14 เมษายน 2559

ปัญหาล้มในผู้สูงอายุ

ปัญหาล้มในผู้สูงอายุ

วันที่ 13 เมษายน เป็นวันผู้สูงอายุ วันนี้ผมมาเล่าให้ฟังเรื่องราวของผู้สูงอายุ คือปัญหาล้มในผู้สูงอายุ ปัญหาที่เป็น "ปัญหาจริง" ของผู้สูงอายุ
จากการศึกษาของไทยเรา ลงพิมพ์ในจดหมายเหตุทางการแพทย์ ว่าผู้สูงอายุที่วัย 60ปีขึ้นไป อัตราการหกล้มประมาณร้อยละ10ใน 1 ปี ไม่น้อยนะครับพอๆกับ โรคหัวใจเลยนะครับ ในส่วนที่ล้มนั้น ล้มรุนแรง10% และจะล้มจนกระดูกหัก 5% และผู้สูงอายุที่ล้มและเข้ารับการรักษาในรพ.นั้น เกินครึ่งเสียชีวิตครับ หรือถ้าไม่เสียชีวิตก็จะมีผลกระทบรุนแรง ไม่ว่ากระดูกหัก เดินไม่ได้ แผลกดทับ ปอดอักเสบ..เรียกว่าการล้มรุนแรงนั้นเป็น pandora's box เลยนะครับ

หรือแม้ว่าผู้สูงอายุที่ล้มแล้วหายป่วยกลับมาได้ ก็จะมีอาการกลัวล้ม ไม่กล้าทำกิจกรรม ไม่กล้าออกกำลังกาย ทำให้สุขภาพและคุณภาพชีวิตลดลงอย่างมาก เหตุปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ผู้สูงอายุหกล้มนั้นมีสามประการครับ เรามาค่อยๆตามไปและป้องกันในสิ่งที่ป้องกันได้ เพื่อพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเราครับ ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยที่เข้าในไอซียูของผมนั้น เป็นผู้สูงอายุทั้งสิ้นนะครับ
ประเด็นแรก ปัจจัยจากคนไข้เอง  การมองเห็นที่บกพร่อง ต้อกระจก ต้อหิน สายตายาว ทำให้ล้มได้ง่ายนะครับถ้าตรวจพบก็ควรแก้ไข ตอนที่ยังไม่ล้มก็จะยังไม่เห็นความสำคัญตรงนี้ครับ ปัญหาการมองเห็นสำคัญมาก ระบบประสาทที่ผิดปกติไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัมพาต สมองเสื่อม กระดูกสันหลังทับเส้น กดไขสันหลัง ปัญหากลุ่มนี้ทำให้แขนขาไม่มีแรงหรือไม่แข็งแรงพอที่จะพยุงตัวเองได้ หรือประสาทรับสัมผัส รับรู้ตำแหน่งที่บกพร่องจะเดินไม่มั่นคง เซ อาจต้องฝึกกายภาพ ใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน อีกโรคคือพวกข้อเสื่อมข้ออักเสบ อย่าว่าแต่เดินเลยครับ นั่งเฉยๆยังปวดเลยถ้าเดินล่ะก็ อาจปวดมากหรือถ้าเป็นนานๆข้อก็จะติดเป็นอุปสรรคในการเคลื่อนที่ได้ครับ ต้องแก้ไขครับ กินยา กายภาพ หรือแม้แต่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อครับ

ประเด็นที่สอง ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม อันดับหนึ่ง อันดับต้น นำโด่งมาเลยครับ คือปัญหาจากยาและผลข้างเคียงของยาครับ
ยาที่ทำให้ซึม ได้แก่ ยานอนหลับ ยารักษาโรคซึมเศร้า ยากันชัก
ยาที่ทำให้ความดันโลหิตต่ำ ก็ยาลดความดันนั่นแหละครับอาจจะเกินขนาดหรือไม่ได้ปรับยา ยารักษาโรคต่อมลูกหมากโตอันนี้แนะนำให้นั่งกินและลุกช้าๆเลยนะครับ ยาขับปัสสาวะ บาลดน้ำมูก ยาแก้วิงเวียน ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมความดันบกพร่องได้ครับ
ยาหลายๆตัว ยาซ้ำซ้อน บางทีกินยาแต่ละที่ไม่มากและปลอดภัย แต่ถ้ากินซ้ำๆกันจากหลายๆคลินิกก็อาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้นะครับ

ต่อมาก็พื้นลื่นครับ กระเบื้องห้องน้ำ ไฟฟ้าส่องสว่างในบ้านไม่พอ บ้านรก พวกนี้เป็นความเสี่ยงที่สามรถปรับแก้ไขได้ครับ ญาติต้องคิดไว้ก่อนที่จะล้มครับ หมอเองก็ต้องคิดว่าผู้สูงอายุในความดูแลนั้นเสี่ยงจะล้มหรือไม่ ถ้าเสี่ยงจะล้มก็ต้องแนะนำญาติในประเด็นนี้ด้วยนะครับ

ประเด็นที่สาม ปัจจัยจากกิจกรรมขณะล้ม เช่นการเดินขึ้นบันได อาจต้องให้มาอยู่ชั้นล่าง เช่นการเดินการหมุนตัว คงต้องสอนวิธีที่ถูกต้อง สำหรับการสอนท่าทางต่างๆหรือการเข้าช่วยผู้สูงอายุนั้น ต้องไปเรียนวิธีที่ถูกจากนักกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัดครับ ถ้าทำไม่ถูกก็จะพาลล้มกันทั้งคนไข้และคนช่วย ไอ้ที่ว่ากิจกรรมที่จะล้มนั้นส่วนมากก็เป็นกิจกรรมในชีวิตประจำวันครับ ไม่ค่อยเกิดจากกิจกรรมโลดโผนหรือกีฬาเพราะผู้สูงอายุจะจำกัดกิจกรรมตัวเองอยู่แล้ว

ที่ว่าถ้าเสี่ยงล้มนั้น ถ้าไม่มีโรคชัดๆอาจใช้ "timed up and go test" คือให้ลุกขึ้น เดินเป็นเส้นตรงไปสามเมตร หมุนตัวแล้วเดินกลับมานั่ง ถ้าใช้เวลาเกิน 30 วินาทีถือว่าเสี่ยงล้มครับ นอกจากเอาปัจจัยเสี่ยงสามข้อออกไปแล้วยังจะต้องฝึกร่างกายผู้สูงอายุ โดยออกกำลังกาย #โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่ฝึกการทรงตัวและความยืดหยุ่นร่างกาย ได้แก่ Tai Chi และควรมีการยกน้ำหนักด้วยแต่ว่าต้องไม่หนักมากไม่งั้นจะบาดเจ็บได้ครับ
การทำแบบนี้นอกจากลดความเสี่ยงการล้ม หรือล้มก็ฟื้นเร็ว ยังทำให้สมรรถนะการทำงานและคุณภาพชีวิต ดีขึ้นมากด้วย หวังว่าผู้สูงอายุที่เป็นบุคคลอันเป็นที่รักของแฟนๆทุกท่านจะแข็งแรงดีและ..ไม่ล้ม..นะครับ

ที่มา : Falls in eldery ของ อ.รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐ์สุวรรณ ใน อายุรศาสตร์ทันยุค 2553 คณะแพทย์ศิริราช
: internal medicine board review ศิริราช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น