25 เมษายน 2559

อันตรายจากสารเคมีทางการเกษตร

อันตรายจากสารเคมีทางการเกษตร

อุทธาหรณ์เตือนใจ เรื่องจริงที่เกิดประจำ อันตรายจากสารเคมีทางการเกษตร บ้านเรายังมีเกษตรกรอีกมากนะครับถึงแม้ว่าจะแล้งจัดแบบนี้ ก็ยังคงต้องเพาะปลูกประทังชีวิตกันต่อไป มันมีความเสี่ยงแอบแฝงอยู่ครับ
สองสัปดาห์ก่อนมีผู้ป่วยส่งมาเนื่องจาก เผลอดื่มยาฆ่าหญ้า กรัมม็อกโซน หรือภาษาทางการว่า สารพาราควอต จริงๆแล้วก็ไม่ได้ดื่มเข้าไปชัดเจนหรอกครับ ผู้ป่วยเผลอไปดื่มสารที่อยู่ในขวดน้ำดื่ม คิดว่าเป็นน้ำดื่ม พออมเข้าไปทราบว่าไม่ใช้ก็รีบบ้วนทิ้งทันที จังหวะบ้วนทิ้งก็กระเด็นเข้าตา แล้วรีบมารพ. ครับ

นี่คือสถานการณ์ที่พบการเกิดพิษมากที่สุด คือการผสมสารเคมีแล้วเก็บในขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำอัดลม ขวดเบียร์ แล้วคนที่ไม่รู้มาดื่มเข้าไป ตอนเรียนผมก็คิดว่า มันจะเกิดได้อย่างไร สีและกลิ่นก็ออกจะแปลก พอมาทำงานจริงๆก็พบว่าเป็นสาเหตุที่พบมากสุดจริงๆ ตำราและ UpToDate ก็เขียนอย่างนั้น ถึงแม้ปัจจุบันจะมีการใส่สารที่ทำให้อาเจียนเข้าไปแล้วก็ตาม ส่วนการซึมผ่านผิวหนังนั้นเกิดน้อยมากครับ ยกเว้นเทพาราควอทใส่ผิวหนังที่เป็นแผลซึ่งเจตนาประสงค์ต่อผลฆาตกรรมแล้วครับ
ต้องระวังให้มากเลยนะครับ ยิ่งถ้ามีลูกเล็กเด็กน้อยล่ะก็ เจ้ากรัมม็อกโซนผสมน้ำนี่ สีเหมือนน้ำหวานสีเขียวเราเลย เรามาดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับผู้ป่วย

อย่างแรกคือผลจากการกัดทำลายเนื้อเยื่อเฉพาะที่ที่โดนสารเคมี แม้จะไม่รุนแรงเท่ากรดด่าง แต่ถ้าถูกเนื้อเยื่ออ่อน เช่น ปาก คอ ดวงตา ก้น จะทำให้มีแผลไหม้ เยื่อบุอักเสบรุนแรงและหลุดลอกออกได้ ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ที่จะกลับมาคืนสภาพ เนื้อเยื่อบุพวกนี้จะเจ็บมากครับ ต้องหมั่นล้างแผล หยอดตา บ้วนปากด้วยน้ำเกลือสะอาด เพื่อกำจัดเนื้อตาย เพิ่มความชุ่มชื้น ป้องการการติดเชื้อ ยิ่งเข้มข้นสูงก็จะทีโอกาสทำลายเนื้อเยื่อต่างๆมากขึ้น ไม่มียารักษาเฉพาะครับ แต่ประคับประคองให้พบช่วงวิกฤต ก็พอครับ
อย่างที่สองคือพิษจากสารพาราควอท จะไปทำให้การใช้ออกซิเจนในร่างกายผิดปกติเกิดเป็นสารซูเปอร์ออกไซด์ที่เป็นพิษต่อร่างกาย ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อไตและตับได้ใน 1-2 สัปดาห์แรก ซึ่งถ้าเราประคับประคองดีๆก็จะมีโอกาสกลับเป็นปกติได้ หลังจากนั้นสัปดาห์ที่ 2-4 อาจจะมีการบาดเจ็บที่ปอด จุดที่มีออกซิเจนมากสุด พิษมากสุดเกิดเป็นพังผืดในปอดและหายใจลำบาก pulmonary fibrosis ซึ่งเกิดเร็วและอาจถึงแก่ชีวิตได้

