ลิ้นหัวใจรั่ว...มันมีรูรั่วหรืออย่างไร หลังจากเราทำความรู้จักลิ้นตีบโดยใช้ลิ้นเอออร์ติกเป็นตัวอย่าง วันนี้เรามารู้จักลิ้นรั่วบ้าง แต่เราจะใช้ ลิ้นหัวใจไมตรัล ลิ้นที่แบ่งระหว่างห้องหัวใจด้านซ้ายเป็นห้องบนและห้องล่าง ลิ้นที่ใหญ่และแข็งแรง มีสองแฉก..เอ้ย..สองแผ่น มาเป็นตัวอย่างการเรียนวันนี้ครับ
ลิ้นหัวใจรั่ว คือความสามารถในการปิดมันบกพร่อง ทำให้มีเลือดไหลย้อนกลับจากห้องล่างขึ้นไปห้องบน ปกติหัวใจห้องล่างซ้ายจะบีบตัวส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกาย หัวใจห้องบนซ้ายก็รับเลือดจากปอดส่งห้องล่างซ้าย คราวนี้ถ้าลิ้นมันรั่วหรือพูดให้ถูกคือปิดไม่สนิทมากกว่า เลือดก็จะไม่พุ่งไปทิศทางเดียว ไหลค้างย้อนไปย้อนมาในหัวใจ นานๆไปหัวใจก็จะโตเพราะต้องรับปริมาณเลือดมากขึ้น บีบก็ได้ไม่เต็มที่เพราะไหลย้อนกลับ จึงต้องเพิ่มแรงมากขึ้น นานๆเข้าจากใจสู้ก็กลายเป็นใจเสาะ บีบไม่ไหวหัวใจวายในที่สุด
จะเห็นว่าโรคลิ้นหัวใจทั้งหลายมักจะเริ่มมีอาการเมื่อ ใจเสาะคือมันสู้ไม่ไหวแล้ว ( heart failure) เริ่มเหนื่อยเวลาออกแรง เรื่มมีแรงดันในปอดสูง เริ่มมีแขนขาบวม นอนราบไม่ได้ หรือถ้าหัวใจห้องซ้ายบนโตมากๆ ก็จะมีหัวใจเต้นผิดจังหวะได้อีก ในกรณีไม่มีอาการก็จะเจอเมื่อตรวจร่างกายหรือตรวจหัวใจเนื่องจากปัญหาอื่นๆครับ
สาเหตุอาจจะเกิดจากตัวลิ้นเอง เช่นโรคหัวใจรูมาติก..ลองกลับไปอ่านเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะรักษาคออักเสบนะครับ
https://m.facebook.com/medicine4layman/photos/a.1454742078175154.1073741829.1452805065035522/1623072251342135/?type=3
หรือจากโครงสร้างหัวใจผิดปกติทำให้ลิ้นสบกันไม่สนิท เช่น หัวใจขาดเลือดจนเป็นแผลเป็น กล้ามเนื้อยึดลิ้นหัวใจฉีกขาด กล้ามเนื้อหัวใจยืดออกขนาดขนาด ทำให้การแก้ไขไม่ได้ทำง่ายๆเหมือนลิ้นตีบที่มักจะผิดปกติที่ตัวลิ้นโดยตรง
เช่นเดียวกับโรคทางอายุรศาสตร์อื่นๆ เราพิจารณาวินิจฉัยจากประวัติและการตรวจร่างกาย และสำหรับโรคลิ้นหัวใจที่ต้องใช้กลศาสตร์ของไหลและการวัดความเร็ว วัดความดันระหว่างลิ้น การตรวจด้วย echocardiogram จึงมีความสำคัญยิ่งครับ การบอกรั่วหรือไม่รั่วมากรั่วน้อย สำหรับน้องๆหมอ จะต้องทราบค่าพารามิเตอร์ของ Echo ด้วยนะครับ ผมยกตัวอย่างมาแค่ราย severe mitral regurgitation (ESC 2012) คือมีหัวใจห้องซ้ายล่างทำงานบกพร่อง LV dysfunctions/end systolic diameter > 45 mm ของอเมริกาใช้แค่ 40 mm/ LVEF < 60% กลุ่มนี้แม้ไม่มีอาการก็ควรต้องผ่าตัดแก้ไขครับ
การรักษาพิจารณาสองอย่าง อย่างแรกคือแก้ไขลิ้นที่ผิดปกติ ทั่งการผ่าตัดไปเปลี่ยนลิ้น ซ่อมลิ้น ซ่อมกล้ามเนื้อยึดลิ้น เปลี่ยนวงแหวนรอบๆลิ้น ปัจจุบันเป็นลิ้นกึ่งสังเคราะห์ทำให้ไม่ต้องกินยากันเลือดแข็งตลอดชีวิตอีก หรือเลือกเป็นการซ่อมแซมผ่านการสวนสายสวนหัวใจ แล้วใส่อุปกรณ์ไปกางขยายบริเวณลิ้น ที่ช่วยให้ไม่ต้องเสี่ยงกับการผ่าตัด ไม่ต้องอยู่รพ.นานๆ กลุ่มผู้ที่เสี่ยงมากก็สามารถเข้ารับการเปลี่ยนลิ้นห้วใจได้
การรักษาอย่างที่สองคือ การรักษาผลที่ตามมาจากลิ้นรั่ว เช่นถ้าหัวใจเต้นผิดจังหวะ ก็ต้องใช้ยาควบคุมการเต้นและยากันเลือดแข็ง ถ้าเริ่มมีหัวใจวายก็ต้องใช้ยาลดความดันกลุ่ม -ipril และ-sartan หรือถ้าควบคุมไม่ได้จริงๆอาจต้องใส่อุปกรณ์กระตุ้นและควบคุมการเต้นหัวใจ (cardiac resynchronizing therapy with biventricular pacing)
ส่วนถ้าลิ้นรั่วจากสาเหตุอื่นๆก็คงไปควบคุมโรคนั้นให้ดีๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อใจตาย หัวใจโตเรื้อรัง ติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ เพราะการแก้ไขลิ้นเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้ตอบปัญหาทั้งหมดครับ ตัวอย่างการเรียนรู้เรื่องลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีในการประกอบปัจจัยต่างๆเข้าด้วยกัน และออกแบบเป็นการวินิจฉัยและรักษาที่ดีครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น