กาแฟที่เราดื่มทุกวันนี้มันมีผลต่อสุขภาพอย่างไร บทความนี้อ่านมาจากหนังสือโภชนาการและชีวเคมี ที่ทันสมัยที่สุด รวบรวมเอาแต่ความจริงมาเล่าให้ฟังครับ
เข้าใจกันก่อนว่ากาแฟนั้น มีหลายๆส่วนประกอบกัน ส่วนที่มีผลต่อสุขภาพคือ คาเฟอีน และสารต้านอนุมูลอิสระอีกสองชนิดคือ cafestrol และ kahweol ซึ่งเจ้าสารต้านอนุมูลอิสระจะอยู่ในกาแฟอะราบิก้า แบบที่ไม่ได้กรองกากกาแฟครับ ส่วนคาเฟอีนนั้นพบกาแฟทุกรูปแบบ ปริมาณคาเฟอีนจะต่างกันออกไปในแต่ละชนิดกาแฟ
กาแฟที่มาจากบดเมล็ดกาแฟสดๆ 8 ออนซ์ มีคาเฟอีน 137 มิลลิกรัม
เอสเพรสโซ่ร้อน 1 ช็อต ประมาณ 2 ออนซ์ จะมีคาเฟอีน 100 มิลลิกรัม
กาแฟผง 8 ออนซ์มีคาเฟอีน 76 มิลลิกรัมเครื่องดื่มน้ำอัดลมสีดำๆ มี 8 ออนซ์ก็มีคาเฟอีน47 มิลลิกรัม
ผลหลักๆ 4 อย่างของกาแฟนะครับ
1. คาเฟอีน ทำให้สดชื่น การใช้พลังงานดีขึ้น ไม่เหนื่อยล้า ไม่ได้แก้ง่วงนะครับ ผลเหล่านี้เหล่าผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเป็นผลทางใจมากกว่าครับ คาเฟอีนที่ได้รับน้อยเกินกว่าจะทำให้เกิดผลนี้ ถึงแม้ว่าจะกินหนัก 4-5 ถ้วยก็ตาม
2.โรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่มีการศึกษามากที่สุดครับ เคยมีการศึกษาหาปัจจัยเสี่ยงโรคพาร์กินสันในคนญี่ปุ่น กว่า 8000 ราย พบว่าคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ พบการเกิดโรคพาร์กินสันน้อยกว่าคนที่ไม่ดื่ม 5 เท่า โดยขนาดดื่ม 28 ออนซ์ต่อกัน เขาเก็บข้อมูล 30 ปีนะครับ แต่ข้อเท็จจริงนี้ใช้ได้กับสุภาพบุรุษนะครับ เนื่องจากฮอร์โมนเพศในสุภาพสตรี (เอสโตรเจน) จะไปแย่งกันเกิดปฏิกิริยากับคาเฟอีนครับ (cytochrome P 1A2)
หรือสตรีวัยทองที่กลับไปรับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจน ก็จะกลับมาพบโรคพาร์กินสันมากกว่า คนที่ไม่ได้กินฮอร์โมน (เอาแต่คนที่ดื่มกาแฟด้วยนะ)
ทางการแพทย์สันนิษฐานว่า คาเฟอีนจะไปทำให้สารสื่อประสาท โดปามีน D2 ขนส่งได้ดีขึ้น และยับยั้ง adenosine receptor ที่สองส่วน basal ganglia---อันนี้เป็นศัพท์ทางการแพทย์ครับ
3.โรคเบาหวาน ก่อนหน้านี้เราเคยมีการศึกษาชัดเจนว่าคาเฟอีนบริสุทธิ์จะเพิ่มระดับน้ำตาล แต่พอมาดื่มกาแฟกลับพบว่าโอกาสการเกิดโรคเบาหวานกลับลดลง (เอ่อ--กาแฟดำนะครับ ไม่ใช่กาแฟนมเพิ่มวิปครีม เพิ่มไซรัป) โดยพบว่าคนที่ดื่มกาแฟ 6-7 ถ้วยต่อวันพบโรคเบาหวานน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ดื่ม ( odds ratio = 0.65, 95%CI 0.50-0.78) ยิ่งเป็นกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีนยิ่งลดโอกาสการเกิดเบาหวานลงอีก
อีกการศึกษาพบว่าสุภาพสตรีที่ดื่มกาแฟเป็นประจำก่อนท้อง ก็ไม่ค่อยพบโรคเบาหวานจากการตั้งครรภ์
เราเชื่อว่าสารต้านอนุมูลอิสระในกาแฟ เป็นตัวทำให้การดื้ออินซูลินลดลง ทำให้ไม่ค่อยพบเบาหวาน และการต้านอนุมูลอิสระนั้นคือ phenol chlorgenic acid
4. ลดกรดยูริกในเลือด จากการที่คาเฟอีน ไปออกฤทธิ์เป็น xanthine alkaloid คล้ายๆยาลดกรดยูริก allopurinol แต่ไม่ได้ลดอัตราการเกิดโรคเก๊าต์นะครับ
ส่วนผลของการลดมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งลำไส้จากสารต้านอนุมูล cafestol และ Kahweol ที่อาจเอาสารก่อมะเร็งออกได้ แต่ข้อมูลไม่ชัดเจน การเกิดใจสั่นอาจทำให้ความดันสูงขึ้นเล็กน้อย และจะลดลงเองได้ และใจสั่นที่อันตรายมักจะเกิดกับคนที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอยู่เดิม แล้วไปดื่มกาแฟปริมาณมากกว่าปกติ
ข้อระวังในการดื่มกาแฟ คือในผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรดื่มครับ แม้จะไม่มีรายงานความผิดปกติของเด็กที่ชัดเจน แต่ก็มีรายงานแท้งมากกว่าหญิงที่ไม่ดื่ม มีรายงานน้ำหนักแรกคลอดน้อย และตัวเล็กกว่าอายุครรภ์
ที่มา : nutrition in clinical practice
: understanding clinical nutrition
: Harper's review in biochemistry
: Freedman ND et al. Association of coffee drinking with total
and cause-specific mortality. N Engl J Med 2012 May 17; 366
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น