22 มิถุนายน 2558

การวินิจฉัยโรคทางอายุรศาสตร์

การวินิจฉัยโรคทางอายุรศาสตร์

วันนี้วันอาทิตย์ครับ จากความตั้งใจเดิมที่อยากจะเขียนเรื่องสบายๆ ที่ไม่เกี่ยวกับวิชาการในวันอาทิตย์ กลับกลายเป็นว่าผมเองเฝ้ารอ ให้ถึงวันอาทิตย์ซะเอง เพราะอยากเล่าเรื่องสบายๆนั่นเอง เรื่องนี้คิดได้มาหลายวันแล้ว คือ วิธีการคิดเพื่อวินิจฉัยโรคของอายุรแพทย์ ครับ

อายุรแพทย์ แหมพิมพ์ยากครับ ขอเรียก หมอเมด แทนนะครับ หมอเมดเราใช้วิธีดั้งเดิมของวิชาแพทย์เป็นหลักในการวินิจฉัยผู้ป่วย คือการซักถามประวัติการเจ็บป่วยและการตรวจร่างกายผู้ป่วยครับ ถามทั้งประวัติการเจ็บป่วยในครั้งนี้ การเจ็บป่วยในอดีต การแพ้ยา โรคประจำตัวที่เป็น ยาที่ใช้ อาชีพที่ทำ ทั้งหมดนี้เอามาผสมกันเป็นการวินิจฉัยเบื้องต้น เมื่อเสร็จแล้วก็ใช้การตรวจร่างกายอย่างเป็นระบบ เพื่อยืนยันสิ่งที่คิดจากการถามประวัติ และหาข้อมูลเพิ่มเติม เมื่อครบสองอย่างนี้ เราวินิจฉัยโรคได้เกือบ 85 % แล้ว 

หลังจากนั้นหมดเมดก็ คิดว่าควรจะตรวจอะไรเพื่อยืนยัน หรือ หาข้อมูลเพื่อวินิจฉัย และวางแผนการรักษาให้ครบถ้วน เรียกว่า การสืบค้นทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ หมอเมดทั้งหลาย จึงไม่ได้ส่งตรวจมากมายนัก อันนี้บางทีจะขัดกับความรู้สีกของหลายๆท่าน บางทีผู้ป่วยบอกว่า หมอไม่ได้ทำอะไรให้เลย ไม่ได้เจาะเลือด หรือ เอกซเรย์ เอาแต่ถามๆๆ และ จับๆๆ ดูๆๆ ซึ่งจริงๆแล้วคือสุดยอดแห่งการตรวจรักษาเลยครับ

หลังจากนี้ ผมอาจจะแทรกเรื่อง การซักประวัติและการตรวจร่างกายในโพสต์ต่อๆไป เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับวิชาอายุรศาสตร์ครับ วันนี้ฝากภาพ คุณหมอ ทินสเลย์ แฮริสัน ผู้ก่อตั้งตำรา Harrison's Principle of Internal Medicine ตำราที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอายุรแพทย์ทุกคน ผมได้อ่านประวัติของท่านโดยละเอียด น้ำตาไหลเลยครับ เป็นครูจริงๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น