11 มีนาคม 2559

การตรวจเลือดและการใช้ยารักษาไวรัสตับอักเสบบี

การตรวจเลือดและการใช้ยารักษาไวรัสตับอักเสบบี

มีแฟนเพจท่านหนึ่ง ถามเรื่องผลเลือดและการรักษาไวรัสตับอักเสบบี เป็นเรื่องที่ยากมากนะครับ เนื่องจากรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างมาก เพียงแต่เพจของเรานั้นทุกคนทุกระดับต้องเข้าใจได้ ผมจึงขอปรับเนื้อหาสักเล็กน้อยให้ง่ายและเป็นภาษาชาวบ้านครับ ส่วนเชิงลึกคงต้องหลังไมค์ครับ
  เริ่มกันที่ผลเลือดก่อน ว่ากันตามจริงก็เจาะให้มากที่สุดเท่าที่สตางค์ท่านจะอำนวยครับ แต่ว่าถ้าจะเอาจำเป็น ง่ายๆก็ดูตัวแรกก่อนครับ HBsAg คือตัวเชื้อไวรัสเอง (จริงเป็นประมาณเปลือกนอกมันน่ะครับ) ว่าขณะนี้มีการติดเชื้อหรือเปล่า ถ้าไม่มีอาจเกิดจากไม่เคยติดมาก่อน หรือเคยติดแล้วหายแล้ว หรือเคยได้วัคซีน  แต่ถ้าพบก็มีการติดเชื้อครับอาจจะเฉียบพลันหรือเรื้อรังก็ได้  ต่อมาก็ตัวที่สอง HBeAg ประมาณว่าตรวจดูว่าเชื้อไวรัสหนุ่มรุ่นกระทงที่สามารถสืบลูกลืบหลานได้มันมากไหม ถ้าผลเป็นบวกคือเชื้อมากออกลูกได้มาก ยังไม่น่ากลายพันธุ์แต่ถ้าเป็นลบก็หมายว่าเชื้อน้อย แบ่งตัวเรื่อยๆไม่เร็ว แต่ไม่ค่อยหยุดเนื่องจากกลายพันธุ์ไปแล้ว โดยทั่วไป HBeAg นี่จะเอาไว้ตรวจขยายความเมื่อ HBsAg ผลเป็นบวกเสียก่อน

  ต่อมาคือตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ anti HBs anitbody ทั่วไปมันจะขึ้นเมื่อกำจัดเชื้อได้คือเจ้า HBsAg หายไปหมดแล้ว หมายถึงเรามีภูมิแล้วล่ะ จะเกิดจากเป็นแล้วหายจึงเกิดภูมิหรือเกิดจากการฉีดวัคซีนก็แล้วแต่ ถ้าเป็นลบคือไม่มีภูมิและตอนนี้ก็ยังไม่มีเชื้อ HBsAg ก็ควรรับวัคซีนครับโดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ข้อพิเศษคือเจ้าภูมิคุ้มกันนี้สามารถป้องกันการติดเชื้อครั้งใหม่ได้ดีและอยู่กับเราไปตลอดชีวิตครับ สำหรับภูมิคุ้มกันตัวต่อไปคือ anti HBe antibody ก็จะขึ้นเมื่อหายจากโรค หายจากการติดเชื้อหรือการติดเชื้อสงบลงแต่โรคดำเนินไปช้าๆจนเชื้อกลายพันธุ์ (ไม่พบ HBeAg จะมีanti HBe antibody ขึ้นได้) และใช้ดูการตอบสนองต่อการรักษา  เริ่มงงแล้วสิสรุปดูว่าโรคสงบหรือเปล่า กลายพันธุ์หรือยัง
   ผลเลือดต่อมาที่มักตรวจคือ HBV DNA viral load คือวัดปริมาณไวรัสครับต่อเลือดหนึ่งซีซี ใช้บ่งชี้การรักษาและติดตามการรักษาว่าให้ยาไปแล้วไวรัสลดลงไหม ถูกกดได้ไหม

โดยทั่วไปก็รักษาเมื่อพบเชื้อ เชื้อมากพอ และมีการอักเสบของตับเรื้อรัง อีกประเด็นคือมีความเสี่ยงการเกิดมะเร็งตับหรือตับแข็งสูงครับ รายละเอียดนี้คงต้องปรึกษาอายุแพทย์ใกล้บ้านครับ ส่วน HBcAg และ anti HBc antibody บ่งบอกการติดเชื้อเฉียบพลันระยะต้นๆและภูมิคุ้มกันต่อโรคอันเกิดจากการติดเชื้อไม่ใช่จากวัคซีน  สองตัวนี้ท่านอาจไม่ค่อยได้ตรวจผมจะยกให้หมอที่สั่งตรวจท่านแปลให้ท่านฟังเองครับ ถ้าเราเข้าใจไม่ดีพออาจจะแปลผิดพลาดได้นะครับ


ต่อมามาดูยากันบ้าง ผมจะสรุปแบบผมเองนะครับ ยามีสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือยาฉีดเพื่อไปโมดิฟายภูมิคุ้มกันตัวเอง เหมือนใส่ผักโขมให้ป็อปอายประมาณนั้น ภูมิคุมกันตัวเองก็จะไปไล่ล่าเชื้อเอง มักใช้ในอายุไม่มาก ภูมิคุ้มกันยังดีอยู่ (คือการอักเสบจะมากครับ) คือยา interferon alpha ฉีดสัปดาห์ละสามครั้ง ยาวนานหกเดือน  ส่วนของใหม่คือ PEG-interferon alpha ฉีดสัปดาห์ละครั้งยาวนาน 1 ปี  ต้องระวังในกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันตัวเองนะครับ เพราะอาจไปกระตุ้นภูมิตัวเองจนเกิดโรคได้  อัตราการตอบสนองถือว่าดี
  ส่วนยาอีกกลุ่ม คือ ยากินเพื่อไปยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสโดยตรง ไม่ได้มายุ่งอะไรกับภูมิคุ้มกันของเรา แบบนี้บางทีเชื้อมันปรับตัวทำให้ดื้อยาได้ครับ ยากินนั้นใช้ได้กับทุกกลุ่มอายุ อักเสบมากหรือน้อย ตับจะแข็งหรือไม่ก็ใช้ได้ แข็งมากแข็งน้อยก็เลือกใช้ได้ (ตับนะครับ..ตับ) ก็จะมียาที่ไม่ค่อยเหนี่ยวนำการดื้อยา เช่น tenofovir หรือ entecavir  ส่วนยาที่เหลือก็อาจเหนี่ยวนำการดื้อยาได้เช่น lamivudine, telbivudine โดยการกินยานั้นมักจะต้องกินนานและติดตามผลข้างเคียงของการใช้ยาอยู่เสมอๆครับ  ถึงแม้ตับแข็งการใช้ยาลดปริมาณไวรัสลงก็ยังเกิดประโยชน์นะครับ ลดการเกิดมะเร็งตับลงได้  ส่วนการเลือกใช้ยาอะไรนั้นจะไม่ลงในรายละเอียดนะครับ

อันนี้ ลิงค์เดิมที่เคยเขียนเมื่อต้นปีครับ https://www.facebook.com/medicine4l...

ที่มา : thai HBV,HCV guideline 2015
          harrison 19th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น