27 กรกฎาคม 2558

หัวใจเต้นผิดจังหวะ : การวินิจฉัยและรักษา

หัวใจเต้นผิดจังหวะ : การวินิจฉัยและรักษา

จังหวะหัวใจ..ผมไม่ได้หมายถึงเพลงของคุณบี้ เดอะสตาร์นะครับ แต่ผมจะพูดถึงเรื่องจังหวะหัวใจจริงๆ พอเสร็จงานแสนวุ่นวายประจำวันในไอซียูแล้ว มานั่งถอนหายใจหน้าจอ ก็เลยคิดเรื่องนี้ได้ วิ่งไปทบทวนตำราเพิ่มความมั่นใจ แล้วเอามาบอกเล่าให้ท่านฟังครับ

ปัญหา หัวใจเต้นผิดจังหวะ (cardiac arrythmia) เป็นปัญหาที่พบทุกวันและบ่อยมากๆ ทั้งเต้นเร็ว เต้นช้า เต้นไม่สม่ำเสมอ บางทีมีขี้เกียจเต้นด้วย สงสัยต้องส่งไปโรงเรียนสอนเต้นรำนะครับเนี่ย แต่ว่าจริงๆแล้วเราวินิจฉัยได้น้อยมาก เพราะอะไรหรือครับ โดยทั่วไปแล้วการเต้นที่ผิดจังหวะนั้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาแต่อึดใจ ครึ่งนาที หนึ่งนาที หรือ สองสามนาที เหมือนท่านเต้นโชว์ ถ้าท่านเต้นผิดท่านก็จะรีบกลบเกลื่อน ทำเนียน แล้วไปจังหวะต่อไปทันที ร่างกายคนเราก็เหมือนกัน พยายามทำให้เป็นปรกติให้เร็วที่สุด ดังนั้นนับเวลาที่เป็นกว่าท่านจะมาพบแพทย์ บางครั้งอาการเต้นผิดจังหวะอันนั้นก็หายไปแล้ว ตรวจก็ไม่พบ ไม่สามารถวินิจฉัยชัดๆได้ ยกเว้นท่านโชคดี เดินอยู่ใน รพ ผมเคยเจอเจ้าหน้าที่รพ ทำงานๆอยู่ใจสั่น เข็นมาตรวจทันที รักษาได้ทันทีเลย แต่ความจริงกว่าจะมาถึง ปรกติแล้วทั้งนั้น พวกที่วินิจฉัยได้ส่วนมากการเต้นผิดจังหวะนั้นจะคงอยู่นาน (sustained arrythmia) จนมาถึงมือหมอก็ยังผิดอยู่ ตรวจได้วินิจฉัยได้ แต่คนไข้กลุ่มนี้มีน้อยมากครับ อ้าวแล้วทำอย่างไร

อย่างแรกคือ คนที่จะวินิจฉัยได้ทันคือท่านและคนข้างๆท่าน เวลาที่ท่านรู้สึกใจเต้นผิดจังหวะ ถ้ายังครองสติได้ดี ให้จับชีพจรตัวเองครับ เอาเส้นเลือดแดงใหญ่ที่คอเลย ว่าอัตราเต้นเท่าไรในการนับหนึ่งนาที หรือครึ่งนาทีก็ตาม เร็วหรือช้า เราวัดจากความรู้สึกไม่ได้ครับ เพราะเร็วขึ้นหรือช้าลง เราก็รู้สึกใจสั่นเหมือนกันหมด ต้องวัดอัตราเต้นครับ และลองจับจังหวะว่ามันสม่ำเสมอเหมือนตีกลองหรือเปล่า แรงเบาเท่ากันไหม หรือเหมือนฟังมือกลองบ้าพลัง เร็วๆช้าๆ ตีสองทีแล้วหยุด พักหนึ่งจังหวะ ตีสองทีแล้วหยุดอีกแล้ว หรือตีกลองสม่ำเสมอแต่แรงไม่เท่ากัน ตุ๊มๆตู๊มๆๆ การจับชีพจร บอกความแรง ความสม่ำเสมอ อัตราเต้น นี่แหละครับ ช่วยชี้แนวทางการวินิจฉัยได้ดี แต่ถ้าท่านไม่ไหวก็รีบมารพ. แล้วบอกคนข้างๆจับให้แทน ระวังนิดนะครับ !! ถ้าคนข้างๆเป็น ชมพู่อารยา คงแปลผลยากเพราะใจเต้นเร็วหมด และถ้าคนข้างๆเป็นลุงตู่ อาจใจหายหยุดเต้นไปเลย (ตื่นเต้นจัด)
เอาข้อมูลที่ได้มาเล่าให้หมอฟังครับ ช่วยกัน จะได้ไม่ต้องหลงทางเสียเวลามาก เวลาท่านมาตรวจแล้วการเต้นผิดจังหวะมันหายแล้ว จะยากมากเลยครับ