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ ทำให้อาเจียน(ต้องแน่ใจว่าไม่มีการกลืนกรดหรือด่างร่วมด้วยนะครับ) แล้งนำส่งรพ. ทางโรงพยาบาลจะให้ท่านกินสารละลายดินเหนียว..ครับ ผมไม่ได้พิมพ์ผิด สารละลายดินเหนียว Fuller's earth solution หรือ Bentonite 's solution 7.5% เพราะจะต้านฤทธิ์พาราควอทได้ดี ให้กลืนผงถ่านไปดูดซึมแล้วใช้ยาถ่ายขับออกก็พอช่วยได้
และประเด็นที่สำคัญคือ ไม่ควรให้ออกซิเจนถ้าไม่จำเป็นมากๆครับ อาจจะทำให้แย่ลงเร็วได้นะครับ
ปัจจุบันมีความเชื่อและมีการทดลองรักษา และเก็บผลการทดลองมาวิเคราะห์ ว่าถ้าให้สารต้านอนุมูลอิสระและยาต้านอาการอักเสบน่าจะช่วยลดอาการอักเสบและพังผืดในปอดได้ คือยาสเตียรอยด์ ยาcyclophosphamide วิตามินอีและซี แต่การศึกษาทดลองไม่ได้เป็นการทดลองที่ใช้เพื่อยืนยันการรักษาที่ต้องเป็นการทดลองแบบสุ่ม มีกลุ่มควบคุม แต่นี่ให้การรักษาแบบใหม่แล้วเทียบกับการักษาแบบเดิมในอดีต และผมคิดว่าการทดลองแบบ RCTs ที่จะมายืนยันผลคงจะเกิดยากเพราะคณะกรรมการจริยธรรมคงไม่ให้ผ่านแน่ๆ ดังนั้นด้วยข้อมูลที่เรามี จึงแนะนำให้ยาถ้าผู้ป่วยได้รับยาโดยการกินปริมาณมากพอควร ข้อมูลบอกว่าเกิน 50 ซีซีนี่ถ้าจะแย่ (แบบเข้มข้นนะ)

1.Cyclophosphamide 5 mg/kg/day ทางหลอดเลือดดำ แบ่งให้ทุก 8 ชั่วโมง
2.Dexamethasone 10 mg IV ทุก 8 ชั่วโมง
3.Vitamine C (500 mg/amp) 6 gm/day ทางหลอดเลือดดำ
4.Vitamine E (400 IU/tab) 2 tabs วันละ4 ครั้ง

เป็นสูตรยาของศูนย์พิษวิทยา รามาธิบดีครับ ส่วนการให้การฟอกเลือดแบบ hemofiltration ยังไม่ได้รับการยืนยันเช่นกัน
ตอนนี้ทางที่ดีที่สุดคงเป็นการป้องกันไม่ให้เผอเรอ ใส่ขวดน้ำที่เคยเป็นขวดน้ำดื่ม เครื่องดื่ม จะได้ไม่เจตนาดื่ม ส่วนกลุ่มที่เจตนาดื่มส่วนมากจะเจตนาฆ่าตัวตายครับ และถ้าคิดแค่ประชดเรียกร้องความสนใจ แนะนำว่าอย่าใช้ยาฆ่าหญ้า กรัมม็อกโซนเลยครับ อึกสองอึก---กลับบ้านเก่าเลยนะครับ

ที่มา : Br J Clin Pharmacol. 2011 Nov; 72(5): 745–757.
ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น