01 มิถุนายน 2559

การดูแลเบาหวานในช่วงศีลอด

การดูแลเบาหวานในช่วงศีลอด

ศีลอด เป็นภารกิจที่ทางศาสนาอิสลามระบุว่าจะต้องปฏิบัติ แต่ถ้าหากเรามีโรคประจำตัวล่ะ..จะทำอย่างไร เนื่องจากบทความนี้ยาวมากจึงแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกผมได้จากการสัมภาษณ์มุสลิมที่เคร่งครัด เอามาเล่าให้พวกเราฟังถึงหลักการของศีลอด เพื่อจะได้นำไปปฏิบัติในส่วนที่สอง คือ การดูแลผู้ป่วยเบาหวานในช่วงการถือศีลอด
ศีลอด เป็นภารกิจครับคือต้องปฏิบัติ ในหนึ่งปีจะมีการกำหนดวันเพื่อเป็นวันเริ่มถือศีลอด โดยทั่วไปก็จะมีไทม์ไลน์คร่าวๆของทางศาสนาอิสลามในแต่ละปี แต่การประกาศวันแรกของเดือนรอมฎอน เดือนที่จะถือศีลอดจะมีการประกาศสองแบบ แบบแรกคือยึดตามการประกาศของประเทศซาอุดิอาระเบีย แบบที่สองคือยึดตามการเห็นดวงจันทร์แรกของเดือนรอมฎอน แบบที่สองนี้แต่ละประเทศก็จะแตกต่างกันไม่มากนัก สำหรับประเทศไทยยึดตามแบบที่สอง คือตามการเห็นดวงจันทร์แรกของเดือน ปีนี้ทางสำนักจุฬาราชมนตรีได้ประกาศเริ่มสังเกตดวงจันทร์แรกของเดือนรอมฎอน ปีฮิจเราะห์ศักราช 1437 ในวันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า

การถือศีลอด เป็นการถือศีลแบบเคร่งครัด intensive งดทุกสิ่งเข้าปาก งดกิน งดดื่ม งดสูบบุหรี่ งดกิจกรรมทางเพศ งดการยั่วยุกิเลสต่างๆ (กลืนน้ำลายได้นะครับ แต่ที่เห็นว่าบ้วนทิ้งเพราะว่าน้ำลายมันเหนียว) เพื่อฝึกใจ ฝึกความอดทน การงดจะเริ่มหลังจากละหมาดแรกของวัน ไปสิ้นสุดหลังละหมาดสุดท้ายของวัน ซึ่งก็คือเวลากลางวันช่วงดวงอาทิตย์ขึ้นนั่นเอง สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานหรือประกอบอาชีพในช่วงกลางวันคงพอทนได้ แต่กับผู้ที่ประกอบอาชีพ ต้องใช้พลังงานจะต้องปรับตัว และถ้าหากมีโรคประจำตัวก็จะปรับยากขึ้นมากๆ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน

ประเทศไทยนั้นอาจโชคร้ายกว่าประเทศทางตะวันออกกลาง เนื่องจากเราเริ่มงาน 0800-1600 แต่ทางประเทศที่เขาร้อนมากๆ เขาจะเลิกงานเร็วกว่าเรา เพราะเขาร้อนครับ เมื่อเลิกงานเร็วก็สูญเสียพลังงานน้อยกว่า หรือในประเทศที่อยู่ในเขตหนาวก็อาจต้องการพลังงานมากขึ้น ก็จะต้องมีการปรับตัวเช่นกัน
คำถามจึงมีว่า ถ้าเราไม่แข็งแรงพอหรือว่ามีโรคประจำตัวที่ต้องกินยากินอาหารนั้น เราไม่ต้องถือศีลอดได้ไหม คำตอบคือ ได้ นะครับ ข้อกำหนดทางศาสนาได้ยกเว้นให้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพไม่ต้องถือศีลอดก็ได้ ให้ไปดูแลผู้ถือศีลอดหรือบำเพ็ญประโยชน์อื่นๆแทน

