12 มิถุนายน 2558

การประเมินไขมันไนเลือดสูง

มานั่งคิดๆ เราจะเล่าเรื่องอะไรดี ก็คิดว่าเอาประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยนี่แหละ คำถามของคนไข้ ก็คือ "ปัญหา" ของจริง

วันนี้ตรวจคนไข้หนุ่มๆ 40 ปี และได้ซักประวัติผู้ป่วยตามประสาอายุรแพทย์ที่ดี (อวยตัวเองก็ได้) ว่าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวใดหรือไม่ คำตอบที่ได้คือ ผู้ป่วยได้รับยาลดไขมันในเลือด เพื่อรักษาโรคไขมันในเลือดสูง ผมก็ถามต่อไปว่ามีอาการของโรคที่ระบบอวัยวะใด      ( อธิบายนิด ไขมันในเลือดสูง ไม่ได้เป็นโรคซะทีเดียว ตัวมันทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ อัมพาต ) ผู้ป่วยตอบกลับมาว่า " ไม่มีอาการ หรือ โรคใดๆ พบว่าสูงจากการตรวจเลือดประจำปี"

ผมคิดว่าท่านคงเคยเจาะเลือดตรวจไขมัน หรือ มีญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง แฟน กิ๊ก หัวหน้างาน แม่บ้าน ที่เจอสถานการณ์แบบนี้ และบางครั้ง ท่านหรือญาติๆ อาจเคยคิดว่าอาการต่างๆของท่าน เช่น วิงเวียน นอนไม่หลับ ไม่กระฉับกระเฉง มันคงเป็นจากไอ้ไขมันนี่ล่ะน้า อย่ากระนั้นเลย กินยาลดไขมันท่าจะดีเป็นแน่แท้

อ๊ะ อ๊ะ อย่าคล้อยตามใจและความรู้สึกที่เชื่อกันมาอย่างเดียว ท่านแน่ใจหรือว่าไขมันของท่านที่สูง มันเป็นโรค หรือสาเหตุของโรคอย่างแท้จริง ท่านเป็นโรคอื่นหรือเปล่า 

อันว่าไขมันในเลือดสูงนั้น มีบางกรณีเท่านั้นที่เป็นโรคครับ ส่วนมากก็จะเป็นแต่เกิด แต่ที่เราไปตรวจแล้วสูงโดยทั่วไปแล้ว มันคือสูงกว่าค่าปกติ เท่านั้น นะครับ ยังไม่ได้บอกว่าเป็นโรค แต่อย่างใด เพราะ ไขมันในเลือดสูงเป็นแค่ หนึ่งในหลายๆปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดตีบตัน ใช่แล้ว มันยังมีอีกหลายๆปัจจัยที่ต้องมาคิดรวมกัน วิเคราะห์ สังเคราะห์ เรียกว่าเอามาปั่นรวมกัน เคี่ยวอย่างดี จนออกมาเป็นค่าความเสี่ยง ที่จะบอกว่าเสี่ยงมากหรือน้อย และควรกินยาหรือไม่ ...นอกเรื่องนิด ผมใช้คำว่า กิน ไม่ใช้ ทาน เพราะทาน มันแปลว่า ให้ทาน ทำทาน ไม่ได้ไม่สุภาพนะจ๊ะ..

ปัจจัยต่างๆนั้น เช่น อายุ เบาหวาน บุหรี่ เพศ ความดันโลหิต รอบเอว ที่จะเอามาคำนวณออกมาเป็นปัจจัยเสียง
พูดมาตั้งยาว ผมเชื่อว่าท่านคงไม่เห็นภาพ ไม่เข้าหลักการของเพจเรา เพื่อให้เห็นภาพ

 ผมขอเชิญทุกท่าน download แอปฟรี (ยังครับ ยังไม่ต้องทำตาลุกวาว ..คำว่าฟรี นี่ ใช้ได้ทุกที..) THAI CV RISK CALCULATOR ทั้งระบบ android และ iOS ที่จัดทำโดยสมาคมวิชาชีพหลายท่านมาทำร่วมกัน แต่ละคนก็ระดับเทพทั้งนั้น ที่เป็นการคำนวณที่ทำจากฐานข้อมูลคนไทย (พนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ติดตามเป็นสิบปี ร่วมกัน คณะแพทย์รามา) ข้อมูลค่อนข้างตรงกับคนไทยมากกว่าของฝรั่งคือ ASCVD RISK ESTIMATOR

ท่านลองโหลดมากดเล่นๆดู ท่านจะเห็นว่ามีหลายปัจจัยที่จะมาบอกอัตราเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดของเรา ลองกดเปลี่ยนค่าไปๆมาๆ ดูนะครับ ว่าแต่ละปัจจัยมันส่งผลอะไร ผมลองกดคร่าวๆนะ พบว่าลองเปลี่ยนค่าหลายค่า ไอ้อันที่มีผลมากสุดคือ...แถ่มแท้ม... อายุครับ เปลี่ยนตัวเลขไขมันสูงๆ หรือ ต่ำ โอกาสเกิดโรคเปลี่ยนไม่มาก
เฮ้ย พอเปลี่ยนอายุเท่านั้นแหละ โอกาสเกิดโรคพุ่งสูงติดดอยเลย ติดดอยจริงๆนะ ขึ้นสูง ไม่ลดลง และ อันตรายขึ้นเรื่อยๆ อันนี้เป็นภาษานักเล่นหุ้น แต่ผมแนะนำอย่าไปถามเขานะครับ มันเป็นความทรงจำที่ไม่ดีของพวกเขา

เราพิจารณาให้การรักษาตาม "โอกาสการเกิดโรค" นะครับ ไม่ได้ตัดสินใจรักษาจาก "ค่าตัวเลขระดับไขมัน" กลับมาที่คนไข้ผม ผมคำนวณความเสี่ยงให้เขา ซึ่งมันต่ำมากๆ และอธิบายเรื่องความจำเป็นของการได้รับยา เขาเลือกหยุดยาครับ แล้วติดตามนัดต่อเนื่อง ปฏิบัติตัวถูกต้องเอาดีกว่า

เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการรักษาที่ไม่จำเป็น และโอกาสเกิดโทษจากยา บางครั้งเราก็ไม่ต้องทำตาม กระแส และ ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเดิมๆนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น