07 พฤษภาคม 2559

ต้องงดอาหารกี่ชั่วโมง ก่อนตรวจไขมัน

ต้องงดอาหารกี่ชั่วโมง ก่อนตรวจไขมัน

ในอดีตเราเคยต้องงดอาหาร 8-10ชั่วโมงเพื่อตรวจไขมันในเลือด ในปัจจุบันเราพบว่า ไม่ว่าเราจะงดอาหารหรือไม่งดอาหารนั้น ระดับไขมันในเลือดไม่แปรปรวนมากนัก การงดอาหาร 8-10 ชั่วโมงเพื่อไปตรวจหาระดับไขมันนั้น เป็นสิ่งที่ทนได้ยากนะครับ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มาตรวจนั้น มักจะมีโรคหรือกินยาที่เมื่องดอาหารนานๆแล้วเป็นอันตราย
ยกตัวอย่างเช่น เบาหวาน ส่วนมากงดอาหารมาตรวจแต่ยังกินยาอยู่ โอกาสน้ำตาลต่ำจะสูงมาก หรือคนสูงอายุ เด็ก การเดินทางลำบาก ไกล สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้การงดอาหารมาตรวจไขมันเป็นอุปสรรค

มีการศึกษาเกี่ยวกับการลดไขมันต่างๆมากมายที่ใช้ผลเลือดในขณะที่ไม่อดอาหาร ซึ่งความเสี่ยงต่างๆหรือการจัดการต่อผู้ป่วยก็ไม่ได้แตกต่างกัน ทางประเทศอังกฤษและอเมริกา แนะนำว่าไม่จำเป็นต้องงดอาหารนะ การแปลผลและการจัดการต่างๆไม่ต่างกัน แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นบางประการที่อาจต้องงดอาหารมาตรวจ คือ การวิเคราะห์โรคที่เกี่ยวกับไขมันไตรกลีเซอไรด์
ไขมันไตรกลีเซอไรด์นั้น แปรปรวนโดยตรงกับการกินหรืองดอาหาร โดยเฉพาะอาหารมันหรือฟาสต์ฟู้ด้ทั้งหลาย แต่ว่าค่าของไขมันไตรกลีเซอไรด์ที่ไม่สูงนักคือไม่เกิน 440 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อันนี้ไม่ค่อยมีความสำคัญในการประเมินความเสี่ยงโรคหลอดเลือดมากเท่าไร

ทำไมน่ะหรือ...เพราะเวลาเราไปคำนวนในสมการนั้นเราเอาค่าไตรกลีเซอไรด์มาหารด้วยห้า แต่ถ้าค่ามันเกิน 440 การหารด้วยห้านั้น ก็ยังสูงและส่งผลต่อการคำนวน พูดง่ายๆว่าถ้าไตรกลีเซอไรด์ไม่เกิน 440 เราใช้สมการและการคำนวนความเสี่ยงต่างๆ ได้ตามปกติ แต่ถ้าค่าเกิน 440 แนะนำให้ไปงดอาหารมาตรวจ และวัดระดับ LDL โดยตรงที่ไม่ใช่มาจากการคำนวนครับ
กราฟที่ผมเอามาให้ดูเป็นผลการศึกษา พิมพ์ใน european heart journal เมื่อ 26 เมษายนนี้ เพื่อดูระดับไขมันเทียบงดและไม่งดอาหารทั้งชายและหญิง เราก็พบว่าไม่ว่าเรางดอาหารนานๆหรืองดแค่ครึ่งชั่วโมง ค่าไขมัน cholesterol, LDL, HDL แทบจะเป็นเส้นตรงไม่ต่างกันเลย ลดลงเล็กน้อยแต่ก็ไม่มีความสำคัญมากนัก แต่ไขมันไตรกลีเซอไรด์จะลดลงเมื่องดอาหารไปสักพักจนมานิ่งๆที่ประมาณแปดชั่วโมงเป็นต้นไป การเปลี่ยนแปลงนี้ถ้าค่าไม่มากนักคือไม่เกิน 440 จะไม่ค่อยส่งผลครับ

จึงเป็นที่มาว่า เราไม่ต้องงดอาหารมาตรวจไขมันแล้วนะ ยกเว้นในกรณีต่างๆเหล่านี้
1. ค่าไขมันไตรกลีเซอไรด์ขณะไม่งดอาหารสูงเกินกว่า 440 mg/dL (ต้องมางดอาหารตรวจซ้ำ)
2. เป็นโรคของไขมันไตรกลีเซอไรด์โดยตรง (อายุรแพทย์จะแจ้งท่าน)
3. สงสัยผลจากยาที่ทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูง
4. ต้องงดอาหารมาตรวจเลือดอย่างอื่นอยู่แล้ว

จะทำให้การตรวจเลือดง่ายขึ้น ผู้ป่วยไม่เสียเวลา การรักษาดีขึ้น โรคลดลง สังคมเป็นสุข
ปีกผีเสื้อขยับ สะเทือนถึงดวงดาวครับ

ที่มา European Heart Journal, april 2016

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น