แต่ถึงกระนั้นแรงศรัทธาแห่งศาสนาก็ผลักดันให้หลายๆคนยินดีที่จะถือศีลอดเพื่อชำระใจให้บริสุทธิ์ ทางการแพทย์เราได้กำหนดแนวทางไว้ให้ด้วยนะครับ เพื่อให้ถือศีลอดได้อย่างปลอดภัยผมจะยกแนวทางหลายๆอันมาผสานกันครับ หลักๆจะเป็นของ American Diabetic Association แต่เรื่องนี้จะเขียนโดยผู้เชี่ยวชาญเรื่องเบาหวานของประเทศแถบตะวันออกกลาง โดยเน้นจากอียิปต์และซาอุดิอาระเบีย

คำแนะนำทุกอันจะระบุไว้ว่า ถ้าทนไม่ไหวหรือถึงขีดจำกัดจริงๆเช่นน้ำตาลสูงมากหรือต่ำมากก็ให้เลิกการถือศีลอดในวันนั้นไป แต่ทางศาสนานั้นเมื่อละศีลอดไปหนึ่งวันก็จะถือว่าขาดศีลไปเลยในวันนั้น ต้องเริ่มใหม่พรุ่งนี้ ผู้ป่วยจึงพยายามเต็มที่ไม่ให้ขาดศีลตรงนี้จึงเป็นเส้นบางๆที่ต้องดูแลครับ เพราะใจกับกายต้องไปด้วยกัน ทำไมเป็นแบบนั้น ก็เพราะว่าทางศาสนาอิสลามเชื่อว่าในช่วงสามสิบวันที่ถือศีลอดนั้น จะมีอยู่หนึ่งวันที่เป็นวันล้างบาปของพระเจ้า อาจจะเป็นวันใดวันหนึ่งก็ได้ ถ้าถือศีลอดครบ 30 วัน โอกาสที่จะได้รับการล้างบาปก็จะเป็น 100% แต่ถ้าเรามีวันที่ต้องละศีลเนื่องจากสภาพร่างกายไม่ไหว เช่น ละไป 4 วันก็จะเหลือวันถือศีลอดเพียง 26 วัน โอกาสจะได้รับการล้างบาปลดลงเหลือ 86.6% ครับ ผู้ที่เคร่งครัดจึงอยากจะปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงครับ
แต่บางทีบางกลุ่มก็มีการถือศีลต่ออีกหกวัน เพื่อชดเชยเรื่องนี้นะครับ ทางศาสนาก็เล็งเห็นตั้งแต่อดีตแล้วว่าบางทีก็อาจมีอุปสรรค สมัยก่อนก็เรื่องน้ำ การเดินทาง การคมนาคม สมัยนี้ก็เรื่องการงาน การประชุมนัดหมาย ที่ทำให้อาจต้องละศีลจึงเกิดการชดเชยขึ้นมา บางท่านก็ถือศีลเป็นสามสิบหกวันเลยก็มี

ที่เล่ามาเพื่อให้เราเข้าใจ วัตถุประสงค์แห่งการถือศีลอด เพื่อเข้าใจถึงหลักการปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยเบาหวานในช่วงเดือนรอมฎอนครับ

