เวลาคุณท้องเสียถ่ายเหลว คุณกินยาหยุดถ่ายใช่ไหม...คิดใหม่ซะ!!
อาการถ่ายเหลวเฉียบพลัน ส่วนมากเป็นสาเหตุจากพิษในอาหาร การติดเชื้อในอาหาร หรือความเข้มข้นของอาหารบางชนิด สภาพของโรคมักจะมี self-limited คือหายได้เองนะครับ อย่างมากถ้ามีหลักฐานของการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่นเป็นนานกว่า 3-5 วัน มีไข้สูง หรืออุจจาระมีมูกเลือดตรวจพบเม็ดเลือดในอุจจาระ ก็ให้ยาฆ่าเชื้อในช่วงสั้นๆ ไม่มีบทบาทของการใช้ยาช่วยชะลอการถ่ายเหลวเลย เพราะยากลุ่มนี้ใช้เพื่อประกอบเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโรคถ่ายเหลวเรื้อรัง (chronic diarrhea) โรคที่ยากที่สุดโรคหนึ่งของการสอบ
ยาที่ใช้ชะลอการถ่ายอุจจาระ เป็นยาที่สามารถวางขายได้ทั่วไป (over the counter) ไม่ต้องใช้ใบสั่งยาครับ ยาที่ซื้อง่ายในปัจจุบันมีอยู่ 2 ชนิดคือ loperamide หรือในชื่อการค้าที่รู้จักกันดีว่า imodium และยา diphenoxylate หรือในชื่อการค้า lomotil ยากลุ่มนี้เป็นอนุพันธุ์ของมอร์ฟีน แต่อนุพันธุ์มาไกลมากเลยครับ รับรองตรวจฉี่ไม่มีสีม่วง ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของกล้ามเนื้อลำไส้ ก็จะบีบตัวลดลง เพิ่มแรงบีบกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก ก็จะกลั้นอุจจาระได้นาน สำหรับ loperamide จะพัฒนาไปไกลว่าเล็กน้อยคือสามารถลดสารคัดหลั่งในลำไส้ได้ด้วย และดูดซึมเข้าร่างกายน้อยกว่าทำให้ไม่ค่อยออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท (ยาพวกมอร์ฟีนมักไปออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทนะครับ) ฤทธิ์ในการหยุดถ่ายนี้มากกว่าสารต้นกำเนิดคือ มอร์ฟีนเกือบๆ 50 เท่า
ก็จะพบว่าถ้าเราติดเชื้อในลำไส้แล้วเราไปกินยาหยุดถ่ายนั้นการขับเชื้อโรคหรือพิษออกจากร่างกายจะช้าลง ทำให้มีการติดเชื้อหรือดูดซึมพิษเข้าร่างกายมากขึ้น คือในลำไส้เรามีเกราะป้องกันไม่ให้ของเสียเข้าร่างกายนะครับถ้าติดเชื้ออยู่นานๆ เกราะก็อาจ "เอาไม่อยู่" เช่นกัน อาจเกิดเป็นการติดเชื้อรุนแรงถึงขั้นเป็น toxic megacolon ได้เลย
ล่าสุดทางองค์การอาหารและยาแห่งอเมริกาได้ออกมาประกาศเตือนการใช้ยาตัวนี้เมื่อ 7 มิย ที่ผ่านมาว่าระมัดระวังปัญหาเรื่องโรคหัวใจทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะจนถึงเสียชีวิตได้ โดยระมัดระวังถ้าเริ่มวิงเวียน ใจสั่นหรือ หมดสติ
สิ่งที่อาจเกิดคือ QT interval prolongation, Torsades de Pointes or other ventricular arrhythmias, syncope, and cardiac arrest โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีโรคหัวใจอยู่เดิม หรือกินยา loperamide ร่วมกับยาบางอย่างที่อาจทำให้เกิดพิษของยา loperamide ได้มากขึ้นเร็วขึ้น ดังนี้
1. ยาลดกรดในกระเพาะ cimetidine, ranitidine
2. ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย clarithromycin, erythromycin
3. ยาฆ่าเชื้อรา ketoconazole, itraconazole
4. ยาลดไขมัน gemfibrozil
5. ยาต้านไวรัส ritonavir
6. ยามาเลเรีย quinine
7. ยาโรคหัวใจ quinidine
รายงานที่ส่งเข้ามานั้นพบในผู้ที่กินยาเกินขนาดเพื่อหวังผลให้ยาเข้าสมอง อย่าลืมว่ายาเป็นอนุพันธุ์ของมอร์ฟีนครับ เหม่ๆๆ..ไม่รู้เค้าคิดได้ไง แต่อย่างไรก็ตามการใช้ยาหยุดถ่ายเป็นสิ่งที่เราไม่พึงใช้อยู่แล้วในกรณีถ่ายเหลวเฉียบพลัน ยกเว้นว่าจำเป็นมากๆควรปรึกษาแพทย์ก่อนครับ
ผมเองเคยใช้หนึ่งครั้งตอนไปบรรยายงานใหญ่งานหนึ่ง ตอนนั้นสุดๆครับ ถ้าไม่ใช้เห็นทีจะรอดยาก เลยปรึกษาแพทย์ในกระจกและตกลงว่าจะใช้แต่เม็ดเดียวเท่านั้น
ที่มา **06/07/2016 - Drug Safety Communication - FDA
**Loperamide Abuse Associated With Cardiac Dysrhythmia and Death Eggleston, William et al. Annals of Emergency Medicine
**Goodman and Gilman's Manual of pharmacology and Therapeutics
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น