13 ตุลาคม 2558

ไข้รากสาดใหญ่--การติดเชื้อ สครับ ไทฟัส

ไข้รากสาดใหญ่--การติดเชื้อ สครับ ไทฟัส

ไข้รากสาดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อในเขตร้อนที่ยังเป็นปัญหามากในบ้านเรา เพราะว่าภาวะโรคร้อน ทำให้สัตว์พาหะ คือสัตว์ฟันแทะ จำพวกหนู มีพฤติกรรมโยกย้ายเข้าเมืองมากขึ้น โรคที่เคยคิดว่าอยู่ในชนบท เลยต้องเปลี่ยนความคิดใหม่แล้ว

ข้อมูลในอดีตที่เคยคิดว่าอยู่ตามท้องร่องท้องนา สุมทุมพุ่มไม้ หรือการระบาดอย่างหนัก ตอนที่กองทัพนโปเลียนเข้าบุกมอสโกว์ในปี 1812 หรือ การระบาดอย่างหนักในกองทหารเยอรมันที่เข้าบุกรัสเซีย และการระบาดในค่ายกักกันชาวยิว จนหนูน้อย แอนน์ แฟรงก์ ผู้เขียนบันทึกอันโด่งดัง ก็เสียชีวิตจากโรคนี้ (จริงๆไม่รู้ว่า ไทฟัส หรือ นาซีที่สังหารคนมากกว่ากัน และถ้านาซีทราบว่า doxycycline รักษาโรคนี้ได้ง่ายๆ ผลของสงครามอาจพลิกได้
Charles Nicolle นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้รับรางวัลโนเบล เมื่อทราบว่าพาหะจริงๆ ของโรคติดเชื้อแบคทีเรียไทฟัสนี้ คือ เจ้าไรอ่อน (chigger) ที่มีหลายสายพันธุ์ กัดหนู แล้วเอาเชื้อแบคทีเรีย Orientia tsutsugamushi (ชื่อ tsutsuga แปลว่า การเจ็บป่วย ส่วน mushi แปลว่า แมลง-- ภาษาญี่ปุ่น ตรงดี) มาจากหนูมายังคน จากการศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา พบว่า ไข้ไม่ทราบสาเหตุนั้น เป็น ไทฟัส 34% และไม่ได้มาจากป่าดงพงหญ้าแต่อย่างใด มาจากในอำเภอเมืองก็มาก ดังนั้น ต้องคิดถึงโรคนี้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในประเทศไทย

อาการของโรคก็ช่างทำร้ายใจหมอจริงๆ--คืออาการมันไม่มีอะไรจำเพาะ แต่ที่พบบ่อยๆคือ ไข้สูงไม่มีอาการติดเชื้อที่ระบบอวัยวะใดชัดเจน 3-4 วัน ปวดหัวรุนแรง ต่อมน้ำเหลืองโต ตับม้ามโต ผื่น เอาเป็นว่าถ้าแพทย์ประจำบ้านท่านใด ได้รับข้อสอบโรคนี้ก็ สวัสดีลาก่อน เพราะต้องแยกโรคเขตร้อนอื่นๆออกเป็นสิบโรคเลยครับ
แต่ที่พบ เด่นชัด ของโรคนี้คือ การพบแผลeschar มักพบบริเวณที่หมอจะตรวจไม่เจอ --มันช่างเป็นศัตรูกับหมอจริงๆ-- จะเป็นแผลขอบแดง มีรอยเนื้อตายสีดำคลุมอยู่ ขนาดเหมือนเอาบุหรี่มาจี้เนื้อเรา ประมาณนั้นครับ ผมเอาภาพมาให้ดูด้วยครับ บริเวณที่พบบ่อยๆ ก็ใต้ราวนม รักแร้ ขาหนีบ ร่องก้น หลังหู ว่ากันว่าเจ้าไรอ่อน มันชอบที่อุ่นๆครับ
พบแค่ 50% ของผู้ป่วยเท่านั้นครับ ผู้ป่วยไทฟัสบางรายก็ไม่มี eschar และ eschar ก็อาจพบได้อีกในหลายๆโรค แอนแทรกซ์

การตรวจเลือดผมจะไม่พูดถึงครับ มันยุ่งยากเอามากๆทีเดียว เอาเป็นว่า ผลเลือดแค่ "ช่วย" เท่านั้น ไม่ได้เป็นตัวฟันธงโรค หรือ โหวตโรคนี้ออกจากสารบบการคิด แต่อย่างใด
ส่วนการรักษานั้น ก็จะใช้ยาที่ราคาถูก หาง่าย ความไวต่อเชื้อสูงมาก แต่โดนไป 1-2 เม็ด คือยาเม็ด doxycycline เจ้าเชื้อ O.tsutsugamuchi นี้ก็ด่าวดายแดดิ้น สิ้นเรี่ยวสิ้นฤทธิ์ ชีวิตดับสูญ นั่นคือรักษา 2-3 วันก็มักจะหายแบบดราม่า บางทีก็ใช้เป็นการรักษาเพื่อวินิจฉัยได้ (therapeutic diagnosis) แต่ยาก็คลื่นไส้อาเจียนมากๆ อาจกินทันทีหลังอาหารจะช่วยลดอาการได้ ถ้าทนไม่ไหวจริงก็อาจใช้ยา azithromycin แทนได้ หรือถ้าอาการรุนแรงก็ใช้ยาฉีด chloramphenical ได้เช่นกันครับ

ข้อมูลทั้งหมดมาจาก WHO, ตำราเวชศาสตร์เขตร้อน ของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล

 และ ปรมาจารย์ด้านการวิจัยและรักษาโรคนี้ ท่านทำวิจัยร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์ การแพทย์ทหาร ที่มีความร่วมมือในระดับนานาชาติ ตีพิมพ์เป็นตำรา "โรคสครับไทฟัส" ท่านอาจารย์ สุนทร ชินประสาทศักดิ์ หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น