16 พฤศจิกายน 2558

สมรรถภาพปอด pulmonary function test

สมรรถภาพปอด pulmonary function test

ปัจจุบันเราแนะนำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงลมโป่งพองต้องได้รับการตรวจสมรรถภาพปอดอย่างน้อยหนึ่งครั้งเพื่อการวินิจฉัยโรค และมีข้อบ่งชี้ในการตรวจอีกหลายอย่างเช่น แยกโรคหอบหืดจากถุงลมโป่งพอง ตรวจสมรรถภาพและประสิทธิภาพในผู้ป่วยบางรายก่อนผ่าตัด ผู้ป่วยหลังคดหลังโก่ง วันนี้เราจะมาทำความรู้จักง่ายๆกับเครื่องตรวจสมรรถภาพปอดครับ

เครื่องตรวจสมรรถภาพปอดจะเป็นคล้ายๆภาพประกอบ คือมีท่อเป่าลม (จริง ๆ แล้วดูดลมด้วย) ต่อตัวแปลงสัญญาณไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่องพิมพ์รายงานผล และเวลาจะเป่าก็จะมีคลิปไว้หนีบจมูกเพื่อให้ลมทั้งหมดออกทางปากครับ การตรวจบางแบบก็วัดลมทั้งก่อนและหลังพ่นยา เครื่องใหญ่ๆในโรงเรียนแพทย์ก็จะมีตัววัดการกระจายของแก๊สด้วย

เมื่อคุณหมออายุรกรรมส่งท่านไปห้องตรวจ เจ้าหน้าที่คุมเครื่องจะให้ท่านปรับเสื้อผ้าให้สบาย และหลวมๆ จะได้ไม่ติดเวลาออกแรง คัดกรองหาโรคที่เป่าไม่ได้ เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ โรคหัวใจรุนแรง เมื่อไม่มีข้อห้ามเขาก็จะให้ท่านนั่งสบายๆ อธิบายวิธีเป่าและดูดลมผ่านท่อเป่าลม หลังจากนั้นก็จะเอาคลิปมาหนีบจมูก แล้วเริ่มทดสอบ

ตอนทดสอบท่านก็จะต้องดูดลมเข้าให้สุดและเป่าออกยาวๆ ยาวๆนี่ อย่างน้อย 6 วินาทีนะครับ ตอนนี้เจ้าหน้าที่จะเปลี่ยนเป็นกองเชียร์ คอยเชียร์ท่านให้เป่าได้ถูกต้อง ปกติก็จะเป่า 3-6ครั้ง เพื่อบันทึกผลให้คุณหมอที่ส่งตรวจแปลผล บางท่านต้องพ่นยาขยายหลอดลมแล้วทดสอบซ้ำว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ถ้าเปลี่ยนมากกว่า 20% ก็แสดงว่าไวต่อยาขยายหลอดลม มีโอกาสเป็นหอบหืดสูง

นอกจากนี้ก็ยังอ่านค่าต่างๆอีกมากเช่น FVC FEV1 FEC 25-75 บางทีทำ DLCO ได้ อันนี้หมอผู้สั่งต้องแปลเอาเองครับ เพราะผลการตรวจสมรรถภาพปอดอย่างเดียว ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้นะครับ และยังไม่แนะนำตรวจถ้าไม่มีข้อบ่งชี้ ไม่แนะนำเป็นการตรวจสุขภาพประจำปีด้วย

ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองควรตรวจทุกคนนะครับ ผมไม่ทราบว่าสิทธิบัตรต่างๆให้สิทธิไว้ว่าอย่างไร แต่ว่าตอนนี้ก็หาตรวจได้ง่ายตามโรงพยาบาลเอกชน แต่ก็ต้องมีใบประกาศการควบคุม และฝึกอบรมจาก สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยครับ มีศูนย์ฝึกหลายแห่ง ที่โคราชก็มีคุณหมอ อนุชิต นิยมปัทมะ เป็นauthority ครับ ถ้าไม่ได้ใบประกาศก็ไม่น่าทำและผลก็จะเชื่อถือได้ยากครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น