงานไม่มีประกันสังคม ข้าราชการก็ขับรถไปรักษาในจังหวัดกันหมด เกือบ 99% เป็นบัตรทอง ทางเข้าสู่อำเภอเป็นทางลาดยางเพียงสามเส้นของอำเภอ ตัดผ่านทุ่งนาเขียวสวย สลับฉากด้วยมันสำปะหลัง สุดลูกหูลูกตา ทางนั่นก็คดเคี้ยวมาก ถ้าสติสัมปชัญญะไม่ดีพอล่ะก็ลงข้างทางแน่ๆครับ จากแยกถนนทางหลวงเข้าไป 30 กิโลเมตรก็ถึงตัวอำเภอ
มีธนาคารอยู่หนึ่งแห่งในสมัยนั้นคือ ธกส. มีรถสองแถววันละห้าถึงหกเที่ยวแล้วแต่อารมณ์คนขับ มีรถ บขส.ธรรมดาวันละหนึ่งเที่ยว เป็นทางผ่านด้วยนะ ตอนสามทุ่ม มีตลาดนัดทุกวันที่ 5 และ 25 ของเดือน ไม่มีแผงหนังสือ..อันนี้ทุกข์ใจมาก มีร้านค้าสองร้าน ร้านขายข้าวแกงในตลาดสด..ที่ขนาดเท่าสนามฟุตซอล อยู่สองร้าน ทางติดต่อโลกภายนอกคือ ที่ทำการไปรษณีย์ และโทรศัพท์สาธารณะ สมัยนั้นผมใช้โนเกีย 3310 ถือว่าหรูมากทีเดียว
มีหมออยู่สามคนครับ นับรวม ผอ. ด้วยนะ และหมออีกคนอยู่ได้สิบเดือนก็ขอย้าย เหลือผมกับท่านผอ. ซึ่งผอ. ก็ต้องบริหาร ประชุมต่างๆมากมาย เรียกว่าโซโล่เดี่ยวเป็นประจำ ไม่เคยมีน้องอินเทิร์นมาเลย เคยมีจ้างมาช่วยบ้างเวลาที่ผมป่วย อยู่เวรเดือนละ 15-20 วัน แต่ผมมีความสุขมากนะครับ ผมชอบการเป็นแพทย์เวชปฏิบัติมาก ได้ความกว้างช่วยคนได้มาก ตอนนั้นคิดว่ามีหมอไอซียูอยู่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรนัก มีหมอสูติก็คงทำอะไรมากไม่ได้ การได้เป็น จีพี ช่างแสนมีความสุขครับ แต่ผมก็พยายามนำสิ่งใหม่ๆและพยายามเพิ่มศักยภาพของตัวเองขึ้นเพื่อจะได้ไม่ต้องส่งตัวมากนัก สงสารคนไข้ ถึงจะรักษาฟรี แต่การส่งตัวไปมันสาหัสมากนะครับ ค่ารถ ค่ากิน ค่าญาติ ค่าเสียงานการ บางทีแพงพอๆกับค่ารักษา
ผมทำคลอดเกือบทุกรายถ้าทำได้ ขูดมดลูก ทำหมัน และเนื่องจากเคยมีพี่พยาบาลไปเทรนดมยามา ผมก็ขอไปแอบเรียนกับพี่หมอดมยาเรื่องการบล็อกหลัง เพื่อเอามาทำแผลเวลามีอุบัติเหตุที่ขา เคยตัดนิ้วเบาหวานสิบกว่าราย ผ่าก้อนเต้านมไปมากมาย ซื้อสายcut down มาทำเอง ปลุกแม่และพ่อมาเช็ดตัวเด็กไข้ 40 กลางดึก ฝึกทำอัลตร้าซาวนด์เพื่อประเมินอายุครรภ์ เรียกว่าที่รพ.มีอะไร ผมพยายามรีดเอามาใช้ให้หมด
ทุกเย็นผมจะได้จ๊อกกิ้ง 6 กิโลเมตรรอบตลาด วิ่งเสร็จก็หาซื้อของสดง่ายๆมาทำ ทำกับข้าวได้บ้างก็ตอนนี้ครับและเผื่อมื้อเช้าด้วย แต่ถ้าใครอยู่รพ.อำเภอ จะทราบนะครับ ในนั้นคือครอบครัวใหญ่มาก บางวันไปกินข้างบ้านโน้น บ้านนี้ ไปคุยเฮฮาหลังงานเลิก ผมไม่ดื่มเหล้าแต่นั่งอยู่ในวงเหมือนกันครับ กินกับ ครับ แจ่วฮ้อนใส่ขี้เพี้ย, ลาบแย้, อ่อมฮวก จัดมาหมดแล้ว ทุกคนเหมือนพี่น้องจริงๆ บางทีก็ไปงานนั่นนี่ ที่นั่นเขาจะดีใจถ้าเราไปร่วมครับ เหมือนผมเป็น สส. ประมาณนั้นเลย ชาวบ้านให้เกียรติเรามาก ไปไหนก็นั่งคุยกับเขาได้