เอาละ ท่านเป็นโรคเบาหวาน และกำลังจะเข้าถือศีลอด มีอะไรที่ท่านต้องทราบบ้าง
อย่างแรก ท่านเสี่ยงต่อการเกิดทั้งน้ำตาลสูงและน้ำตาลต่ำต้องทราบนะครับและ พร้อมจะต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลานะครับ ดั้งนั้นสิ่งที่ควรจะทำเป็นอย่างยิ่งคือ ฝึกตรวจน้ำตาลด้วยตัวเองให้ได้ครับ ในช่วงสามสิบวันนี้ควรจะต้องตรวจน้ำตาลด้วยตัวเองอย่างน้อยวันละหนึ่งถึงสองครั้ง ในคำแนะนำไม่ได้ระบุว่าจะต้องตรวจตอนใดนะครับ ประยุกต์เอาก็ได้ เช่นตรวจก่อนละหมาดเย็น เทียบได้คร่าวๆกับการตรวจน้ำตาลตอนเช้าเพราะท่านอดอาหารทั้งวันนั่นเอง การคิดต้องคิดสลับกันกับการตรวจปกติเพราะในภาวะปกติเราตรวจน้ำตาลตอนเช้าหลังงดอาหารมาทั้งคืนนั่นเอง
แต่สำหรับท่านที่ฉีดอินซูลิน ท่านตรวจน้ำตาลบ่อยมากอยู่แล้วเพื่อบันทึกและปรับยา ท่านอาจต้องตรวจตอนกลางวันเพิ่มจากก่อนกินอาหารเย็นและก่อนกินอาหารเช้าที่ท่านตรวจอยู่แล้วเพราะ ท่านมีโอกาสเกิดน้ำตาลต่ำมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆนะครับ

เมื่อใดที่ท่านมีอาการน้ำตาลต่ำหรือท่านตรวจน้ำตาลได้ต่ำกว่า 60 หรือบางครั้งเพื่อเซฟตี้เฟิร์ส อาจใช้ค่า 70 ก็ได้อันนี้ควรจะหยุดศีลอดในวันนั้นครับ หรือถ้าตรวจน้ำตาลได้เกิน 300 ก็ควรหยุดศีลอดในวันนั้นเช่นกัน ในการศึกษาใหญ่ๆเกี่ยวกับเบาหวานนั้นพบว่า น้ำตาลต่ำนั้นมีผลต่ออัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานครับ
เรื่องอาหารการกิน ท่านกินเหมือนเดิมครับเฉลี่ยๆเท่าๆกัน ปัญหาอยู่ที่มื้อหลังละหมาดเย็น ท่านจะหิวมากและมักกินเกินแผนที่วางเอาไว้ ทำให้คุมน้ำตาลไม่ได้ แนะนำอาหารที่เป็นแป้งมากกว่าน้ำตาลหรือของหวานนะครับ และนำดื่มน้ำมากๆในช่วงที่ไม่ได้อดอาหารครับ

การออกกำลังกายและกิจกรรมในแต่ละวัน ท่านก็ทำตามปกติครับ ปัญหาอยู่ที่ว่าท่านมักต้องทำงานในช่วงกลางวันซึ่งเป็นช่วงถือศีล ก็จะโหยหิวมากอาจเกิดน้ำตาลต่ำมากถ้าท่านออกแรงมากเกิน เช่นเล่นกีฬาหนัก โดยเฉพาะท่านที่ฉีดอินซูลิน และควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักในช่วง 1-2 ชั่วโมงหลังจากอาหารมื้อหลังละหมาดเย็นครับ (อันนี้ไม่ทราบเหตุผลครับ)
สำหรับท่านที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 หรือ เบาหวานชนิดที่ต้องการอินซูลินนั้น #ท่านต้องปรึกษาแพทย์เสมอถ้าจะเข้าศีลอด เพราะว่าท่านมีโอกาสน้ำตาลต่ำ และจะต้องปรับการฉีดอินซูลินโดยเฉพาะฉีดลดลงในมื้อเช้า ท่านต้องแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยๆ ในช่วงที่ไม่งดอาหาร ไม่งั้นเดี๋ยวน้ำตาลจะสูงเกินไป และในช่วงที่ถือศีลไม่ควรจะมีกิจกรรมหนักครับ
สำหรับท่านที่เป็นเบาหวานชนิดที่สอง ที่ยังใช้ยาอยู่นะครับ ท่านพลิกยาของท่านดูก่อน