ปัจจุบันเรามีวิธีอีกหลายอย่างที่ช่วยวินิจฉัย เริ่มจากวิธีดั้งเดิมก่อน คือการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ทั้งภาวะปกติ หรือให้เดินก่อนแล้ววัด ก็จะบอกได้ว่าผิดหรือไม่ผิด แต่ก็ไม่ได้มีความไวมากนักครับ หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้ามันทั้งวัน 24 ชั่วโมงเลย ติดอุปกรณ์ไว้ที่ตัวเอาผ้าพันไว้ ไม่ต้องอาบน้ำ ทำชีวิตปกติ ครบหนึ่งวันเอามาเปิดดูว่ามีการเต้นผิดจังหวะไหม อันนี้ก็ไวเพิ่มขึ้นครับ หมอบางท่านจับนอนไอซียูตรวจแบบมีคนเฝ้าดูตลอด แต่เท่าที่ผมเคยดูแทบไม่เคยเจอเลยครับ เครื่องมือที่ทันสมัยขึ้นเป็น event recorder เครื่องติดตัวอีกเหมือนกัน บันทึกตลอด30ถึง60 นาที ถ้าไม่ผิดปกติก็บันทึกซ้ำ ของมูลจะได้ไม่เยอะมาก พอผิดปกติก็จะบันทึก บางที่ส่งข้อมูลทาง 3G มาเลยก็มี

ส่วนอีกวิธีที่อยากกล่าวถึง เพิ่งมีในจังหวัดนครราชสีมาด้วยครับ แต่อาจมีแล้วในจังหวัดใหญ่ๆอื่นๆ คือการใส่สายสวนเข้าไปในหัวใจ แล้วใช้สิ่งกระตุ้นดูว่าเกิดการเต้นผิดจังหวะหรือไม่ ผิดแบบใด ตำแหน่งที่ผิดอยู่ที่ใด และสามารถยิงคลื่นวิทยุไปทำลายวงจรไฟฟ้าที่ผิดปรกติอันนั้นให้หายไป‬ วิธีนี้อาจมีความเสี่ยงบ้าง ดูรุนแรง แต่จริงๆปลอดภัยมากครับ และสามารถวินิจฉัยเชิงลึก ไอ้ที่ว่ามาหาหมอมันก็หายแล้ว ใช้วิธีนี้ก็จะเพิ่มความไวและความแม่นยำในการวินิจฉัยได้ ที่สำคัญรักษาได้พร้อมๆกันเลยครับ ว้าวๆๆมากๆเลยครับ ทางโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาได้ทำการรักษาแบบนี้มา 2-3 เดือนแล้ว แต่ทีมแพทย์ที่ทำนั่นเก่งมากครับ อุปกรณ์เพียบ เป็นบุญของอีสานใต้ครับ‬

ฝากขอบคุณ ‎คุณหมอโอ๊ต‬ วีรพันธ์ วิวัฒน์วรพันธ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ รักษาที่มหาราช และเปิดคลินิกอยู่ที่ ทางเข้าโรงแรมวีวัน ถนนช้างเผือก เมืองนครราชสีมาครับ ที่อนุญาตให้ประชาสัมพันธ์เพื่อสาธารณประโยชน์ต่อไป เอ่อ หมอโอ๊ตนี่เป็นรุ่นน้องผมเอง คนไข้ใจสั่นที่คลินิกเยอะมากๆๆ เพราะคนปกติไปก็ใจสั่นโดยเฉพาะสาวๆ เพราะ หมอโอ๊ตหล่อมากครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น