13 กรกฎาคม 2558

โรคฉี่หนู : leptospirosis

ใกล้เข้าหน้าฝนจริงๆแล้วครับ ไม่ใช่ฝนหลอกๆอย่างที่ผ่านมา และน้ำก็จะมาตามมาด้วยการทำการเกษตรที่เกี่ยวกับน้ำ และโรคที่มากับน้ำ เป็นโรคที่ผมจะพูดในวันนี้คือ โรคฉี่หนู (leptospirosis)
   โรคนี้มีมานานแล้วครับและยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในทุกๆปีเพราะว่า อาชีพหลักของคนไทยคือเกษตรกรรมที่จะสัมผัสแหล่งโรคตลอด และ พาหะนำโรคที่เป็นสัตว์ที่ควบคุมยาก ไม่ว่าจะเป็น หนู แมว สุนัข วัว ก็ไม่รู้จะไปห้ามมันอย่างไรนะครับ อีกประการสำคัญคือภัยธรรมชาติน้ำท่วมที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆครับ แล้วมันไปเกี่ยวอะไรกับน้ำล่ะเนี่ย คืองี้ แหล่งเพาะโรคคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ฟันแทะ มันมีเชื้อสะสมที่ไตครับแล้วมันก็ฉี่เรี่ยราดไปเรื่อย ถ้าท่านไปสัมผัส ไม่ว่าผ่านบาดแผลที่ผิวหนัง กระเด็นไปถูกมือ ตา เข้าปากก็จะมีโอกาสติดโรค เวลาน้ำท่วมหรือต้องลงนา สัตว์พวกนี้ก็ฉี่ลงน้ำและท่านก็จะต้องไปสัมผัสน้ำตามอาชีพ เหตุปัจจัยสองอย่างมาเจอกันพอดี โอกาสเกิดโรคจึงสูงในช่วงฤดูเพาะปลูกครับ

   มันป้องกันยากนะ--แล้วถ้าเป็นก็จะมีอาการหลังจากสัมผัสโรค 1-2 สัปดาห์ ในทางความเป็นจริงแล้วนับเวลายากนะครับ เพราะลงน้ำทำนากันทุกวัน อาการก็ไม่เฉพาะเจาะจงครับ ไข้สูงตลอด 5-6 วัน ปวดเมื่อยตามตัว ตามข้อ ตัวเหลือง ที่เป็นอาการของกลุ่มติดเชื้อในกระแสเลือดทั่วไป โดยเฉพาะโรคเมืองร้อนคือ ฉี่หนู รากสาด มาเลเรีย ไข้เลือดออก แต่ไม่ต้องกังวลครับหมอเมดเราเก่งครับ ได้รวบรวมอาการที่ค่อนข้างเฉพาะกับโรคไว้คือ ‎อาการปวดกล้ามเนื้อน่องและเยื่อบุตาแดง‬ ถ้ามีอาการเหล่านี้ก็เฉพาะเจาะจงมากขึ้นครับ การตรวจร่างกายก็จะแยกจากโรคอื่นๆได้ยากครับ โรคนี้อาศัยการวินิจฉัยจากการเสี่ยงสัมผัสโรคเป็นสำคัญครับ การตรวจเลือดปัจจุบัน ทางคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาชุดการตรวจได้ไวและเฉพาะมากขึ้น โดยทั่วไปเจาะเลือดดูระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคฉี่หนู สองครั้ง ห่างกัน 3-5 วันก็พอจะบอกแนวโน้มว่าติดเชื้อหรือไม่ อันนี้ความเฉพาะเจาะจงจะสูงครับ ‬‬

    แต่จริงๆเราก็ไม่รอถึง 5 วันนะครับ เพราะถ้าเป็นฉี่หนูแบบรุนแรงอาจมีอาการไตวาย ไอเป็นเลือด ตับวายได้ เราควรรีบเข้ารับการรักษาครับทั้งการรักษาประคับประคอง ให้สารน้ำ ลดไข้ และการรักษาแบบจำเพาะคือการใช้ยากลุ่ม penicillin, doxycycline, 3rd generation cephalosporins ยาที่ผมกล่าวมานี้เป็นยาฆ่าเชื้อมาตรฐานที่มีในทุกๆโรงพยาบาลครับ ให้ยาเร็วก็จะมีโอการเกิดผลแทรกซ้อนน้อยกว่า เชื้อก็ยังไม่ดื้อยา การให้ยาป้องกันไว้ก่อนไม่เกิดประโยชน์นะครับ มีการศึกษายืนยันจากการให้ยาป้องกันตอนเหตุการณ์น้ำท่วมโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาเมื่อ ปี 2553 พบว่ากันไม่ได้นะครับ ถ้ามีอาการให้รับมาพบแพทย์ครับ แต่ถ้ามีเหตุน้ำท่วมอีก มาหาหมอลำบาก อันนี้ส่วนตัวนะครับ ไข้ 3-4 วันแล้ว น้ำก็ท่วม ให้กินยาแคปซูล doxycycline ขนาดเม็ดละ 100 มิลลิกรัม วันละสองครั้ง เช้าเย็น หลังอาหารทันที 7-10 วัน กันโรคที่มากับดินและน้ำได้หลายโรคครับ ยา doxycyline ก็หาง่ายครับ ร้านยามีเกือบหมดครับ (บางแห่งก็ใช้กินรักษาสิว)

   วัคซีนยังไม่พัฒนาครับ ดังนั้นการดูแลตัวเองในช่วงน้ำท่วมจึงเป็นสิ่งสำคัญครับ มี doxycycline ติดไว้ตอนน้ำหลากไม่เสียหายครับ โรคฉี่หนูนี้ถ้าเข้ารับการรักษาทันเวลาและถูกต้อง ไม่ว่าร้ายระดับใด ส่วนมากๆๆจะหายเป็นปรกติได้ครับ การรักษาตั้งแต่เริ่มต้นจึงสำคัญมากครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น