1.ถ้าท่านมียากลุ่ม sulfonylureas คือยาที่เป็น Gli--- ทั้งหลาย อันนี้มีโอกาสเกิดน้ำตาลต่ำได้ครับ ถึงแม้จะไม่ได้ต่ำแบบอันตรายมากแต่ก็เสี่ยง ท่านห้ามใช้ยา chlorpropramide (ปัจจุบันก็แทบไม่มีใช้อยู่แล้ว) ท่านไม่ควรใช้ glibenclamide ท่านอาจจะใช้ gliplizide, glimepiride, gliclazide พอได้ และต้องระมัดระวังน้ำตาลต่ำ หรือต้องตรวจน้ำตาลปลายนิ้วครับ

2.ท่านที่ใช้ metformin ท่านใช้ต่อได้ครับ อาจปรับเปลี่ยนขนาดเล็กน้อย เป็น 2/3 ของขนาดที่กินอยู่เดิมในมื้อค่ำ และ 1/3 ของขนาดเดิมในมื้อเช้า

3.ท่านที่ใช้ยา pioglitazone ก็ใช้ยาเดิมได้ครับ แต่ถ้าหมอเพิ่งมาเปลี่ยนให้ท่าน อาจจะมีน้ำตาลขึ้นได้บ้าง เพราะกว่ายาจะออกฤทธิ์เต็มที่ก็ 1-2 เดือน และที่สำคัญอาจมีอาการบวมหรือ นน.เพิ่มได้บางนะครับ

4.ท่านที่ได้ยากลุ่ม glinide ในประเทศเราคือ repaglinide ใช้ได้นะครับ ยาออกฤทธิ์สั้นๆไม่ค่อยมีโอกาสเกิดน้ำตาลต่ำ แนะนำกินก่อนมื้อค่ำและก่อนมื้อเช้า

5.ท่านที่ได้ยากลุ่ม alpha glucosidase inhibitor เช่น voglibose, acarbose ใช้ต่อได้นะครับ

6.ยาที่น่าจะเหมะสม เพราะโอกาสเกิดน้ำตาลต่ำ—น้อยมากถ้าใช้เดี่ยวๆ— ทนยาได้ดี น้ำตาลมากออกฤทธิ์มาก น้ำตาลน้อยออกฤทธิ์น้อย คือยากลุ่ม incretin อันได้แก่ ยาฉีด (GLP-1 receptor agonist) exenatide, liraglutide ซึ่งฉีดวันละหนึ่งครั้งอยู่แล้ว อาการที่อาจเกิดขึ้นคือ คลื่นไส้อาเจียน ส่วนยากิน (DPP-4 inhibitor) คือ ---gliptin ได้แก่ sitagliptin, linagliptin, alogliptin, saxagliptin, vildagliptin สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยครับ

7.ท่านที่ใช้อินซูลิน อันนี้ควรปรึกษาแพทย์ครับ เพราะควรใช้อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ยาวเป็นอินซูลินพื้นฐาน (basal insulin) และใช้อินซูลินสังเคราะห์ชนิดออกฤทธิ์เร็ว (short acting insulin analogue) ช่วงมื้อค่ำและมื้อเช้า

8.ท่านที่ใช้ insulin pump ต้องไปตั้งโปรแกรมเครื่องใหม่นะครับ

ท่านที่ตั้งครรภ์อันนี้เสี่ยงสูงมากต่อภาวะน้ำตาลต่ำ ควรยกเว้นการถือศีลอดนะครับ ถ้าจะถือศีลจริงๆต้องทำระดับน้ำตาลให้คงที่ก่อนสัก 2-3 เดือน และติดตามระดับน้ำตาลถี่ขึ้น
สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ควรปรับและงดยาขับปัสสาวะครับ
ถ้าท่านใช้ยากลุ่มใหม่ของเบาหวานคือ SGLT2 antagonist คือยากลุ่ม --gliflozin ข้อมูลเรื่องการใช้ยาช่วงเดือนรอมฎอนยังมีไม่มาก แต่ส่วนตัวของผมแล้วควรเลี่ยงครับ เพราะเพิ่มโอกาสเกิดภาวะการขาดน้ำและเลือดเป็นกรดมากขึ้นครับ

ขอให้ท่านโชคดีและจิตใจสะอาดในเดือน รอมฎอนปีนี้นะครับ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น