30 กรกฎาคม 2558

มาตรฐานการนับปริมาณการดื่มสุรา

มาตรฐานการนับปริมาณการดื่มสุรา

เข้าสู่ช่วงเข้าพรรษาของทุกปี สิ่งที่ผมได้ยินมาตลอดทุกปี หลังๆมักจะไปได้ยินทางช่องทีวีในช่วงดึกมากๆ คือ การรณรงค์การเลิกเหล้าเข้าพรรษาครับ จริงๆผมว่าควรรณรงค์กันทั้งปีเลยครับ ในฐานะแพทย์ที่เบื่อการรักษาโรคที่เกิดจากการดื่มเหล้าเอามากๆนั้น ขอบอกเลยว่าโรคนี้ไม่เคยลดลง วันนี้มีเกร็ดเกี่ยวกับเหล้ามาเล่าให้ฟัง

การที่ใครๆบอกว่าดื่มมากดื่มน้อยดื่มจัด เราไม่ใช้ความรู้สึกหรือความเมามาเป็นตัวชี้วัดได้ครับ ต้องวัดที่ปริมาณแอลกอฮอล์ที่กินเข้าไป แอลกอฮอล์ในเลือด หรือในลมหายใจครับ คราวนี้เราจะวัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างไร ใช้หน่วยดื่มมาตรฐาน (standard drink)ครับ หนึ่งดื่มมาตรฐานจะมีแอลกอฮอล์ 10 กรัม ใช้การคำนวณโดย เอาค่าเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์หรือที่ท่านๆเรียกว่า “ดีกรี”นั่นแหละครับ ดูได้จากฉลากข้างขวด และเดี๋ยวข้างล่างจะสรุปคร่าวๆของเครื่องดื่มต่างๆให้ เอามาคูณกับ ปริมาณที่ดื่มที่คิดเป็นลิตรครับ เช่นดื่มเบียร์หนึ่งกระป๋อง 330 ซีซี (มิลลิลิตร) ก็จะเทียบบัญญัติไตรยางศ์ได้เป็น 0.33 ลิตรครับ แล้วเอาค่านั้นมาคูณกับค่า 0.789 ก็จะได้ปริมาณออกมาเป็นหน่วยดื่มมาตรฐาน อีกครั้งนะครับ ค่าเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ คูณ ปริมาณที่ดื่มเป็นลิตร คูณ 0.789 ท่านก็จะทราบว่าท่านดื่มเท่าไร เช่น ท่านดื่มไวน์แดง 15% วันละสองแก้ว(แก้วไวน์มาตรฐานขนาด 100 ซีซีครับ) ท่านจะดื่มไป 15x0.2x0.789 เท่ากับ 2.37 ดื่มมาตรฐานต่อวัน หรือ ดื่มแอลกอฮอล์ 23.7 กรัมต่อวันครับ

สรุปปริมาณแอลกอฮอล์จากบทความของนิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุปริมาณดังนี้ครับ

1. เบียร์ ปริมาณ 4-7% โดยทั่วไปดื่มแค่สองกระป๋องก็ตรวจพบแอลกอฮอล์ในลมหายใจแล้วนะครับ

2. สาโท ปริมาณ 4-15%

3. กระแช่, อุ ปริมาณ 10-12%

4. ไวน์ ปริมาณ 10-15% อันนี้แล้วแต่ยี่ห้อครับ ไม่นับไวน์คูลเลอร์ครับ

5. สุราไทย ปริมาณ 28-40% เอาที่ถูกกฎหมายครับ เหล้าเถื่อนจะมากกว่านี้ และเป็นแอลกอฮอล์ร้าย

6. วิสกี้และบรั่นดี ปริมาณ 40-50% ดื่มแค่ 100 ซีซี ก็ตรวจพบในเลือดและในลมหายใจครับ

แต่การตรวจพบนั้นขึ้นกับขนาดตัวคนดื่มและการขจัดแอลกอฮอล์ของแต่ละคนด้วยครับ ทางที่ดี ดื่มไม่ขับ จะดีกว่าครับ วิธีต่างๆที่จะหลีกเลี่ยงนั้น ใช้ไม่ได้หรอกครับ ถึงท่านรอดตำรวจ ท่านก็ไม่รอดจากโรคตับอยู่ดี และแอลกอฮอล์ยังมีโทษต่อสมอง กระเพาะ กล้ามเนื้อหัวใจ โดยตรงเลยนะครับ
ท่านก็จะสงสัยว่าผมสอนให้คำนวณทำไม ก็เพราะว่าโรคตับอักเสบจากการดื่มเหล้านั้น ไม่ว่าจะเป็นไขมันพอกตับ หรือตับแข็ง มันขึ้นกับปริมาณแอลกอฮอล์ครับ ในผู้ชายนั้นท่านจะเสี่ยงเป็นโรคตับจากเหล้าถ้าท่านดื่มมากกว่า 6-8 ดื่มมาตรฐานต่อวันเป็นเวลา 10 ปี ส่วนสุภาพสตรีนั้นจะรุนแรงกว่าผู้ชาย ท่านที่เป็นสุภาพสตรีจะเสี่ยงเป็นโรคตับจากเหล้าเมื่อท่านดื่มมากกว่า 2-3 ดื่มมาตรฐานเป็นเวลา 10 ปีครับ ส่วนท่านที่กระเพาะเหล็กหล่อ คอทองแดงนั้น ถ้าดื่มมากกว่า 16 ดื่มมาตรฐานต่อวัน ก็จะเสี่ยงเป็นโรคตับแข็งสูงกว่าปกติ 25 เท่าครับ 

ไอ้เจ้า 6 ดื่มเนี่ย มันคือดื่มเหล้าวิสกี้แค่ 200 ซีซีต่อวัน หรือแค่หนึ่งก๊งเท่านั้น ส่วน 2 ดริ๊งค์ คือเบียร์กระป๋องครึ่งเท่านั้นเองนะครับ
ขอรณรงค์อีกคนครับ เลิกเหล้าทั้งชีวิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น