อาการปวด หนึ่งในอาการที่พาเรามาพบแพทย์มากที่สุด วันนี้เรามาทำความรู้จักเรื่องปวดกัน และพูดจาภาษาปวดให้ตรงกับหมอครับ
อาการปวดมีกลไกหลายอย่างและมีจุดต่อเส้นประสาทหลายจุด ทำให้อาการปวดในแต่ละคนไม่เท่ากันและไม่เหมือนกันแม้ว่าจะเกิดจากสิ่งกระตุ้นอย่างเดียวกัน เช่นเวลาถูกฉีดยาคนที่ไม่เคยฉีดก็จะเจ็บมากผสมกับความกลัวก็จะเจ็บมากขึ้น แต่คนที่ฉีดเป็นประจำอาจจะแค่รู้สึกมดกัดจริงๆแค่นั้น มีอาการปวดแบบหนึ่งที่อาจเกิดการอักเสบการตึงยืดที่อวัยวะภายใน แต่กลับไปรู้สึกที่ผิวหนัง การปวดลักษณะนี้เรียกว่า referred pain
ภาพนี้จะช่วยอธิบายได้เป็นอย่างดี มาจาก Merck Manual ครับ เส้นประสาทรับรู้ความรู้สึกของหัวใจที่จะถูกกระตุ้นให้ปวดเวลาขาดเลือด มันมีทางเข้าสู่สมองและไขสันหลังทางเดียวกันกับเส้นประสาทที่รับความรู้สึก จากอกซ้ายและแขนซ้าย เอาล่ะ..คราวนี้คิดตามนะครับ เมื่อหัวใจขาดเลือด เส้นประสาทรับความรู้สึกจะถูกกระตุ้น เข้าสู่ไขสันหลัง..เมื่อสัญญาณพุ่งไปแปลผลที่สมอง..อย่างที่กล่าวตอนต้น มันมีจุดเชื่อมต่อหลายจุด และผ่านจุดที่ควบคุมอารมณ์ ประสบการณ์ความรู้สึก มันจึงอาจแปลผลพลาดไปว่าความเจ็บปวดมาจากอกซ้ายลามมาที่แขน เรียกทฤษฎี the convergence-projection hypothesis
เหมือนเราเล่นต่อแถว 10 คน แล้วให้กระซิบบอกข้อความต่อๆกันนั่นแหละครับให้คนสุดท้ายวิ่งมาอ่านข้อความ บางทีก็ผิดไปมาก เช่นเขียนให้กระซิบต่อๆกันว่า " แอดมินเพจนี้ ขยันเขียนจังเลย" บอกต่อๆกัน คนสุดท้ายบอกว่า "แอดมินเพจนี้ หน้าตาดีจังเลย"
เราลองมาดู referred pain ที่พบบ่อยๆกันครับ
1. รอบๆคอ และต้นคอ -- กระบังลมและปอดส่วนล่าง
2. ไหปลาร้าขวา -- ต่อมไทมัส
3. อกซ้าย กราม แขนซ้ายด้านใน -- หัวใจ
4. ใต้ชายโครงขวาและปลายสะบักขวา -- ตับหรือท่อน้ำดี
5. ลิ้นปี่ ทะลุตรงไปด้านหลัง -- ตับอ่อน
6. สะดือ -- ลำไส้เล็ก
7. เอว และต้นขา เหมือนใส่กางเกงตูดขาด -- ไต
8. หัวเหน่าและรอบก้น -- กระเพาะปัสสาวะ
9. ท้องน้อยขวา เท้าเอวแล้วอยู่ตรงนิ้วนาง -- ไส้ติ่ง
10. หว่างขา อัณฑะ ต้นขาด้านใน -- ท่อไต โดยเฉพาะจากนิ่ว
อวัยวะเหล่านี้สมัยเป็นตัวอ่อนมีต้นกำเนิดใกล้ๆกัน เส้นประสาทเส้นเดียวกัน แต่พอร่างกายเจริญจะมีการเคลื่อนที่ หมุน บิดต่างๆ แต่ว่าเส้นประสาทที่รับและส่งสัญญาณยังเป็นเส้นเดิมครับ
มาจาก Harrison's 19th, Merck Manual, Moore Anatomy
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น