23 พฤศจิกายน 2558

ลดบริโภคเค็ม

ลดบริโภคเค็ม

เอาล่ะครับ เป็นที่รับรู้กันทั่วไปแล้วล่ะว่า ควรลดการบริโภคเค็ม และลดเกลือในอาหาร เพื่อป้องกันและรักษา โรคไต โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ไปหาหมอทีไร หมอก็บอกว่าอย่ากินเค็มนะ แล้วทำอย่างไรล่ะ...

อย่างแรกดูฉลากอาหารก่อนเลยครับ ปัจจุบัน อย. กำหนดให้แสดงปริมาณเกลือโซเดียมในอาหารอยู่แล้ว พลิกดูได้เลยครับว่าอาหารที่เรากิน มีโซเดียม กี่มิลลิกรัม และคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของที่ต้องการในแต่ละวัน

อย่างที่สอง เราควรหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปต่างๆครับ เช่น ผมมีเนื้อหมูสด สิบชิ้น ประมาณ 1 หน่วยโปรตีน จะมีโซเดียม 15 มิลลิกรัม แต่เมื่อเอาไปทำเป็นไส้กรอกในขนาดน้ำหนักเท่าๆกัน จะมีเกลือ 350 มิลลิกรัม ถ้าไปทำเป็นลูกชิ้นก็จะมีเกลือ 320 มิลลิกรัม และถ้าไปทำเป็น บาโลน่าหมูพริก จะได้เกลือโซเดียม 420 มิลลิกรัมเลย
ไข่ไก่สดหนึ่งฟอง มีเกลือ 90 มิลลิกรัม ประมาณน้ำปลาครึ่งช้อนชา แต่พอไปทำเป็นไข่เค็มจะมีเกลือ 480 มิลลิกรัม ประมาณน้ำปลา 1 3/4 ช้อนชา
ปลาอินทรี 1 ชิ้น มีเกลือโซเดียม 75 มิลลิกรัม แต่พอมาทำเป็นปลาเค็ม จะมีเกลือ 3200 มิลลิกรัมครับ ประมาณน้ำปลา 8 ช้อนชา
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหนึ่งซอง มีเกลือ 1500-1600 มิลลิกรัม

สุดท้ายแหล่งที่มาของเกลือที่มากที่สุดคือมาจากเครื่องปรุงอาหารครับ  เช่น น้ำปลา กะปิ เกลือ ซีอิ๊วขาว ผงชูรส ผงฟู
เกลือ 1 ช้อนชามีเกลือโซเดียม 2000 มิลลิกรัมครับ น้ำปลา 1 ช้อนชามีโซเดียม 400 มิลลิกรัม ซอสถั่วเหลืองปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ มีเกลือโซเดียม 1300-1500 มิลลิกรัม
น้ำจิ้มไก่ 1 ช้อนโต๊ะมีเกลือโซเดียม 200 มิลลิกรัม ผงชุรส 1 ช้อนชามีเกลือโซเดียม 500 มิลลิกรัม ผงฟูทำขนม 1 ช้อนชาได้เกลือ 340 มิลลิกรัม
และส่วนมากของเครื่องปรุง ละลายอยู่ในน้ำครับ ส้มตำ 1 จาน มีเกลือ 1832 มิลลิกรัมซึ่งอยู่ในน้ำส้มตำ 1100 มิลลิกรัม ผัดผักบุ้งไฟแดง 1 จานมีเกลือโซเดียม 750 มิลลิกรัมซึ่งอยู่ในน้ำผัด 450 มิลลิกรัม

ลดสามอย่างนี้ ลดเกลือได้แน่ๆครับ เอ่อ...องค์การอนามัยโลก แนะนำว่าเราไม่ควรรับประทานเกลือเกินวันละ 2300 มิลลิกรัมครับ (อนามัยโลกพระจันทร์แหงๆๆ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น