อาการถ่ายเหลวเฉียบพลัน เราจะนิยามประมาณไม่เกิน 2 สัปดาห์ครับ และนับตัวเลขที่มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรือถ้าเป็นมูกเลือดก็นับแค่ครั้งเดียวครับ สมัยก่อนมีเกณฑ์การวัดปริมาณอุจจาระแต่ว่าไม่สะดวกในทางปฏิบัติ คงเหลือเกณฑ์ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดเพียงเท่านี้ครับ
สำหรับในประเทศไทย สาเหตุหลักของการถ่ายเหลวเฉียบพลันนั้นยังเป็นเรื่องของการติดเชื้อ และสารพิษจากเชื้อโรค (คือเชื้อโรคไม่ได้ไปเพาะในตัว แต่สร้างสารพิษอยู่ในอาหารแล้วเรากินเข้าไป ทำให้มีอาการถ่ายเหลวจากสารพิษนั้น) เชื้อโรคที่ก่อโรคก็พบพอๆกันทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสครับ เกือบทุกตัวทำให้มีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำเด่นกว่า ส่วนถ้าถ่ายเหลวมีเลือดปนนั้นจะเกิดจากเชื้ออยู่ไม่กี่ตัว เช่น ไวรัส cytomegalovirus ที่มักพบในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันไม่ดี เชื้อแบคทีเรีย V.parahemolyticus, Salmonella, Shigella, Yesinia, Campylobactor, E.coli อาการก็ชัดเจนครับ ปวดบิดท้องและถ่ายมีมูกเลือดปน
ส่วนแบคทีเรียที่ก่อพิษในอาหารที่พบมากคือ bacillus ###ในข้าวผัดตั้งทิ้งนานๆ, Clostridium perfringens ในอาหารกระป๋อง
ผู้ป่วยถ่ายเหลวเฉียบพลันมักจะมีไข้ต่ำๆอยู่แล้วทุกราย ดังนั้นการมีไข้ต่ำหลังถ่ายเหลวจึงไม่ใช่สิ่งที่จะชี้ว่าต้องใช้ยาฆ่าเชื้อทุกรายนะครับเดิมเราใช้เกณฑ์การเพาะเชื้อ ปัจจุบันดูว่าการถ่ายเหลวมีแนวโน้มเป็นแบคทีเรียหรือไม่ ร่างกายคนไข้ภูมิดีหรือเปล่า เสี่ยงติดเชื้อรุนแรงหรือไม่ ถ้าเสี่ยงมากก็พิจารณาให้ยาฆ่าเชื้อครับ ส่วนการถ่ายเหลวที่เป็นอหิวาห์ตกโรคนั้น ต้องให้ยาฆ่าเชื้อ tetracycline เพื่อรักษาและลดการระบาดของโรคด้วยครับ ส่วนเชื้ออื่นๆมักจะตอบสนองดีต่อยา norfloxacin เพียง 2-3 วัน
สิ่งที่สำคัญกว่าคือการชดเชยน้ำและเกลือแร่ครับ โดยใช้สารละลายเกลือแร่ที่เป็นซองผงชงดื่มครับ ไม่แนะนำให้ใช้เกลือแร่ของนักกีฬา (เกลือแร่นักกีฬามีความเข้มข้นเกลือน้อยกว่า ORS ครึ่งหนึ่ง) เพราะนักกีฬาสูญเสียน้ำจากเหงื่อครับ ไม่ได้เสียน้ำจากอึ โดยดื่มเท่าๆกับปริมาณที่ถ่ายเหลวออกมา และกินอาหารอ่อนๆครับ การให้สารน้ำทางหลอดเลือดใช้ในกรณีช็อกหรือกินไม่ได้เลย เพราะการรักษาและให้อาหารลำไส้ควรใช้การกินครับ และมีผลการศึกษาออกมาว่าการกินเกลือแร่ช่วยให้ความสมดุลเกลือแร่ดีกว่าและหายเร็วกว่าครับ
ยาหยุดถ่ายล่ะ--ควรใช้ไหม คำตอบคือไม่มีหลักฐานมาสนับสนุนว่าทำให้หายเร็วหรือลดการดำเนินโรค และถ้ายิ่งเป็นการถ่ายมีมูกเลือดนี่ ห้ามใช้เลยครับ สรุปว่าถ้าไม่รบกวนชีวิตมากมายก็ไม่ควรใช้ครับ ถ้าคิดรอบคอบแล้วหรือปรึกษาแพทย์แล้วควรใช้ยาที่ช่วยลดปริมาณอุจจาระที่ถ่าย คือ loperamide หรือ racecadotril ตัวหลังนี้ผมค้นเจอแต่งานวิจัยในเด็กนะครับ หมอเมดก็ฟังหูไว้หูแล้วกัน
สุดท้ายที่อยากบอกคือ -- โรคนี้มันหายเองได้ครับ -- ไม่ต้องตกใจมากนัก แต่ถ้าดูแปลกๆเมื่อไรก็ต้องไปพบแพทย์ครับ อาการนำของหลายๆโรคคือถ่ายเหลวได้ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น