01 ตุลาคม 2558

โรคกรดไหลย้อน (gastro-esophageal reflux disease)

โรคกรดไหลย้อน (gastro-esophageal reflux disease)

ประมาณปีที่แล้วมีมุกว่า ถ้าเราไปกดไลก์ใครในเฟซบุ๊ค แล้วเขากดไลก์กลับคืนมาก็จะเรียกว่า---- "กด-ไลก์-ย้อน"----

โรคกรดไหลย้อน เกิดจากความผิดปกติของหูรูดหลอดอาหารด้านล่างผิดปกติ หลอดอาหารเชื่อมต่อระหว่างปากกับกระเพาะ วางตัวเป็นแนวยาวหลังกระดูกกลางอก-- อยากทราบว่าอยู่ตรงไหนลองดื่มน้ำเย็นจัดๆดูครับ มันมีหูรูดบนและล่าง เพื่อกันอาหารไหลย้อนกลับ ไม่งั้นก็สำลัก ไอ้เจ้าหูรูดล่างตรงที่ต่อกับกระเพาะอาจเปิดๆปิดๆ ไม่สัมพันธ์กับจังหวะการกลืน หรือ เปิดเองโดยที่ไม่ได้มีอาหาร หนักสุดก็อาจเปิดค้างตลอดเวลา ทำให้อาหารหรือ กรดในกระเพาะที่ไม่ควรกลับขึ้นมา ก็กลับขึ้นมาได้

เนื่องจากมันเปิดๆปิดๆ ไม่เหมือนกันในแต่ละคน อาการจึงต่างกันออกไป เช่น มีอาการแสบๆร้อนๆ ตั้งแต่ลิ้นปี่ร้อนร้าวขึ้นมาคอหอย (อาการอันนี้ค่อนข้างเฉพาะ) หรือบางคนก็ย้อนนิดเดียว แค่แน่นๆ หลังกินอาหาร หรือมีอาหารขย้อนอาหารขึ้นมาโดยที่ไม่ได้คลื่นไส้ เพราะหูรูดมันเสีย (อาการนี้ก็เฉพาะครับ) บางคนก็เรอบ่อยๆ อาจสัมพันธ์กับมื้ออาหารหรือไม่ก็ได้ ย่อหน้านี้ผมหมายถึงถ้าร่างกายเราตอบสนองไวต่อกรดนะครับ

ในบางกรณี กรดก็ไม่ได้ไปทำลายทางเดินอาหารแต่ไหลย้อนไปเกิดอาการที่อื่นๆ เช่น ไหลลงหลอดลม เกิด ไอเรื้อรัง หอบหืด ไหลไปที่สายเสียง เกิด เสียงแหบ ไหลไปที่ช่องปาก เกิด ฟันผุ มีกลิ่นปากได้
เรียกได้ว่าอาการหลากหลายและเป็นโรคที่วินิจฉัยยากอันหนึ่ง
ส่วนมากแล้วอายุรแพทย์จะใช้อาการและความเสี่ยงเป็นหลักในการวินิจฉัย แล้วให้ยาเพื่อดูการตอบสนอง (therapeutic diagnosis) ส่วนการวินิจฉัยจริงๆต้องสอดสายไปวัดความเป็นกรดที่หลอดอาหารตลอด 24 ชั่วโมง ก็จะทำในรายที่ไม่ตอบสนองการรักษา หรือ ผลการส่องกล้องไม่ชัดเจน แต่มันยุ่งยากครับ ทำได้ไม่กี่ที่ ส่วนการส่องกล้องเราก็ไม่ได้ทำเพื่อรักษา แต่เราทำเพื่อแยกโรคอื่นๆ และถ้าเป็นนานๆก็ส่องดูความรุนแรงและตัดชิ้นเนื้อดูการอักเสบ

การรักษาแบบใช้ยาก็จะใช้ยาลดกรดในขนาดสูงและบางครั้งให้ยาลดกรดสองชนิด ชนิดที่สองกินก่อนนอนด้วยเพื่อรักษาอาการช่วงนอนกลางคืน (หูรูดมันไม่หลับไม่นอนเหมือนเรานะครับ) และมักจะเริ่มใช้ยาในขนาดสูงมากๆก่อน แล้วจึงค่อยๆปรับลดลงมาจนได้ขนาดต่ำที่สุดที่จะควบคุมอาการได้ และอาจลดลงเป็นกินยาเมื่อมีอาการเท่านั้น และ ก็ต้องใช้ร่วมกับการปรับชีวิต งดอาหารย่อยยาก กินน้อยลง งดเหล้า งดบุหรี่

ยาลดกรดใช้ในขนาดเช้า-เย็น (double dose proton pump inhibitor) และยาลดกรดอีกชนิดก่อนนอน (bedtime H2RA) หรืออาจใช้ยาลดกรดกลุ่มใหม่ที่ออกฤทธิ์ยาวนาน เช่น dexlansoprazole เป็นต้น
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมากๆ รักษาด้วยยาไม่ได้ผล อาจต้องผ่าตัดรักษาครับ

โรคนี้ถ้ารุนแรงและเรื้อรัง ก็จะมีโอกาสที่กรดจะไปทำให้ เซลหลอดอาหารส่วนล่างเกิดการแปรเปลี่ยนรูป เรียกว่า Barrett's esophagus ที่อาจจะกลายไปเป็นมะเร็งที่อัตราเสี่ยง 0.2-2% ต่อปี ถ้ามีภาวะนี้อาจต้องส่องกล้องติดตามบ่อยๆ หรือผ่าตัดเลยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น