ตอนค่ำๆ ว่างๆก็สอนลูกๆหลานๆเจ้าหน้าที่ทำการบ้านครับ ทำงานคุณภาพโรงพยาบาล สนุกมาก แม้จะตรวจคนไข้เกือบๆ 80คนต่อวันก็ตาม ผมสานตะกร้าได้ก็พี่ๆที่เขาทำขายนี่แหละสอนให้ เราทำงานแทนกันได้หมดครับ มุงหลังคาจาก ขับรถพยาบาล พนักงานวิทยุ ทำได้เมิ๊ดดด มักสนุกครับถ้าเราไม่ไปยึดมั่นใส่หัวโขนความเป็นหมอตลอดเวลา
จริงๆผมไม่มีความคิดจะมาเรียนต่อเลยนะ ผมรู้สึก..พอใจ..กับชีวิตตรงนั้นมาก แต่ทุกๆคนที่รู้จักและเห็นบอกว่าผมควรไปเรียนนะ ซึ่งตัวเองก็ยังไม่รู้ว่าอยากเรียนอะไร รู้แต่อยากดูคนไข้ให้ครอบคลุม ให้หลักการเหตุผล ในหัวตอนนั้นคือ family medicine ครับ ผมว่านี่เป็นจุดบอดของหมอสมัยนั้น คือ ไม่รู้หรอกว่าตัวเองชอบอะไร และสิ่งแวดล้อมตรงนั้นมันก็ไม่ได้นำพาให้รู้สึกว่าจะชอบอะไรได้ ..มีไหม ventilator..ไม่มี มีไหม echo...ไม่มี มีไหม lab dengue IgG...ไม่มี เมื่อไม่รู้จักแล้วจะชอบได้อย่างไร แต่ว่า..ผมมี..Harrison principle of internal medicine ติดตัวมาด้วย ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นอายุรแพทย์ แต่ว่า Harrison อ่านแล้วรักษาคนไข้ได้จริงแฮะ ความที่เราอ่านทุกวันๆ จนจบ ทำให้หลงใหลในวิชาอายุรศาสตร์ไปโดยปริยาย
เดินไปสมัคร อายุรศาสตร์ โดยที่เกรดก็ไม่ดี ปกติหมอเมดนั้นเกรดต้องดีครับ โปรไฟล์อะไรก็ไม่มีสักอย่าง ตอบคำถามอาจารย์ที่ถามว่าทำไมถึงมาเรียนเมด..ผมตอบง่ายๆสั้นๆว่า.."ผมชอบวิชานี้มากครับ" แค่นี้ พร้อมกับ Harrison 15th edition ที่บรรจุอยู่ในหัวเรียบร้อย...อันนี้ไม่ได้ตอบนะครับ แค่อยากบอกว่าน้องๆที่จะก้าวเข้ามาสายอายุรศาสตร์ไม่ว่าสาขาใด ผมคิดว่าสิ่งที่ควรจะทำคือ คุณต้องอ่าน Textbook เล่มนี้ให้จบและเข้าใจ มันคือพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าตอนนี้หรือในอนาคตก็ตาม
สุดท้ายตอนนี้..ย้อนกลับไป รพ.อำเภอที่ผมอยู่ เขาอาจไม่ต้องการผมเท่ากับวันนั้นก็ได้ เพราะทักษะทางผ่าตัดลดลง การทำคลอดลดลง การสั่งยาเด็กลดลง...สังเกตว่าใช้คำว่าลดลงนะครับ หรือ hibernate คือพร้อมจะทบทวนให้ดีเสมอ ผมเชื่อว่าหมอทุกคนก็มีศักยภาพแบบนี้เช่นกัน ผมไม่มี galileo ให้ปรับ ..ไม่มี swanganz ให้ใส่.. ไม่มีเครื่องเอคโค่ ..
ไม่มี CO ให้วัด..
..
... แต่ผมก็ยังอยากกลับไปตรวจคนไข้ โดยใช้แค่ไฟฉาย ไม้เคาะเข่าและหูฟัง ...มีความสุขกับคนใน รพ.และชุมชน วิ่งทุกเย็น สังสรรค์กับชาวบ้านร้านตลาด...สูดกลิ่นดิน กลิ่นหญ้า ขี้วัวขี้ควาย...ฟังเสียงไก่ขัน
..
...
....อยากเป็น...หมอ..สำหรับคนไข้ ตลอดเวลาครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น