01 กรกฎาคม 2559

การปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกงูกัด

วันนี้วันลูกเสือ เรามาทบทวนความรู้แบบลูกเสือๆ ให้เข้ากับช่วงน้ำท่วมน้ำขังกันหน่อย คือการปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกงูกัด จริงๆเรื่องงูกัดนี่เคยเขียนไว้ตั้งแต่เดือนแรกๆที่ทำเพจ เพราะตอนนั้นมีคนไข้ถูกงูกัดแล้วปรากฏว่า เอางูมาด้วยและยังไม่ตายอีกต่างหาก วิ่งกันทั้งอีอาร์ วันนี้เลยมาทบทวน first aid กันเลย

ส่วนอันนี้เป็นลิงค์เรื่องซีรุ่มต้านพิษ
https://www.facebook.com/medicine4layman/posts/1460301207619241

  อย่างแรกขอทำความเข้าใจก่อนว่า งูมันกลัวคนมากกว่าคนกลัวงู โอกาสจะถูกกัดแบบล่าเหยื่อคือฉีดพิษเต็มที่นั้นมีไม่มากครับ เกือบๆ 50% ของการถูกงูกัดเป็น “dry bites” คือไม่ได้ฉีดพิษออกมาโดยเฉพาะกลุ่ม viper คืองูที่มีพิษต่อการแข็งตัวของเลือด ดังนั้นการถูกกัดจึงไม่ได้หมายความว่าจะเกิดพิษและจะต้องใช้ซีรุ่มต้านพิษแต่อย่างใด
  เมื่อถูกกัด ให้ตั้งสติให้ดีและหนีออกมา อย่าพยายามไปค้นหาหรือตีมันให้ตาย ท่านที่เข้าไปช่วยเหลือก็ไม่ต้องไปลุยหานะครับ ไม่งั้นท่านอาจถูกกัดซ้ำได้ หรืองูอาจกัดผู้ช่วยเหลือได้ พาออกมาที่ปลอดภัยก่อน

  ห้ามดูด ห้ามคว้านใดๆทั้งสิ้น นอกจากไม่ช่วยให้พิษออกแล้วยังทำให้เนื้อเยื่อเสียหายมากขึ้น ห้ามเอาน้ำแข็งประคบตรงๆเพราะจะมีการบาดเจ็บจากน้ำแข็ง ถ้าต้องการห้ามเลือดให้ล้างแผลให้สะอาดก่อนแล้วใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเย็นแทน ไม่ควรใช้แอลกอฮอล์ครับ มันจะกัดทำลายเนื้อเยื่อพิษเข้าเร็วขึ้นอีก และอันนี้เป็นประเด็นเลยนะครับ การศึกษาพบว่าการรัดทูนิเกต์ ขันชะเนาะที่เราทำๆกัน ไม่ช่วยให้การเกิดพิษน้อยลง แถมยังทำให้เกิดเนื้อเยื่อขาดเลือดมากขึ้นด้วยอีกต่างหาก ยกเลิกเลยนะครับ

ถ้าสังเกตลักษณะงูได้จะดี ไม่ต้องถึงขั้นลุยไปจับมานะครับ ผมเคยเจอถูกกัดวันนี้ไปจับมาให้พรุ่งนี้ งูตัวเดียวกันหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ ลูกเสือควรไปสวนสัตว์ศึกษาเรื่องงูเอาไว้นะครับ
เมื่อถูกกัด ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลายๆครั้ง ในปากงูสกปรกมากนะครับต้องล้างมากๆ ส่วนมากแผลจะยังไม่รุนแรงยกเว้นถูกงูตัวใหญ่ๆกัด เช่นงูเหลือมในชักโครก สามารถล้างได้เอง เมื่อล้างเสร็จให้ปิดแผลชั่วคราวด้วยผ้าสะอาด รัดให้พอตึงๆเพื่อห้ามเลือด แล้วรีบพาส่งโรงพยาบาลทันที ห้ามโชว์อะไรเหนือมนุษย์ ทำไอ้นั่นไอ้โน่นมาแปะมาปิด

เอาสิ่งของที่จะขวางการไหลเวียนเลือดออกไป เช่น แหวน กำไล กางเกงรัดๆ เพราะเวลาบวมแล้วจะขาดเลือด เอาออกก่อนจะบวม เวลาขนย้ายผู้ป่วยให้ตรึงยึดส่วนที่ถูกกัดไว้นิ่งๆ เป็นวิธีที่จะช่วยให้พิษกระจายได้ช้าครับ เหมือนๆกับตรึงยึดจากกระดูกหักเลย ควรพาไปรพ.ให้เร็วที่สุดครับ

เมื่อไปถึงรพ. คุณหมอจะทำแผล ฉีดยาบาดทะยัก ทำการเจาะเลือด ทดสอบระบบประสาท และเฝ้าสังเกตอาการครับ การติดตามอาการจะเป็นการแยกพิษที่ดีที่สุด ถ้ามีพิษจริงการรักษาแบบประคับประคองก็จะทำให้ผู้ป่วยรอดได้ครับ สำหรับการให้ซีรุ่ม ถ้ารู้ตัวงูตรงๆจะดีที่สุด ถ้าไม่ทราบชนิดเรามีซีรุ่มรวมสำหรับพิษต่อระบบเลือด ที่อาจจะช่วยได้

การใช้ซีรุ่ม ไม่ว่าจะตรงชนิดงูหรือไม่ตรงก็ตาม จะให้เมื่อจำเป็นจริงๆ เพราะมันอาจเกิดพิษได้โดยเฉพาะการเกิดปฏิกิริยาแพ้แบบรุนแรงที่เสียชีวิตได้ในหลักนาที ที่เร็วกว่าพิษงูซะอีก ต้องติดตามอาการถี่กว่าสังเกตอาการพิษงูด้วย ส่วนตัวผมให้ซีรุ่มมา 20 กว่าราย เกิดพิษจากซีรุ่ม 5 คน รุนแรงมากด้วย ดังนั้นขนาดทราบชนิดงูชัดๆ เกิดพิษเต็มๆ ให้ซีรุ่มเข้าไปยังมีโทษมากมาย ถ้าไม่ทราบชนิดงูชัดๆหรือพิษไม่รุนแรง อย่าฉีดเลยครับไม่คุ้มค่า หลายๆราย ดิ้นรนไปหลายรพ.เพียงเพื่อต้องการซีรุ่ม ผมบอกว่าอาจไม่จำเป็นนะครับ การปฐมพยาบาลและการดูแลที่ดีก็ช่วยชีวิตคนไข้ได้เกือบ 100%

ตบท้ายด้วยคำขวัญลูกเสือที่ผมชอบมากเลยครับ “be prepared”

ข้อมูลจาก mayoclinic website
Cecil medicine
http://www.mediafire.com/?84g0gx7u4i5h1kc
เว็บลิงค์การดูแลผู้ป่วยถูกงูกัดจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น